หมายศาลมีกี่ประเภท แต่ละประเภท เมื่อได้รับต้องทำอย่างไร?
คำว่าหมายศาลอาจเป็นคำที่คุ้นหูสำหรับใครหลายคน เพราะเมื่อเกิดคดีใด ๆ ในข่าวสารบ้านเมือง ย่อมจะต้องมีคำ ๆ นี้ปรากฎขึ้นมาอย่างแน่นอน แต่บางคนก็ยังไม่เข้าใจว่าหมายศาลคืออะไร หากได้รับจะต้อง เตรียมตัว หรือเดินเรื่องอย่างไร จนบางครั้งอาจทำให้เรื่องเล็ก ๆ บานปลายใหญ่โตได้ การทำความรู้จักกับเอกสารนี้เสียแต่เนิ่น ๆ จึงมีความสำคัญและจำเป็นมากกว่าที่หลายคนคาดเอาไว้
อ่านตัวอย่างจริงจากผู้ใช้ที่ปรึกษาเกี่ยวกับหมายศาล
หมายศาล คืออะไร
เมื่อถูกฟ้องจะมีเอกสารที่เรียกว่า “หมายศาล” ถูกส่งไปตามที่อยู่ที่ระบุเอาไว้ใน “ทะเบียนบ้าน” เมื่อได้รับเอกสาร ผู้ที่ถูกฟ้องจะต้องตรวจสอบรายละเอียดนี้ให้ถี่ถ้วน เพราะตามกฎหมาย การได้รับหมายศาลที่ส่งไปที่บ้านจะถือว่าผู้ถูกฟ้องได้รับเอกสารแล้ว จะปฏิเสธว่าไม่ได้รับไม่ได้ ซึ่งหมายศาลสามารถแบ่งตามประเภทของศาล ระหว่างศาลแพ่ง และศาลอาญา หรือ อ่านมาตรา 56 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ได้ที่
ประเภทของหมายศาล และการดำเนินการเมื่อได้รับหมาย
หมายศาลแพ่ง
- หมายเรียกคดีแพ่งสามัญ หรือหมายเรียกในคดีแพ่ง หากได้รับแสดงว่าท่านถูกฟ้อง และตกเป็นจำเลยแล้ว ดังนั้นเมื่อได้รับหมายประเภทนี้ ท่านต้องทำคำให้การเป็นหนังสือเพื่อยื่นให้กับศาลภายใน 15 วัน หรือ 30 วัน นับจากวันที่ปิดหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความทางแพ่ง มาตรา 177 ได้บัญญัติว่า “เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน” หากเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด ศาลจะถือว่าท่านขาดนัดยื่นคำให้การ และจะส่งผลให้หมดสิทธิในการต่อสู้คดี เป็นผลให้จำเลยต้องแพ้คดี หรือต้องรับผิดตามที่โจทก์ฟ้องร้อง แม้ว่าจำเลยจะมีข้อมูลในการต่อคดีให้ไม่ต้องรับผิดก็ตามอ่านตัวอย่างจริงจากผู้ใช้ที่ปรึกษาเกี่ยวกับหมายศาลคดีแพ่งสามัญ
- หมายเรียกคดีมโนสาเร่ หรือคดีที่ไม่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน เมื่อจำเลยได้รับหมายสามารถยื่นคำให้การต่อศาลในวันนัดพร้อม หรือวันนัดสืบพยานโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายตามมาตรา 193 ในการพิจารณาความแพ่งคดีมโนสาเร่ ให้ศาลกำหนดวันนัดพิจารณาโดยเร็ว และออกหมายเรียกไปยังจำเลย ในหมายให้จดแจ้งประเด็นของคดี และจำนวนทุนทรัพย์ หรือราคาที่เรียกร้อง และข้อความระบุให้จำเลยมาศาลเพื่อไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานในวันเดียวกัน ซึ่งศาลจะสั่งให้โจทก์มาศาลในวันนัดพิจารณาเดียวกัน ในวันนัดพิจารณา เมื่อโจทก์และจำเลยมากันแล้ว ศาลจะไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงกัน หรือประนีประนอมยอมความกันในข้อที่พิพาทนั้นก่อน แต่หากคู่กรณีไม่อาจตกลงกัน หรือประนีประนอมยอมความกันได้ ศาลจะสอบถามคำให้การของจำเลย จำเลยต้องยื่นคำให้การเป็นหนังสือ หรือวาจาก็ได้ กรณียื่นคำให้การเป็นหนังสือให้นำมาตรา 191 วรรค 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีให้การด้วยวาจา ศาลจะบันทึกคำให้การรวมทั้งเหตุการณ์ที่ไกล่เกลี่ยไว้ ก่อนอ่านให้จำเลยฟัง แล้วให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญอ่านตัวอย่างจริงจากผู้ใช้ที่ปรึกษาเกี่ยวกับหมายศาลคดีมโนสาเร่
