เผยแพร่เมื่อ: 2024-02-17

หลักเกณฑ์การแบ่งมรดกให้ทายาทโดยธรรม

เมื่อเจ้าของทรัพย์สินหรือที่ดินได้เสียชีวิตลงแล้ว ทรัพย์สินเหล่านั้นจะต้องไปอยู่กับทายาทโดยธรรมหรือทายาทผู้มีสิทธิตามพินัยกรรม วันนี้ Legardy จะพาทุกท่านไปเจาะลึกเกี่ยวกับเรื่องทายาทโดยธรรมกัน


ๅ.jpg

ทายาทโดยธรรม หมายถึงอะไร?

โดยปกติแล้วหากเจ้าของทรัพย์สินใดๆ ที่ได้เสียชีวิตลง ทรัพย์สินเหล่านั้นจะต้องแบ่งไปตามพินัยกรรมที่ผู้เสียชีวิตได้เขียนไว้ แต่หากเป็นการเสียชีวิตโดยไม่มีพินัยกรรม ทรัพย์สินเหล่านั้นก็จะต้องตกสู่ทายาทโดยธรรมครับ


ทายาทโดยธรรมมี 2ประเภท 

ทายาทโดยธรรมประเภทญาติ ซึ่งสามารถแบ่งทายาทโดยธรรม 6 ลำดับ ดังนี้

ชั้นที่ 1.ผู้สืบสันดาน

มี3ประเภท คือบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว , บุตรบุญธรรม และ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย 

1.1)บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย มี4ประเภท

  • บุตรของบิดามารดาที่ได้จดทะเบียนสมรสกัน
  • บุตรของบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่ต่อมามีการจดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง 
  • บุตรที่บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร 
  • ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

1.2) ผู้สืบสันดาน

ที่เป็นบุตรนอกกฎหมายที่เกิดจากพ่อและแม่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่พ่อได้ทำการรับรองแล้ว โดยการรับรองต้องเป็นการรับรองโดยกระทำการเปรียบเสมือนลูกที่ชอบด้วยกฎหมายจริงๆ เช่น ให้ใช้นามสกุล หรืออุปการะเลี้ยงดู เป็นต้น

1.3) บุตรบุญธรรม

 การรับบุตรบุญธรรมนั้นผู้รับบุตรต้องมีอายุ 25ปีขึ้นไป และต้องมีช่วงอายุที่ห่างกับบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15ปี

ชั้นที่ 2.บิดามารดา 

ก็มีกรณียกเว้นอยู่ครับ หากบุตรบุญธรรมที่รับเลี้ยงนั้นเสียชีวิต พ่อแม่บุญธรรมที่เป็นผู้อุปการะจะไม่มีสิทธิได้รับมรดกของลูกบุญธรรมในกรณีทายาทโดยธรรมนะครับ เว้นแต่ ทายาทโดยธรรมนั้นได้ทำพินัยกรรมไว้ว่าจะยกทรัพย์สินให้แก่บิดามารดาบุญธรรม แต่ถ้าเป็นบิดามารดาตามสายเลือดเลย ก็ไม่ต้องใช้หลักเกณฑ์นี้ครับ

ชั้นที่ 3.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

ชั้นที่ 4.พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันหรือมารดาเดียวกัน 

อ่านดูแล้วบางคนคิดว่าเหมือนกับข้อ 3 แต่จริงๆแล้วไม่เหมือนนะครับ เพราะบางครั้งอาจจะมีพี่น้องที่ต่างมารดาหรือต่างบิดากัน เช่นพ่อมีน้องสาวกับคุณแม่ใหม่ ซึ่งลำดับทายาทโดยธรรมของน้องสาวต่างมารดานี้จะต่ำกว่าพี่น้องท้องเดียวกันที่มาจากบิดามารดาเดียวกัน

ชั้นที่ 5.ปู่ ย่า ตา ยาย

ชั้นที่ 6.ลุง ป้า น้า อา

ตามลำดับชั้นนี้ไม่ใช่การแบ่งมรดกให้ทุกชั้นเท่าๆกันนะครับแต่เป็นการที่เรียงลำดับของผู้ได้รับมรดกของทายาทโดยธรรม เว้นแต่กรณีที่มีทายาทชั้นที่1และ2สามารถรับมรดกได้นั้น"จะต้องหารมรดกเท่าๆกัน" 
เช่น นางสาวทิชชูมีทรัพย์สิน 100 บาท มีผู้สืบสันดาน 2 คน และบิดามารดายังไม่เสียชีวิต ก็จะได้มรดกคนละ 25 บาท

 


สำหรับทายาทโดยธรรมลำดับชั้นที่1 จะมีกรณีพิเศษอยู่ครับ

หากการสืบสันดานขั้นที่1 (ลูก) เสียชีวิตไปแล้ว การสืบสันดานของทายาทโดยธรรมลำดับชั้นที่1ก็จะตกไปสู่หลาน เหลน ตามลำดับจนกว่าสายการสืบสันดานนั้นจะหมด

แต่หากไม่มีชั้นที่1และ2ที่สามารถรับมรดกได้ ก็จะเรียงตามลำดับชั้นได้เลยครับ โดยไม่มีการหารกันในแต่ละชั้นเหมือนกรณีข้างต้น

"แต่งตั้งผู้จัดการมรดกต้องจ้างทนายไหม? บทความนี้มีคำตอบ" คลิกเลย !


