ทำความรู้จักรอลงอาญาคืออะไร.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-12-22

ทำความรู้จักรอลงอาญาคืออะไร?

หลายคนคงเคยได้เห็นการพิพากษาคดีที่จบลงด้วยการ “สั่งจำคุก รอลงอาญา 2 ปี” “สั่งจำคุก ไม่รอลงอาญา” แล้วคำว่ารอลงอาญาคืออะไรกันแน่ ทำไมต้องรอลงอาญา? วันนี้ Legardy ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการรอลงอาญามาฝากกัน พร้อมพาไขข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับการรอลงอาญา เพื่อให้คุณเข้าใจมากขึ้นว่าแท้จริงแล้วการรอลงอาญาคืออะไร

 

รอลงอาญาคืออะไร?

รอลงอาญา คือ การที่ศาลพิจารณาแล้วว่าจำเลยกระทำผิดจริง แต่มีเหตุที่ศาลเห็นว่าการปล่อยตัวจำเลยไปจะเป็นประโยชน์มากกว่าการลงโทษจำคุก โดยศาลจะคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพและสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว โดยในทางกฎหมายจะใช้คำว่า “รอการลงโทษ” แทนคำว่ารอลงอาญา หากอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ การรอลงอาญา คือ การที่ศาลปล่อยตัวจำเลยไปเพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดนั่นเอง

 

หลักเกณฑ์ตัดสินรอลงอาญาคืออะไร?

เกณฑ์ที่ศาลใช้ตัดสินรอลงอาญา คือ เกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ดังนี้

  • กระทำความผิดครั้งแรก ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน
  • เคยรับโทษจำคุมมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
  • เคยถูกพิพากษาให้จำคุกไม่เกิน 6 เดือน
  • เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่พ้นโทษเก่ามาแล้วเกินกว่า 5 ปี แล้วมากระทำความผิดอีก โดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

 

รวมทั้งเมื่อศาลคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพและสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปราณีแล้ว พบว่า จำเลยไม่ใช่คนเลวโดยกมลสันดาน ยอมรับผิดและให้ความร่วมมือในการสอบสวนคดีของตำรวจ แสดงความรับผิดชอบ เช่น ชดใช้ค่าเสียหายต่อผู้เสียหาย ศาลมักจะลดโทษจำคุกให้เหลือเพียงการลงอาญา

สามารถอ่าน 3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 56” หรือ “มาตรา 56 อาญา” ในประเทศไทยได้ที่นี่ คลิก 

 

ระหว่างรอลงอาญาต้องทำอะไร?

ระหว่างรอลงอาญาต้องทำอะไร.png

ระหว่างรอลงอาญา ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โดยอาจกำหนดข้อเดียวหรือหลายข้อตามดุลพินิจของศาล ดังนี้

1. ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถามแนะนำช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือจัดให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่เจ้าพนักงานและผู้กระทำความผิดเห็นสมควร

2. ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ

3. ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก

4. ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษ ความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด

5. ให้เข้ารับการฝึกอบรม ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด

6. ห้ามออกนอกสถานที่อยู่อาศัย หรือห้ามเข้าในสถานที่ใดในระหว่างเวลาที่ศาลกำหนดทั้งนี้ จะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางด้วยก็ได้

7. ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเยียวยาความเสียหายโดยวิธีอื่นให้แก่ผู้เสียหายตามที่ผู้กระทำความผิดและผู้เสียหายตกลงกัน

8. ให้แก้ไขฟื้นฟูหรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมหรือชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการดังกล่าว

9. ให้ทำทัณฑ์บนโดยกำหนดจำนวนเงินตามที่ศาลเห็นสมควรว่าจะไม่ก่อเหตุร้าย หรือก่อให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สิน

10. เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก

 

 

รอลงอาญา นานแค่ไหน?

หากถามว่ารอลงอาญากี่ปี? รอลงอาญานานแค่ไหน? ระยะเวลารอลงอาญานั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

 

รอลงอาญาหลายคดีได้หรือไม่?

หลายคนอาจเกิดคำถามว่า หากผู้กระทำความผิดคนเดิมที่เคยตัดสินรอลงอาญาแล้ว กระทำความผิดทางอาญาอีก ศาลจะมีคำสั่งให้รอลงอาญาผู้นั้นได้อีกหรือไม่? คำตอบ คือ ศาลสามารถสั่งให้รองลงอาญาเอาไว้อีกคดีได้ โดยศาลจะพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่เราได้กล่าวไว้ข้างต้น รวมทั้งคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ลักษณะของบุคคลนั้น ๆ ว่าควรจะรอลงอาญาไว้หรือไม่ หากพบว่าเป็นคนชอบกระทำความผิดอยู่เป็นประจำ ศาลอาจไม่สั่งให้รอลงอาญาในคดีใหม่ และอาจยกเลิกการรอลงอาญาในคดีเก่า หรือนำโทษที่ได้กำหนดไว้มารวมกับโทษที่เคยมีคำสั่งรอการลงโทษไว้ได้

การพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นไม่สามารถป้องกันการกระทำความผิดได้เสมอไป และหากจำเลยการกระทำความผิดครั้งแรก ไม่สมควรถูกพิจารณากำหนดโทษให้เป็นมลทินติดตัว ดังนั้น การรอลงอาญาจึงเป็นมาตรการป้องกันมิให้จำเลยกระทำความผิดซ้ำแทนการลงโทษจำคุก และเป็นวิธีการหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้นั้นสามารถกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ ดังนั้น เมื่อได้รับโอกาสกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้เหมือนเดิมต่อไปแล้ว ก็ขอให้ใช้โอกาสนั้นกลับตัวกลับใจ มีสำนึกต่อตนเองและผู้อื่นต่อไป

 


คำถามที่พบบ่อย

1. รอลงอาญา 2 ปีหมายถึงอะไร?

รอลงอาญา 2 ปี หมายถึง ในระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลพิพากษา ต้องอยู่ภายใต้การคุมความประพฤติที่ศาลกำหนด และไม่ทำความผิดซ้ำอีก หากคุณไปทำความผิดซ้ำภายในระยะเวลา 2 ปีนี้ ศาลจะนำโทษจำคุกในคดีนี้มาลงโทษคุณ

2. คดีแบบไหน รอลงอาญา?

คดีที่ศาลมักตัดสินรอลงอาญา คือ คดีที่ศาลลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และต้องมีเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 อย่างไรก็ตาม หากเป็นคดีอาญาร้ายแรงและน่าจะเป็นอันตรายต่อสังคม จะต้องตัดสินโทษจำคุกแทนการรอลงอาญา

3. จำคุกกี่ปี รอลงอาญา?

ศาลพิพากษาจำคุกไม่เกิน 5 ปี ถึงจะรอลงอาญาได้

4. รอลงอาญา ถือว่าติดคุกไหม?

การรอลงอาญา ไม่ถือว่าติดคุก

5. ทำไมต้องรอลงอาญา?

เหตุผลที่ต้องรอลงอาญา คือ ศาลเห็นว่าการปล่อยตัวจำเลยไปจะเป็นประโยชน์มากกว่าการลงโทษจำคุก เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดได้กลับตัวเป็นคนดี หลีกเลี่ยงการจำคุกระยะสั้น และช่วยลดจำนวนนักโทษในเรือนจำได้

6. รอลงอาญา ไปต่างประเทศได้ไหม?

หากศาลไม่ได้สั่งห้ามไว้ก็สามารถไปได้ แต่ต้องกลับมารายงานตัวตามที่ศาลนัด

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.