วิธีการนับอายุความในคดีต่างๆ: คู่มือการนับอายุความในคดีอาญา คดีแพ่ง และการร้องทุกข์
เมื่อเวลามีความผิดหรือเกิดคดีความขึ้น หลายคนคงจะเห็นว่าจะมีอายุความเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอายุความตั้งแต่ทราบเรื่อง อายุความตั้งแต่เริ่มฟ้องร้องกัน วันนี้ Legardy จะพาทุกท่านไปรู้จักการนับอายุความในแต่ละคดีกันครับ

อายุความคืออะไร?
คือ ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ใช้สิทธิในการเรียกร้อง สิทธิในการฟ้อง สิทธิร้องทุกข์ หากปล่อยให้เลยกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไปแล้ว ก็จะไม่สามารถใช้สิทธิต่างๆได้อีก เช่น สิทธิเรียกร้องขาดอายุความ คดีขาดอายุความ หนี้ขาดอายุความ เป็นต้น
อายุความมีไปทำไม ? จุดประสงค์เพื่ออะไร ?
1.เป็นนิตินโยบายของรัฐเพื่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง
ในการอ้างสิทธิต่างๆของบุคคลเพื่อเป็นการห้ามปรามมิให้มีการนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นมานานแล้วมาเรียกร้องต่อกัน เพราะว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นมานานแล้วนั้นอาจจะยุ่งยากในการหาพยานหลักฐานเพื่อมาพิสูจน์ พยานหลักฐานต่างๆนั้นอาจะสูญหาย บกพร่องหรือคลาดเคลื่อนไปตามกาลเวลาได้ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานพยานบุคคล หลักฐานพยานสิ่งของ ซึ่งการคลาดเคลื่อนนั้นสามารถส่งผลให้การวินิจฉัยข้อพิพาทไม่เป็นธรรมได้
2.ใช้สำหรับกระตุ้นเจ้าหนี้ให้ใช้สิทธิของตนเองมากขึ้น ในกรณีที่มีหนี้เกิดขึ้น
เจ้าหนี้มีหน้าที่ในการใช้สิทธิเรียกร้องหนี้จากลูกหนี้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ หากเจ้าหนี้ไม่ใช้สิทธิในการเรียกร้องหนี้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ เจ้าหนี้นั้นจะเสียสิทธิในการเรียกร้องหนี้จากลูกหนี้ เมื่อเจ้าหนี้สูญเสียสิทธิในการเรียกร้องหนี้ไปแล้ว ลูกหนี้มีสิทธิที่จะ "ปฎิเสธหนี้" ได้
อายุความจึงเป็นเครื่องกระตุ้นให้เจ้าหนี้นั้นคำนึงถึงการใช้สิทธิของตนมากขึ้น เพื่อไม่ให้สูญเสียสิทธิในการเรียกร้องหนี้
ทวงหนี้แบบไม่ผิดกฎหมาย! อัพเดทล่าสุด 2567 อ่านได้ที่ลิงค์นี้ !