ทายาทโดยธรรมคู่สมรส

ทางกฎหมายถือว่าคู่สมรสนั้นมีสิทธิได้รับมรดกเช่นกัน เพราะคู่สมรสก็ผ่านการร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกัน ซึ่งมรดกที่ทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรสนั้นจะได้นั้น ขึ้นอยู่กับความห่างของลำดับชั้นต่างๆ ยิ่งห่างคู่สมรสยิ่งได้เยอะ โดยสามารถแบ่งได้ 3กรณี ดังนี้

ต้องเป็นการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายนะครับหรือการจดทะเบียนสมรสนั่นเอง หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันจะทำให้แบ่งมรดกนั้นยากขึ้น แต่ก็มีความเป็นไปได้อยู่ครับ ว่าพฤติกรรมที่ทำอยู่นั้นเปรียบเสมือนการอยู่กินฉันสามีภรรยาหรือเปล่า ซึ่งต้องนำสืบหลายเรื่องทั้งเส้นทางการเงิน หรือเรื่องลูก

กรณีที่1 : หากยังมีทายาทโดยธรรมลำดับชั้นที่1(ผู้สืบสันดาน) และทายาทโดยธรรมลำดับชั้นที่2(บิดามารดา) อยู่ ฝ่ายของคู่สมรสนั้นสามารถหารมรดกแบบเท่ากันได้เลย
เช่น นายแก้วน้ำมีทรัพย์สินอยู่ 100บาท และมีผู้สืบสันดาน2คน และบิดามารดายังไม่เสียชีวิต หากนายแก้วน้ำเสียชีวิต นางน้ำเปล่าก็มีสิทธิที่จะไปหารมรดกเทียบเท่าเป็นผู้สืบสันดานได้เลย ผู้สืบสันดาน=2คน , บิดามารดา=2คน , คู่สมรส=1คน ดังนั้นทรัพย์สินของนายแก้วน้ำต้องหาร 5 ก็จะได้คนละ 20บาท

กรณีที่2 : หากไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับชั้นที่1(ผู้สืบสันดาน) และทายาทโดยธรรมลำดับชั้นที่2(บิดามารดา)ยังไม่เสียชีวิต ทรัพย์สินที่เป็นมรดก"ครึ่งหนึ่ง" นั้นจะตกเป็นของคู่สมรส และอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือก็จะไปหาให้กับทายาทโดยธรรมลำดับชั้นที่ 2
เช่น นายแก้วน้ำเสียชีวิตและมีทรัพย์สินอยู่ 100บาท แต่ไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับชั้นที่1เลย ทรัพย์สิน 50บาท จะตกเป็นของนางน้ำเปล่า และ50บาทที่เหลือจะตกเป็นของ บิดามารดาของนายแก้วน้ำ (ได้คนละ25บาท)

กรณีที่3 : หากไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับชั้นที่1-3 คู่สมรสจะได้ทรัพย์สินที่เป็นมรดก 2ใน3ส่วน ทันที และ 1ใน3ส่วนที่เหลือก็ให้ทายาทโดยธรรมแต่ละลำดับขั้นไปหารกัน

อ่านมากกว่า 120คำปรึกษาจริง พร้อมคำตอบจากทนายความเรื่อง "มรดก" คลิกเลย !

Q: การแบ่งมรดกของพ่อแม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว

Q: มรดกผู้เสียชีวิต

Q: มรดกจากพ่อสามี จะตกเป็นของภรรยาได้หรือไม่หากสามีเสียชีวิต

Q: ทายาทรับมรดก


6.png

ทายาทโดยธรรม บุตรบุญธรรม

หากเกิดการแบ่งมรดกเกิดขึ้น บุคคลที่เป็นบุตรบุญธรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ก็มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมายเช่นเดียวกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1627

ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นนะครับ

ครอบครัวที่1 มีลูกด้วยกัน2คน ประกอบไปด้วย AและB แต่ทางครอบครัวที่1ประสบปัญหาทางด้านการเงิน ครอบครัวที่2จึงรับA(จากครอบครัวที่1) มาดูแล ซึ่งทางกฎหมายนั้นให้ถือว่าการรับบุตรบุญธรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายมีลำดับชั้นเทียบเท่ากับผู้สืบสันดาน หากบิดามารดาของครอบครัวที่2 เกิดการเสียชีวิต Aก็มีสิทธิได้รับมรดกเสมือนเป็นผู้สืบสันดานของครอบครัวที่2 อีกทั้งหากครอบครัวที่1มีการแบ่งมรดกเกิดขึ้น Aซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมทางสายเลือดและเป็นผู้สืบสันดานทางสายเลือดก็มีสิทธิรับมรดกของครอบครัวที่1 เช่นเดียวกัน สรุปคือบุตรบุญธรรมนั้นมีสิทธิที่จะได้รับมรดกทั้งครอบครัวทางสายเลือดและครอบครัวที่อุปการะเลี้ยงดู


