โมฆะ โมฆียะ ต่างกันยังไง?
ในส่วนโมฆะถือเป็นนิติกรรมที่สูญเปล่าไม่มีผลใดๆเกิดในทางกฎหมาย คู่สัญญาไม่สามารถให้สัตยาบันใดๆ (ให้สัตยาบัน แปลว่า รับรองหรือตกลง) ให้นิติกรรมที่เป็นโมฆะมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ ส่วนโมฆียะนั้นสามารถให้สัตยาบันให้นิติกรรมมีผลสมบูรณ์ได้ โดยนิติกรรมที่เป็นโมฆียะจะไม่มีผลสูญเปล่าจนบังคับใช้การไม่ได้ บทความนี้ Legardy จะอธิบายให้ฟังครับ
โมฆะ แปลว่าอะไร?
โมฆะ หมายถึง นิติกรรมที่มีผลสูญเปล่าเสมือนหนึ่งว่าคู่สัญญาไม่เคยได้ทำนิติกรรมใดๆต่อกันเลย

นิติกรรมที่เป็นโมฆะ หมายถึงอะไร?
นิติกรรมที่เป็นโมฆะ หมายถึง นิติกรรมที่ไม่สามารถทำให้เกิดผลตามกฎหมายได้ คู่สัญญาไม่สามารถให้สัตยาบันได้ เช่น สัญญาซื้อขายยาเสพติด
ทำไมสัญญา ต้องทำเป็นหนังสือ สำคัญอย่างไร ร่วมหาคำตอบได้ที่นี่ !
ตัวอย่างของนิติกรรมที่เป็นโมฆะ
- นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยผลของกฎหมาย
- นิติกรรมที่วัตถุประสงค์เป็นพ้นวิสัยก่อนหรือขณะทำนิติกรรม
- นิติกรรมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
- นิติกรรมใดๆที่ไม่ได้ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด
- นิติกรรมที่ผู้ทำนิติกรรมมีเจตนาซ่อนเร้น
- การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างคู่กรณีไม่ให้ตนผูกพันตามที่แสดงออกมา
- การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งอันเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม
อ่านคำปรึกษาจริงเรื่อง "โมฆะ โมฆียะ" พร้อมคำตอบจากทนายความผู้เชี่ยวชาญ
Q: เขียนข้อมูลส่วนตัวในสัญญาผิด สัญญาจะเป็นโมฆะไหม
Q: ขอความรู้เรื่องหนังสือสัญญาครับ ว่าเป็นโมฆะได้หรือไม่
ตัวอย่างจริง/ฏีกาน่าสนใจเกี่ยวกับโมฆะกรรม
1.ฎีกาที่ 1461/2562: โจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างเวลาห้ามโอน แต่จำเลยทั้งสองยังมิได้ส่งมอบที่ดินแก่โจทก์โดยตกลงโอนกรรมสิทธิ์กันหลังพ้นกำหนดเวลาห้ามโอน ถือไม่ได้ว่าจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายหรือมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้ง สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150
2. ฎีกาที่ 2808/2554: โจทก์จะขายที่ดินให้จำเลย จำเลยเอาเช็คปลอมชำระเงินแปลว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะชำระราคาที่ดินให้โจทก์ โจทก์สำคัญผิดว่าจำเลยมีเจตนาจะชำระราคาที่ดินอันเป็นสิ่งสาระสำคัญของนิติกรรม ดังนี้การแสดงเจตนาของโจทก์ในการขายที่ดินจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 156
โมฆียะ คืออะไร?
คำว่า โมฆียะ ตามพจนานุกรมแปลว่า ที่อาจเป็นโมฆะได้เมื่อมีการบอกล้าง หรือมีผลสมบูรณ์เมื่อมีการให้สัตยาบัน
การบอกล้างโมฆียะกรรม
การบอกล้างจะทำได้ต่อเมื่อแสดงเจตนาต่อคู่กรณีอีกฝ่ายว่าไม่ประสงค์จะผูกพันตามนิติกรรมอีกต่อไป เช่น การคืนทรัพย์ หรือใช้สิทธิฟ้องร้อง เช่น หลินซื้อที่ดินของโชคเมื่อจ่ายเงินพร้อมจดทะเบียนรับโอนที่ดินเรียบร้อย หลินเพิ่งรู้ว่าที่ของโชคตกเป็นของกรมสรรพากรก่อนแล้ว หลินขอให้โชคคืนเงินค่าที่ดินและจดทะเบียนเพิกถอนก็เป็นการบอกล้างนิติกรรมการซื้อขายที่ดินแล้ว
โมฆียะกรรม คืออะไร?
