ยักยอกทรัพย์ คืออะไร
คือ การที่บุคคลใดก็ตามบุคคลหนึ่งครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นนั้นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และแสดงตนหรือบุคคลที่สามว่าเป็นเจ้าของทรัพย์นั้น โดยผู้กระทำมีเจตนาทุจริตหลังจากครอบครองทรัพย์สินนั้น เข้าใจง่ายๆคือการแอบเอาของคนอื่นแล้วแสดงตนว่าสิ่งนั้นเป็นของตน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352
โดยผู้ครอบครองทรัพย์นั้น คือผู้ที่มีอำนาจควบคุมจัดการทรัพย์นั้น ประกอบไปด้วย คนรับจำนำ, ผู้เช่าซื้อ, ผู้เช่าทรัพย์, การรับมอบสิ่งนั้นเพื่อให้ไปขาย, ผู้รับฝากทรัพย์ เป็นต้น
หากเกิดคดีความยักยอกทรัพย์แล้ว หนทางแก้ไขเมื่อต้องคดียักยอกทรัพย์คือการไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหายครับ สามารถตามไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหายได้
คำถามที่พบเจอบ่อยเกี่ยวกับเรื่องยักยอกทรัพย์
Q : ยักยอกทรัพย์ ติดคุกกี่ปี
A : ผู้กระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3ปี
Q : คดียักยอกทรัพย์ อายุความกี่ปี
A : ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3เดือนนับตั้งแต่รู้ว่ามีการกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด แต่ถ้ามีการฟ้องร้องใดๆแล้วไม่มีความคืบหน้า 10ปี คดีก็จะหมดอายุความ
Q : ยักยอกทรัพย์ ยอมความได้ไหม
A : ยอมความได้ เนื่องจากเป็นความผิดอาญาส่วนตัว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 356
Q : โทษของการยักยอกทรัพย์
A : โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
Q : ยักยอกทรัพย์ ไกล่เกลี่ย
A : สามารถไกล่เกลี่ยได้ครับ โดยมีขั้นตอนตามด้านล่างเลยครับ
ขั้นตอนการไกล่เกลี่ยคดียักยอกทรัพย์
1.)เมื่อได้รับหมายศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง ควรแต่งตั้งทนายความเพื่อไปดูแลคดียักยอกทรัพย์ในนัดแรกเพื่อทำการค้านหรือหาแนวทางเจรจา
เมื่อได้รับ "หมายศาล" ควรทำอย่างไร ดูคำตอบจากทนายความได้ที่นี่ คลิกเลย !
2.)เมื่อเจรจาไกล่เกลี่ยคดียักยอกทรัพย์ได้แล้ว จำเลยสามารถผ่อนจ่ายเป็นระยะเวลาเท่าใดก็ได้ตามที่ตกลงกับโจทก์
3.)หากเจรจาไกล่เกลี่ยยักยอกทรัพย์ไม่ได้ ทนายจะทำคำให้การแล้วยื่นคำให้การนั้นต่อศาล ซึ่งเป็นการปฎิเสธเพื่อทำการสู้คดี ทำให้มีระยะเวลาในการไกล่เกลี่ยยักยอกทรัพย์นานขึ้น หรือมีการนัดสืบพยานอีกครั้ง เพื่อหาความจริง
4.)เมื่อชำระค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้จนครบ ผู้เสียหายหรือโจทก์ก็จะถอนคำร้องทุกข์หรือถอนฟ้องคดียักยอกทรัพย์ก็จะจบเรื่องครับ
แต่ถ้าเจรจาไกล่เกลี่ยยักยอกทรัพย์แล้วปรากฎว่าฝ่ายจำเลยผิดนัดชำระหนี้ ฝั่งของโจทก์หรือผู้เสียหายนั้นมีสิทธิที่จะแถลงต่อศาลเพื่อให้พิจารณาพิพากษาคดียักยอกทรัพย์ได้ หากวันที่ศาลนัดทางศาลเห็นว่าฝั่งจำเลยนั้นยังพยายามที่จะชำระหนี้ให้อยู่แม้จะมีไม่ตรงตามที่กำหนดบ้าง ฝ่ายจำเลยก็สามารถชำระหนี้ต่อได้ ตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ แต่หากศาลเห็นว่าฝ่ายจำเลยไม่ได้มีความพยายามที่จะใช้หนี้ตามที่ไกล่เกลี่ยเรื่องยักยอกทรัพย์ ศาลอาจพิพากษาลงโทษจำคุกและปรับและให้ใช้คืนทรัพย์ได้เช่นกัน
อ่านคำปรึกษาจริงจากผู้ใช้และคำตอบจากทนายความเรื่อง "ยักยอกทรัพย์" คลิกเลย !