- หมายเรียกเพื่อเป็นพยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ ผู้ได้รับมีหน้าที่จัดส่งเอกสารหรือวัตถุพยานให้ศาลตามรายการ และวันที่ที่ระบุไว้ในหมายศาล หากไม่ส่งพยานเอกสาร หรือพยานวัตถุตามคำสั่งในหมายศาล ท่านอาจถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 170 อันมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในหลังหมายศาลจะมีคำเตือนดังกล่าวไว้ หากท่านไม่มีเอกสาร หรือวัตถุพยานที่ระบุไว้ในหมายศาล ท่านก็ไม่ต้องจัดเอกสารหรือวัตถุพยานนั้นไปยังศาลแต่ท่านต้องทำหนังสือชี้แจงเหตุดังกล่าวไปยังศาล เพื่อให้ศาลและผู้ขอหมายเรียกพยานได้รับทราบต่อไป
- หมายศาลเรียกพยานบุคคล เป็นหมายเรียกให้ผู้รับต้องเดินทางไปศาลตามวัน และเวลาที่กำหนดเอาไว้ในเอกสาร เพื่อเบิกความให้เป็นพยานต่อศาล หากขัดขืนไม่ไปตามหมายเรียกดังกล่าว ศาลอาจออกหมายจับเพื่อเอาตัวไปกักขังได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 111(2) และอาจถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 170 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากมีเหตุขัดข้องไม่สามารถไปตามที่ศาลกำหนดวันและเวลาที่ระบุไว้ในหมายได้ ผู้รับหมายศาสลต้องทำหนังสือชี้แจ้งเหตุขัดข้องต่อศาล ซึ่งในกรณีนี้หากผู้ที่ขอหมายเรียกร้องประสงค์จะให้ท่านไปเบิกความเป็นพยานต่อศาลอีก ก็จะมีหมายศาลเรียกมาใหม่อีกครั้งอ่านตัวอย่างจริงจากผู้ใช้ที่ปรึกษาเกี่ยวกับหมายศาลเรียกพยาน
- หมายบังคับคดี เป็นหมายศาลบังคับให้ผู้รับปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล และจัดทำขึ้นเมื่อจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ตามที่ศาลตัดสินคดี จำเลยจะได้รับหมายบังคับคดีดังกล่าว เมื่อได้รับจำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาที่ศาลตัดสิน มิฉะนั้นโจทก์สามารถนำเจ้าพนักงานบังคับคดีมาทำการยึดทรัพย์สินของจำเลย เพื่อนำออกไปขายทอดตลาด และนำเงินมาชำระหนี้ได้ หรือบังคับให้ทำการใด ๆ ตามคำพิพากษาต่อไปอ่านตัวอย่างจริงจากผู้ใช้ที่ปรึกษาเกี่ยวกับหมายศาลบังคับคดี
หมายศาลอาญา
- หมายนัดเพื่อไต่สวนมูลฟ้อง กรณีที่ได้รับหมายศาลทางอาญาประเภทนี้ และผู้รับมีประสงค์จะสู้คดี หรือประนีประนอมยอมความ ผู้รับหมายศาลต้องรีบนำคดีไปปรึกษาทนายความ เพื่อให้ข้อมูล และแต่งตั้งทนายความ ทนายความจะได้นำข้อมูลไปทำการซักค้านพยานโจทก์ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องแทนผู้รับหมายศาล โดยผู้รับหมายไม่จำเป็นต้องไปศาลตามวันที่และเวลาที่ระบุไว้เองได้ แต่ผู้รับจะต้องไปศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง
- หมายเรียกจำเลย คือหมายศาลที่ออกเมื่อศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้ว และศาลมีคำสั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับรับฟ้องเอาไว้ จากนั้นศาลจะกำหนดวันนัดพร้อม เพื่อให้จำเลยไปให้การแก้ข้อกล่าวหาในคดี เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกนี้ ท่านต้องไปศาลตามวันที่หมายศาลระบุ เพื่อไปให้การแก้ข้อกล่าวหาของคดี และหากไม่ไปศาลก็จะออกหมายจับ
แม้จะตกเป็นจำเลย แต่ผู้รับหมายก็มีสิทธิและหน้าที่ตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญ และปฏิบัติตาม ควรทำความเข้าใจในหลักกระบวนการยุติธรรม เพื่อที่จะสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง หรือหากมีข้อสงสัยด้านกฎหมายใด หรือมีความกังวลในคดีความทั้งทางแพ่ง และอาญาขอแนะนำให้ปรึกษาทนายกับ Legardy เพราะเรามีทนายความมืออาชีพที่พร้อมให้บริการแบบ 24 ชั่วโมง หมดกังวลทุกปัญหาแน่นอน