pro3.webp

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทายาทโดยธรรม

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1625
 “ถ้าผู้ตายเป็นผู้สมรสแล้ว การคิดส่วนแบ่งและการปันทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นให้เป็นไปดังนี้
              (1) ในเรื่องส่วนแบ่งในทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการหย่าโดยยินยอมทั้งสองฝ่าย อันมีบทบัญญัติเพิ่มเติมให้บริบูรณ์ในมาตรา 1637 และ 1638 และโดยเฉพาะต้องอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 1513 ถึง 1517 แห่งประมวลกฎหมายนี้ แต่การคิดส่วนแบ่งนั้นมีผลตั้งแต่วันที่การสมรสได้สิ้นไปด้วยเหตุความตายนั้น
              (2) ในเรื่องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งบรรพนี้ นอกจากมาตรา 1637 และ 1638“    มาตรา 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1626

“ เมื่อได้ปฏิบัติตามมาตรา 1625 (1) แล้ว ให้คิดส่วนแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทโดยธรรม ดังต่อไปนี้
              (1) ทรัพย์มรดกนั้นให้แบ่งแก่ทายาทตามลำดับและชั้นต่าง ๆ ดังที่บัญญัติไว้ในหมวด 2 แห่งลักษณะนี้
              (2) ส่วนแบ่งอันจะได้แก่ทายาทในลำดับและชั้นต่าง ๆ นั้น ให้แบ่งในระหว่างบรรดาทายาทในลำดับและชั้นนั้น ๆ ดังที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 แห่งลักษณะนี้ “

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627

“ บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้นให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้ “

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1628

“ สามีภริยาที่ร้างกัน หรือแยกกันอยู่โดยยังมิได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมาย มิได้สิ้นไปซึ่งสิทธิโดยธรรมในการสืบมรดกซึ่งกันและกัน “

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629

“ ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
              (1) ผู้สืบสันดาน
              (2) บิดามารดา
              (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
              (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
              (5) ปู่ ย่า ตา ยาย
              (6) ลุง ป้า น้า อา
              คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635 “

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1630

“ ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสาย แล้วแต่กรณี ในลำดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย
              แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กัน แล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร “

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1631

หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ในระหว่างผู้สืบสันดานต่างชั้นกันนั้น บุตรของเจ้ามรดกอันอยู่ในชั้นสนิทที่สุดเท่านั้นมีสิทธิรับมรดก ผู้สืบสันดานที่อยู่ในชั้นถัดลงไปจะรับมรดกได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิในการรับมรดกแทนที่


ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้องกับทายาทโดยธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2383/2529

โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายซึ่งไม่มีภริยาและบุตรส่วนบิดามารดาก็ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้วโจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดจึงต่างเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกเท่ากัน นอกจากทรัพย์มรดกพิพาทคดีนี้แล้วผู้ตายยังมีทองนากเงินเพชรและพลอยแต่โจทก์กับจำเลยทั้งเจ็ดได้ตกลงแบ่งทรัพย์ดังกล่าวกันไปแล้วโดยโจทก์ได้รับคิดเป็นเงิน 222,000 บาท และโจทก์ขอสละสิทธิในทรัพย์มรดกพิพาทที่ยังไม่ได้แบ่งปันกันส่วนจำเลยทั้งเจ็ดได้รับคิดเป็นเงินคนละ 25,500 บาท เท่ากันเมื่อปรากฏว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อโจทก์เป็นสำคัญย่อมไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกพิพาทคดีนี้อีกและไม่ถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ได้รับแบ่งปันทรัพย์มรดกที่เป็นทองนากเงินเพชรและพลอยไปแล้วคิดเป็นเงิน 222,000 บาท ส่วนจำเลยทั้งเจ็ดได้รับเป็นเงินคนละ 25,500 บาท ทรัพย์มรดกที่แบ่งปันกันไปแล้วจึงมีราคารวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 400,500 บาท ถ้าแบ่งตามสิทธิคนละ1ใน8ส่วนเท่าๆกันจะได้รับเป็นเงินคนละ 50,062 บาท 50 สตางค์ โจทก์จึงได้รับแบ่งปันมากกว่าส่วนที่โจทก์จะได้ไปเป็นจำนวนเงิน 171,937 บาท 50 สตางค์จึงต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวหักออกจากส่วนแบ่งทรัพย์มรดกพิพาทของโจทก์


สรุป

การแบ่งทรัพย์สินมรดกนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เมื่อมีตัวเงินหรือทรัพย์สินมาเกี่ยวข้องความเป็นญาติพี่น้องก็จะลดลง ทางLegardy อยากให้ทุกท่านที่ประสบปัญหากับการแบ่งมรดกอยู่นั้นได้รับทางออกที่ดี และหากมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องมรดก อย่าลืมคิดถึงLegardy มีทนายที่รวบรวมมากว่า 500ท่านพร้อมช่วยเหลือคุณอยู่เสมอ :)

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
ติดต่อเราทาง LINE