โมฆียะกรรมคือนิติกรรมที่ยังไม่มีผลสมบูรณ์ แต่สามารถเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ได้ถ้าคู่สัญญาที่ทำได้ให้สัตยาบัน แต่ในทางตรงกันข้ามก็มีผลสูญเปล่าเป็นโมฆะได้ถ้าคู่สัญญาใช้สิทธิบอกล้าง
สาเหตุที่ทำให้เกิดโมฆียะกรรม
- ผู้ทำนิติกรรมบกพร่องทางความสามารถ
- การแสดงเจตนาสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินหรือบุคคล
- การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล
- การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่
ผู้ทำนิติกรรมบกพร่องทางความสามารถ
1.1. ผู้เยาว์คือ
บุคคลที่มีอายุไม่เกิน 20 ปีต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรมได้แค่บางอย่าง เช่น ซื้อของเล็กๆน้อยๆ ที่พอควรแก่ฐานะหรือเพื่อดำรงชีพของตน เช่น ผู้เยาว์สามารถซื้อเครื่องใช้ เช่น ปากกา หนังสือ ดินสอ จ่ายเงินค่านั่งรถตู้หรือซื้ออาหารและยาได้ ส่วนนิติกรรมที่ผู้เยาว์ทำที่เป็นโมฆียะต้องเกินความสามารถของผู้เยาว์ เช่น ทำสัญญารับเหมาก่อสร้าง , การเป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น
1.2. คนวิกลจริต
เช่น คนที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมประกอบหรือมีสติไม่ดี การทำนิติกรรมของคนวิกลจริตจะเป็นโมฆียะได้นั้นต้องกระทำในขณะที่สติวิกลและคู่สัญญาอีกฝ่ายต้องรู้ด้วยว่า คู่สัญญาของตนเป็นคนวิกลจริต หากคู่สัญญาไม่ได้รับรู้เรื่องสติวิกลเลยถือว่านิติกรรมที่ทำมีผลสมบูรณ์ การเป็นคนวิกลจริตนั้นศาลต้องมีคำสั่งว่าเป็นคนวิกลจริตด้วย
1.3. คนไร้ความสามารถ
คือ คนที่ไม่มีความรับรู้ใดๆในการทำนิติกรรมเลย เช่น คนบ้า คนฟั่นเฟือน คนปัญญาอ่อน ที่ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้อนุบาล หากจะมีการทำนิติกรรมใดๆผู้อนุบาลต้องกระทำเอง จะให้ความยินยอมแก่คนไร้ความสามารถไปทำไม่ได้เลย
1.4. คนเสมือนไร้ความสามารถ
คือ คนปกติสามารถทำนิติกรรมได้เป็นบางกรณี แต่มีความประพฤติไม่ดีจึงถูกศาลสั่งให้คนเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เช่น คนเสเพล เกเร หรือชอบเมาสุรา ทะเลาะวิวาทเป็นอาจิน การกระทำนิติกรรมใดๆคนเสมือนไร้ความสามารถอาจให้ผู้พิทักษ์ที่เป็นผู้ดูแลของตนไปทำการแทนตนหรือขอความยินยอมจากผู้พิทักษ์ได้ เช่น การฟ้องร้องดำเนินคดี เป็นต้น
การแสดงเจตนาสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินหรือบุคคล (มาตรา 157)
หมายถึง ถูกคน ถูกตัว ถูกอันแล้วแต่เข้าใจผิดในคุณสมบัติของสิ่งนั้นๆ
ตัวอย่างการแสดงเจตนาสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินหรือบุคคล
เจไปจ้างนุชเป็นแม่ครัวเพราะคิดว่านุชทำอาหารเป็น แต่ความจริงแล้วนุชทำอาหารไม่เป็นเลย หรือกรณี บิ๊กซื้อที่ดินของจิ๋วเพื่อใช้ปลูกสร้างบ้าน แต่ความจริงที่ดินแปลงนั้นเป็นที่ที่ถูกกรมที่ดินยึดไว้ใช้ปลูกบ้านไม่ได้ เป็นต้น
การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล (มาตรา 159)
ต้องเป็นกลฉ้อฉลที่ถึงขนาดถ้าไม่มีกลฉ้อฉลถึงขนาดคู่สัญญาคงจะไม่ยอมทำนิติกรรมเป็นแน่หรือพูดง่ายๆว่า ถูกหลอกให้ทำ
ตัวอย่างการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล
โชคหลอกขายพระเครื่องให้หลิน 10,000 บาทโดยหลอกหลินว่าห้อยพระไว้จะบรรเทาความทุกข์ยากป้องกันอันตรายได้ ซึ่งแต่เดิมหลินไม่สนใจ แต่เพราะโชคหลอกหลินหลงเชื่อจึงทำสัญญาซื้อพระเครื่องไปเพราะถูกโชคฉ้อฉลถึงขนาด
การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่ (มาตรา 164)
เป็นข่มขู่ที่ร้ายแรงถึงขนาดให้ผู้ทำนิติกรรมมีมูลต้องกลัวและภัยอันใกล้จะถึง เช่น คมเอาปืนจ่อที่หัวของสันขู่ให้ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้ตน ไม่เช่นงั้นจะยิงเสียให้ตาย สันจึงทำพินัยกรรมยกที่ดินให้ พินัยกรรมย่อมเป็นโมฆียะ แต่ถ้าไม่ใช่ภัยอันใกล้จะถึงเช่น คมขู่ให้สันซื้อพระเครื่องจากตน ไม่งั้นอีก 3 เดือนข้างหน้าสันจะต้องตาย สัญญาซื้อพระเครื่องก็มีผลสมบูรณ์ ส่วนเรื่องการใช้สิทธิตามปกตินิยมหรือเพราะความเคารพยำเกรงไม่ถือเป็นข่มขู่ เช่น เอบอกบีให้โอนเงินที่บีโกงเอไปคืนมา ไม่เช่นนั้นจะแจ้งตำรวจ
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