Q: บริษัทกำลังจะเเจ้งความคดียักยอกทรัพย์
Q: คดียักยอกทรัพย์ ต้องทำอย่างไร
ประเภทของการยักยอกทรัพย์
1.)ยักยอกทรัพย์ของผู้อื่น
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา352 "ผู้ใดครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ"
ตัวอย่างเช่น นายAได้ทำสัญญาให้นายBเช่ารถเป็นเวลา 10วันและใช้ภายในจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น แต่เมื่อเลยกำหนดไปแล้วนายBได้นำรถไปที่ชายแดนจังหวัดสตูล ซึ่งนายBมีเจตนาที่จะยักยอกทรัพย์
ตัวอย่างเช่น นายC ได้ขอช่วยนางสาวD ให้ตรวจสลากกินแบ่งรัฐบาล(ลอตเตอรี่)ให้ ปรากฎว่าลอตเตอรี่ของนายCนั้นถูกรางวัล แต่ทางนางสาวDได้โกหกว่าไม่ถูกรางวัล และนำเงินที่ได้จากกาารขึ้นรางวัลนั้นไปเป็นของตน นางสาวDจะผิดฐานยักยอกทรัพย์
2.)ยักยอกทรัพย์ที่ผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิด
หมายถึง ถ้าทรัพย์สินใดตกมาสู่การครอบครองบุคคลนั้น โดยที่ทรัพย์นั้นถูกส่งมอบให้โดยสำคัญผิด ผู้กระทำความผิดจะต้องรับโทษครึ่งหนึ่งของความผิดฐานยักยอกทรัพย์
การสำคัญผิด คือ การเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยที่ข้อเท็จจริงเป็นอีกอย่าง ซึ่งความเป็นจริงแล้วนั้นเป็นอีกอย่าง
ตัวอย่างเช่น นางสาวจอยได้โอนเงินผิดบัญชีไปยังบัญชีนายพงศ์ นายพงศ์คิดว่าเงินที่เข้ามานั้นเป็นเงินที่ได้มาแบบลาภลอยจึงนำเงินไปใช้จนหมดโดยที่ไม่ตรวจสอบก่อน นายพงศ์จะมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2544/2529 (คำพิพากษาที่เกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์ที่ผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิด)
จำเลยเขียนเช็คสั่งจ่ายเงิน 10,000 บาท โดยเขียนจำนวนเงินด้วยอักษรว่า 'หนึ่งหมื่นบาท' แต่จำนวนเงินที่เขียนด้วยตัวเลข ได้ใส่เครื่องหมายจุลภาคผิดตำแหน่ง โดยใส่ไว้หลังเลขศูนย์ตัวที่สองนับจากเลข 1 แล้วนำมาขอเบิกเงินจากธนาคารพนักงานธนาคารสำคัญผิดว่าจำเลยขอเบิกเงิน 100,000 บาท จึงจ่ายเงินให้จำเลย 100,000 บาท ถือได้ว่าเงินจำนวน 90,000 บาท เป็นเงินที่ส่งมอบให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยโดยสำคัญผิดไป แม้จะด้วยการใดก็ตาม เมื่อจำเลยเบียดบังเอาเป็นของตน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง
3.)ยักยอกทรัพย์สินที่ตนมีหน้าที่ต้องดูแล
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา353 ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตัวอย่างเช่น นางดาได้ฝากนายหนวดไปขึ้นเช็คเพื่อนำเงินนั้นมาจ่ายค่าลูกน้อง แต่ปรากฎว่านายหนวดได้นำเช็คนั้นไปขึ้นเงินและนำเงินนั้นมาเป็นของตน นายหนวดจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา353 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4.)ยักยอกทรัพย์สินที่หาย
คือ การที่ทรัพย์นั้นตกมาอยู่ในความครอบครอบของบุคคล โดยที่บุคคลนั้นสามารถเก็บได้และไม่ส่งคืนเจ้าของ บุคคลนั้นต้องรับโทษครึ่งหนึ่งของความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ถ้าให้เข้าใจง่ายๆคือเจอของหล่นอยู่แล้วเอามาเป็นของตนเองนั้นแหละครับ
ตัวอย่างเช่น นายหมูทำโทรศัพท์หล่นหายและนายหมีเจอโทรศัพท์ตกอยู่จึงเอาโทรศัพท์นั้นมามาใช้เปรียบเสมือนของตนเอง นายหมีจะมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินที่หาย
บุคคลดังต่อไปนี้จะต้องรับผิดเพิ่มหากทำการยักยอกทรัพย์
- ผู้จัดการทรัพย์สิน
- ผู้จัดการมรดก
- ผู้ที่ประกอบธุรกิจที่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เช่น ทนายความ , ผู้สอบบัญชี เป็นต้น
หากบุคคลหรือคณะบุคคลตามข้างต้นได้กระทำการยักยอกทรัพย์จะต้องรับโทษ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 354 เนื่องจากเป็นการทรยศต่อความเชื่อใจของประชาชน
ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมได้นำทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในการจัดการมรดกตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรม
ยักยอกทรัพย์ องค์ประกอบความผิด
โดยการยักยอกทรัพย์นั้นจะมีองค์ประกอบความผิดดังนี้ และจะต้องดูเจตนาประกอบว่ากระทำด้วยเจตนาไหม
1.)การครอบครองทรัพย์สินที่ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย
คือ การที่บุคคลหนึ่งครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นอาจเกิดจากการมอบหมายให้ดูแลทรัพย์สิน หรือการเป็นตัวแทนในการจัดการทรัพย์สิน
โดยการครอบครองนั้นผู้ครอบครองต้องมีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินเหล่านั้นให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการมรดกที่ดูแลทรัพย์สินของผู้เสียชีวิต
2.)เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง
การเบียดบังนี้ต้องมีการกระทำที่แสดงออกให้เห็นว่าผู้กระทำผิดตั้งใจที่จะยึดถือทรัพย์สินของผู้อื่นให้เป็นของตนเอง
3.)โดยทุจริต
ดูที่การกระทำว่าเป็นการกระทำที่หลอกลวงหรือฉ้อโกงหรือไม่เพื่อทำให้เจ้าของทรัพย์นั้นเสียสิทธิในทรัพย์สินของตน
สรุป
การยักยอกทรัพย์เป็นการกระทำผิดกฎหมายที่เกิดจากการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วนำมาเป็นของตนเองโดยเจตนาทุจริต กฎหมายไทยกำหนดบทลงโทษสำหรับการกระทำเช่นนี้เพื่อปกป้องสิทธิและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งอาจจะมีความเข้าใจผิดอยู่บ้างว่าเป็นลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์กันแน่ บทความต่อไป Legardy จะพาทุกท่านไปรับชมความต่างของการลักทรัพย์และยักยอกทรัพย์ครับ