3. เป็นการช่วยปลดเปลื้องภาระของลูกหนี้ในอันที่จะต้องเก็บรักษาหลักฐานในการชำระหนี้
เพราะว่าลูกหนี้นั้นมีภาระในการเก็บรักษาหลักฐานต่างๆที่ใช้แสดงว่าได้ชำระหนี้แล้วจนกว่าหนี้จะหมดอายุความ โดยหลักฐานที่เก็บนั้น เช่น ใบเสร็จรับเงิน สัญญา หรือพยานบุคคลที่รู้เห็นการชำหนี้ การเก็บรักษาหลักฐานตามข้างต้นอาจสร้างความยุ่งยากให้แก่ลูกหนี้ ต้องเก็บเอกสารเหล่านั้นให้เป็นระเบียบ ไม่ให้สูญหายหรือเสื่อมสภาพ
อย่างไรก็ตามลูกหนี้ควรชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างเร็วที่สุดนะครับ
คลิกเพื่อดู : บทความทางกฎหมายทั้งหมด, คำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความ, มาตราที่เกี่ยวข้องเรื่อง "อายุความ"
การนับอายุความ
นับตั้งแต่วันที่กระทำความผิด
ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของการกระทำความผิดของแต่ละข้อหานั้นไม่เหมือนกัน สามารถแบ่งออกได้ 3แบบ
1.) ความผิดที่กระทำสำเร็จในครั้งเดียว
ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้ลงมือกระทำ โดยที่ครบองค์ประกอบของการกระทำผิด ส่วนของผลที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดผลสำเร็จทันทีหรือผลสำเร็จในภายหลังจะไม่มีการนับครับ
ยกตัวอย่างเช่น A ใช้อาวุธปืนยิงB ทำให้Bบาดเจ็บสาหัสเมื่อวันที่ 1 มีนาคม และ Bเสียชีวิตในเวลาต่อมาเมื่อวันที่15 มีนาคม ดังนั้นอายุความในการฟ้องร้องให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่Aได้ใช้อาวุธปืนยิง ก็คือวันที่ 1มีนาคม นั่นเอง
2.) ความผิดที่ยืดออกไป
เป็นการกระทำความผิดที่ผู้กระทำความผิดนั้นมีเจตนาที่จะกระทำความผิดให้สำเร็จในครั้งเดียวและกระทำความผิดฐานเดิมซ้ำๆหลายครั้ง การนับอายุความจะเริ่มนับตั้งแต่กระทำความผิดครั้งสุดท้ายสิ้นสุดลง
ยกตัวอย่างเช่น A กักขักหน่วงเหนี่ยว B เพื่อกระทำชำเราและได้กระทำดังกล่าวเป็นเวลา 1เดือนเต็มๆ จะให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่Aกระทำความผิดครั้งสุดท้าย
3.) ความผิดต่อเนื่อง
เป็นการกระทำความผิดที่ได้เริ่มต้นแล้ว และยังมีการกระทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าการกระทำนั้นจะสิ้นสุดลง เช่นการครอบครองอาวุธปืน การหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น A ได้ติดป้ายประจานB ที่หน้าบ้าน เมื่อวันที่ 1ตุลาคม และได้นำป้ายลงวันที่ 1พฤศจิกายน ตั้งแต่วันที่1 ตุลาคมจนถึงวันที่ 1พฤศจิกายนนั้นจะยังไม่เริ่มนับอายุความเพราะว่าเป็นความผิดต่อเนื่องและจะให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเพราะถือเป็นการสิ้นสุดการกระทำความผิดนั่นเอง
การนับอายุความในคดีอาญา
สามารถเริ่มนับได้จากบทความข้างต้นได้เลยครับ ส่วนใหญ่จะเริ่มนับจากวันที่กระทำความผิดนั้นสำเร็จ
การนับอายุความในคดีแพ่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติเรื่องเกี่ยวกับการนับเวลาไว้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/1 การนับระยะเวลาทั้งปวงให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้เว้นแต่จะมีกฎหมาย คำสั่งศาล ระเบียบข้อบังคับ หรือนิติกรรมกำหนดเป็นอย่างอื่น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/3 ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวันให้เริ่มต้นนับ ในขณะที่เริ่มการนั้น ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลา นั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการ งานกันตามประเพณี
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/7 ถ้ามีการขยายระยะเวลาออกไปโดยมิได้มีการกำหนดวันเริ่มต้น แห่งระยะเวลาที่ขยายออกไป ให้นับวันที่ต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่มต้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/8 ถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศ เป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวัน สุดท้ายของระยะเวลา
สรุปง่ายๆคือ ไม่ให้นับวันแรก และให้นับอายุความในวันรุ่งขึ้นแทน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2550
การนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาจึงอยู่ในบังคับของหลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ซึ่งกำหนดมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน จึงเริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น คดีนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 การนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 และจะครบกำหนด 3 เดือน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุความวันสุดท้าย คดีโจทก์ตามเช็คฉบับแรกจึงไม่ขาดอายุความ
การนับอายุความร้องทุกข์
