ขออธิบายให้เข้าใจว่า “ความผิดฐานพรากผู้เยาว์”
“ความผิดฐานพรากผู้เยาว์”เป็นความผิดที่ผู้กระทำได้กระทำต่อ เสรีภาพของผู้เยาว์ ความผิดฐานพรากผู้เยาว์เป็นความผิดอาญาแผ่นดินอันเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ แม้ผู้เสียหายไม่ได้ฟ้องตัวหรือร้องทุกข์เอาผิดตัวผู้กระทำ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ตำรวจก็สามารถจับตัวผู้กระทำให้มารับโทษทางอาญาได้
ซึ่งความผิดฐานพรากผู้เยาว์ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317-319
โดยขอแบ่งแยกความผิดฐานพรากผู้เยาว์เป็นรายข้อดังนี้
1.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317
วรรคแรกบัญญัติว่า “ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไปเสียจากบิดามารดา
ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษ…” ในมาตรา 317 จึงมุ่งคุ้มครองเด็กที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี ,
2.ส่วนมาตรา 318 กับมาตรา 319
เป็นการกระทำความผิดต่อเด็กอายุเกินกว่า 15 ปีแต่ไม่เกิน 18 ปีแตกต่างกันตรงที่
มาตรา 318 เด็กไม่ได้ยินยอมหรือเต็มใจไปกับผู้กระทำความผิดด้วย แต่มาตรา 319 เด็กยินยอมไปด้วย ,
3.มาตรา 317-319 วรรค 2 บัญญัติว่า
“ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น” ,
4. ตามมาตรา 317 วรรคสาม,318 วรรคสาม และ 319 วรรคแรก
เป็นการกระทำที่ผู้พรากได้พรากโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อ "หากำไร" หรือ "อนาจาร"
คำว่า "หากำไร" คือ
คนพรากได้ประโยชน์ทางทรัพย์สินจากเด็กคือ นำเด็กไปขายตัว ,ไปเป็นขอทาน
คำว่า “อนาจาร” แปลว่า
การกระทำอันไม่สมควรทางเพศ ผู้ที่พรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารอาจทำเพราะสนองความใคร่ของตนเองหรือของผู้อื่นก็ได้
เรามาลองวิเคราะห์จากตัวอย่างกันครับ
นาง ก.ชวนนางสาว ข.อายุ 17 ปีให้ไปหลับนอนกับ นายค.สามีของนาง ก.เพื่อแลกกับเงินให้นางสาว ข.
ดังนี้แม้เป็นการพรากเด็กอายุกว่า 15 ไม่เกิน 18 ปีโดยเด็กยินยอมอันเป็นความผิดตามมาตรา 319 วรรคแรกแล้ว
นาง ก.ก็ยังผิดฐานเป็นธุระจัดหาไป พาไปเพื่อการอนาจารอันเป็นการสนองความใคร่ของนายค. (ผู้อื่น) ด้วยโดย
นางสาวข.ยินยอมก็มีความผิดตามมาตรา 282 วรรคแรกด้วย
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์มุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของผู้แทนโดยชอบธรรม เมื่อเด็กถูกพรากไปย่อมกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของผู้แทนโดยชอบธรรมซึ่งเป็นผู้ดูแลให้ได้รับความเสียหาย
ซึ่งผู้ได้รับความเสียหายในความผิดฐานนี้อันจะเป็น “ผู้เสียหาย” จึงเป็นตัวผู้ใช้อำนาจปกครอง ดูแลเด็กไม่ใช่ตัวเด็กที่ถูกพรากตัวไป
เพราะเด็กหรือผู้เยาว์ถือเป็นผู้ไร้ความสามารถตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องมีผู้ปกครองดูแลซึ่งก็คือ “ผู้แทนโดยชอบธรรม”
คำว่า “พราก” ตามมาตรา 317-319 แปลว่า
พาเอาไปเสีย ซึ่งต้องกระทบกระเทือนอำนาจปกครองของผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก ผู้ปกครองของเด็กดูจากการใช้อำนาจปกครอง”ตามความเป็นจริง” ผู้ปกครองของเด็กไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ที่ชอบด้วยกฎหมาย (ที่จดทะเบียนสมรสกัน) หรืออาจเป็นพ่อแม่บุญธรรม เด็กอาจอยู่อาศัยกับปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา ขณะที่ถูกพรากก็ได้ โดยไม่จำกัดวิธีพรากหรือระยะทางว่า เด็กถูกพาไปห่างไกลจากผู้ปกครองมากน้อยเพียงใด ขอเป็นเพียงการกระทำที่กระทบต่ออำนาจปกครองก็เป็นความผิดฐานนี้ เด็กที่ถูกพรากไม่จำเป็นต้องอยู่กับผู้ปกครองตลอดเวลา
เพราะกรณีเด็กหนีออกจากบ้านและถูกพาตัวไปนั้น ถ้าปรากฎว่า
ผู้ปกครองยังติดตามตัวเด็กถือว่ามีความหวงแหนกันอยู่ถือว่าเด็กยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้ปกครอง"อันจะถูกพรากได้"
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8052/2549)
กลับกัน......
หากพ่อแม่ผู้ปกครองทอดทิ้งเด็ก ตัดขาดเด็ก
เลิกตามหาเด็กที่หายไปและเด็กถูกพาตัวไป
คนพาไปก็ไม่ผิดฐานพรากผู้เยาว์
ผู้พรากต้องกระทำผิด"โดยปราศจากเหตุอันสมควร"
กล่าวคือ ไม่ได้รับความยินยอมหรือไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองให้พาตัวเด็กไป ผู้กระทำนอกจากต้องรู้ว่า ตนพรากเด็กไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรแล้ว
ต้องรู้อายุของเด็กที่ตนพรากว่าอายุเท่าไรด้วย เพราะอายุเด็กที่พรากเป็นข้อเท็จจริงอันสำคัญที่จะถือว่าผู้กระทำมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลในความผิดฐานนี้
ตามที่มาตรา 59 วรรค 3 แต่ถ้าหากผู้พรากเด็กไปได้พรากเด็กที่มีอายุไม่เกิน 13 ปี ห้ามอ้างความไม่รู้อายุของเด็กเป็นข้ออ้างปฏิเสธความรับผิดตามมาตรา 321/1 อายุของเด็กดูขณะที่ถูกพาตัวไป
ขอยกตัวอย่างให้ให้เข้าใจดังนี้ครับ
กรณีที่เป็นการพาตัวเด็กไปโดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นพรากผู้เยาว์
เช่น 1.กรณีพ่อไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับแม่ของเด็ก) ประสงค์จะพาตัวเด็กไปอุปการะเลี้ยงดู ไม่ถือเป็นการพาไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงไม่ผิดพรากผู้เยาว์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 398/2517)
2.ชายผู้ที่จะพาเด็กสาวไปเลี้ยงดูอยู่กินฉันสามีภริยาถือว่ามีเหตุอันสมควรที่จะพาไป แต่ต้องปรากฎว่า ชายที่พาตัวไปขณะนั้นไม่ได้จดทะเบียนสมรสหรือมีภรรยาอยู่ก่อนแล้ว
ลองอ่านความผิดฐานพรากผู้เยาว์ที่น่าสนใจ !!!
1.ความผิดฐานพรากไม่จำกัดว่าต้องเป็นการพาตัวเด็กเคลื่อนที่เสมอไป เช่น นาย ก.เป็นแขกในบ้านของนายข.ซึ่งนายข.มีลูกสาวคือ ด.ญ.ค. นาย ก.เห็นด.ญ.ค.อยู่ในห้องของตัวเองตามลำพัง นายก.จึงเดินเข้าไปในห้องนั้นล็อกประตูและทำการลวนลามล่วงเกินด.ญ.ค. แม้ไม่ได้พาตัวเด็กไปก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งนายก.ย่อมรู้ว่าการกระทำของตนย่อมกระทบกระเทือนอำนาจปกครองของ นายข.บิดาของด.ญ.ค. นายก.นอกจากต้องรับผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุไม่เกิน 15 ปีเพื่อการอนาจารตามมาตรา 317 วรรคสามแล้วยังต้องรับผิดฐานกระทำอันไม่สมควรทางเพศต่อ ด.ญ.ค.เป็นการกระทำอนาจารแก่เด็กอายุไม่เกิน 15 ปีตามมาตรา 279 วรรคสามและเป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตามาตรา 310 วรรคแรกด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 156/2565)
2.คนที่พรากตัวเด็กไปไม่จำเป็นต้องเข้าหาตัวเด็ก แต่เด็กอาจเข้าหาตัวผู้กระทำแล้วถูกพรากไปก็ได้ เช่น ด.ญ.A ไปเที่ยวหานาย B ที่บ้านของนาย B กลับถูกนาย B ลวนลามอย่างนี้นาย B ก็ผิดฐานพรากผู้เยาว์แล้ว การพาเอาไปเสียอันจะเป็นพรากได้ 3.พรากไม่ต้องระยะทางไกล แท้ระยะเพียงน้อยนิดแต่เป็นการพาเอาไปก็ผิดฐานพรากได้แล้ว เช่น นางสาว A อายุ 17 ปีขึ้นซ้อนมอไซด์ของนาย B ที่จอดอยู่หน้าบ้านของตนโดยที่ไม่ได้บอกพ่อแม่ แค่เพียงขึ้นคร่อมมอไซด์ของนาย B ตรงหน้าบ้านยังไม่พ้นเขตบ้าน นาย B ก็ผิดฐานพรากผู้เยาว์แล้ว