การร้องทุกข์นั้นเป็นเงื่อนไขในการดำเนินคดีอาญา โดยเฉพาะกับคดีอาญาอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนจะสอบสวนได้ก็ต่อเมื่อเจ้าทุกข์ได้ร้องทุกข์เสียก่อน ในกรณีนี้จะพูดถึงคดีอาญาที่ยอมความได้นะครับ
- ให้ผู้เสียหายนั้นร้องทุกข์ภายใน 3เดือน โดยจะเริ่มนับอายุความร้องทุกข์ตั้งแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด
- เมื่อร้องทุกข์แล้ว ให้ฟ้องคดีภายใน 5ปี นับตั้งแต่วันที่ร้องทุกข์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1954/2530
หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าจำเลยให้สัมภาษณ์โดยมีข้อความซึ่งอ่านแล้วรู้ได้ทันทีว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ ถือได้แล้วว่าโจทก์รู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่โจทก์ได้อ่านข่าวตามหนังสือพิมพ์นั้น ไม่จำต้องรอแสวงหาหลักฐานเพื่อฟ้องคดีหรือสืบสวนจนเป็นที่แน่ใจโจทก์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดก่อนจึงจะร้องทุกข์ดำเนินคดี เมื่อโจทก์ไม่ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนคดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 เมื่อศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่าคดีขาดอายุความก็พิพากษายกฟ้องได้โดยไม่จำต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องก่อน
คดีอาญาที่ยอมความได้มีอะไรบ้าง หาคำตอบได้ที่นี่ !
อายุความในคดีอาญา
ในการดำเนินคดีอาญา เช่น การร้องทุกข์ การฟ้องร้อง การลงโทษ ล้วนแล้วแต่กรอบของเวลาที่เรียกว่า "อายุความ" ซึ่งอายุความจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับคดีนั้นว่ามีความร้ายแรงแค่ไหน
อายุความในการฟ้องคดีอาญา
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 ได้กำหนดอายุความในการฟ้องคดีอาญาไว้ ดังนี้
(1) อายุความ 20ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุก 20ปี
(2) อายุความ 15ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า7ปีแต่ยังไม่ถึง20ปี
(3) อายุความ 10ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า1ปีถึง7ปี
(4) อายุความ 5ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า1เดือนถึง1ปี
(5) อายุความ 1ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่1ดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
อธิบายเพิ่มเติม
ถ้าไม่ได้ฟ้องผู้กระทำความผิดและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลภายในกรอบเวลาข้างต้นนั้น จะทำให้คดีนั้น "ขาดอายุความในการฟ้อง" ซึ่งไม่สามารถฟ้องผู้กระทำความผิดได้อีก แต่หากได้ตัวผู้กระทำความผิดมาแล้วแต่ต่อมาผู้กระทำความผิดนั้นได้หลบหนีหรือวิกลจริต ศาลจึงสั่งงดการพิจารณาคดีไว้ก่อน จนเวลาล่วงเลยไปตามที่กฎหมายกำหนดให้ถือว่าคดีนั้นขาดอายุความเช่นเดียวกัน
ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 8616/2550 (คดีอาญาหมดอายุความ)
ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง กฎหมายบัญญัติระวางโทษไว้ในมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โจทก์มิได้ฟ้องและได้ตัวจำเลยมายังศาลภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คดีของโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) ศาลต้องยกฟ้องในความผิดฐานนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ไม่ได้ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีและใช้อาวุธปืนอาก้าซึ่งเป็นอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามฟ้อง ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง วรรคสาม และการที่จำเลยมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวไปปล้นทรัพย์ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ถือว่าเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษจำเลยเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง เพียงบทเดียว และเรียงกระทงลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และมิได้เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย
คำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความเรื่อง "อายุความ" คลิกเลย !
Q: ถูกฟ้องคดีแพ่ง แต่ต้องการสู้เรื่องหมดอายุความคะ
Q: กรณีคดีความขาดอายุความ ขอปลดบัญชีที่ถูกอายัดได้ไหม
Q: ต้องการเช็คคดีความว่าหมดอายุความตอนไหนทำยังไงคะ
อายุความบังคับโทษปรับ
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 99
การยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับหรือการกักขังแทนค่าปรับ ถ้ามิได้ทำภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด จะยึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สิน หรือกักขังไม่ได้
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



