เผยแพร่เมื่อ: 2024-03-01

ชนะคดีแล้ว ค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้น อีกฝ่ายต้องชดใช้ให้เราไหม?

3.png

เวลาขึ้นศาลและมีการพิพากษา หากเราเป็นฝ่ายที่ชนะคดีศาลอาจมีอำนาจในการให้ฝ่ายที่แพ้คดีนั้นต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้น วันนี้ Legardy จะพาทุกท่านไปดูว่าค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ฝ่ายที่แพ้คดีอาจจะต้องชดใช้ให้เรา


ก่อนอื่นอยากให้รู้จักกับคำว่า "ให้เป็นพับ" กันก่อนครับ

ค่าธรรมเนียมใดที่คู่ความได้ชำระไปแล้ว และศาลได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เป็นพับ คู่ความไม่อาจขอรับเงินคืนไปจากศาลได้


ค่าทนายความ

ศาลนั้นมีโอกาสที่จะสั่งให้ฝ่ายที่แพ้คดี ชดใช้ค่าทนายความคืนให้ฝ่ายที่ชนะคดีได้ แต่ค่าทนายความที่ศาลกำหนดไว้นั้นต่ำมากซึ่งอาจจะมีค่าส่วนต่างจากความเป็นจริงที่คุณได้จ้างทนาย โดยขึ้นอยู่กับรูปคดี ระยะเวลาที่ใช้ในการนำสืบพยาน และมีโอกาสที่ศาลนั้นอาจตัดสินให้ค่าใช้จ่ายทนายความให้เป็นพับได้ด้วยครับ

ยกตัวอย่างเช่น A ว่าจ้างทนายความในคดีหมิ่นประมาทเสียค่าทนายความไป 20,000บาท เมื่อชนะคดีแล้ว ศาลได้ตัดสินสั่งให้ Bผู้แพ้คดีชดใช้ค่าทนายความให้A เป็นจำนวน 3,000 บาท เป็นต้น

อ่านคำปรึกษาจริงเรื่อง "ค่าฤชาธรรมเนียม" พร้อมคำตอบจากทนายความ !

Q: การจ่ายค่าฤชาธรรมเนียม

Q: โดนบริษัท...ฟ้อง

Q: ญาติฟ้องให้โอนที่ดิน


ค่าฤชาธรรมเนียม

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๔๙  ได้กำหนดไว้ว่า

ค่าฤชาธรรมเนียม คือ จำนวนเงินซึ่งศาลสั่งให้ผู้แพ้คดีชำระค่าต่างๆให้แก่ผู้ชนะคดี โดยค่าฤชาธรรมเนียมได้แก่

  • ค่าธรรมเนียมศาล 
  • ค่าสืบพยานหลักฐานนอกศาล 
  • ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง 
  • ค่าเช่าที่พักของพยาน ผู้เชี่ยวชาญ ล่าม และเจ้าพนักงานศาล 
  • ค่าทนายความ 
  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี
  • ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บรรดาที่กฎหมายบังคับให้ชำระ
     

1.png

วิธีการชำระค่าธรรมเนียมศาล

1. เงินสด เป็นวิธีการชำระที่สะดวกที่สุดสามารถชำระได้ที่ห้องรับเงินศาลทุกแห่ง

2. เช็ค โดยเช็คนั้นต้องเป็นเช็คที่ธนาคารรับรองเท่านั้น และต้องเขียนชื่อผู้รับเป็น "สำนักงานศาลยุติธรรม"

3. จ่ายผ่านระบบ e-Payment ของศาล สามารถตัดผ่านบัตรเครดิต/เดบิต , หักผ่านบัญชีธนาคาร , Mobile Banking

4. ผ่านตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย เลือกเมนู "ชำระค่าธรรมเนียมศาล"

5. ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าต้องการชำระค่าธรรมเนียมศาล

 

 


กรณีที่ไม่ชำระค่าธรรมเนียมศาล

1.หากไม่ชำระค่าธรรมเนียมศาล 

กรณีที่คู่ความไม่ชำระค่าธรรมเนียมศาลตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด ศาลจะไม่รับคำฟ้อง คำฟ้องอุทธรณ์ หรือคำฟ้องฎีกาไว้พิจารณา
การไม่ชำระค่าธรรมเนียมศาลจะส่งผลให้คดีไม่สามารถดำเนินการต่อได้ คดีอาจตกเป็นพับ ศาลอาจไม่รับคำร้องหรือเอกสารที่ยื่น ศาลอาจยุติการพิจารณาคดี และคู่ความอาจต้องรับผิดชอบในการชำระค่าใช้จ่ายหรือค่าปรับที่เกี่ยวข้อง แต่คู่ความสามารถยื่นคำร้องขอผ่อนผันหรือขอเลื่อนการชำระค่าธรรมเนียมศาลต่อศาลได้ 

2.ไม่สามารถบังคับคดีหลังจากพิพากษาแล้วได้

เจ้าหนี้หรือโจทก์นั้นต้องวางเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี หากเจ้าพนักงานบังคับคดีมองแล้วว่าเงินที่วางไว้นั้นไม่เพียงพอ เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถให้จ่ายเพิ่มเติมได้ แต่หากไม่มีการวางเงินไว้ การบังคับคดีก็จไม่เกิดขึ้นครับ

ค่าธรรมเนียมศาลขอคืนได้ไหม ?

ส่วนใหญ่ค่าธรรมเนียมศาลนั้นจะมีการเรียกเก็บจากคดีแพ่ง ถ้าคดีแพ่งนั้นสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ ก็จะได้รับคืน 7ใน8 ส่วน
แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้และสู้กันทางกฎหมายต่อไป ฝ่ายที่แพ้คดีนั้นต้องชดใช้ค่าธรรมเนียมศาลให้แก่ฝ่ายที่ชนะคดี โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าต้องชดใช้เท่าไร หรือค่าฤชาธรรมเนียมนั้นตกเป็นพับได้เช่นเดียวกัน

ตัวอย่างฎีกาที่ 567/2510 (ไม่ชำระค่าธรรมเนียม)

ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมให้ครบ โจทก์ไม่ได้เสียภายในกำหนดเวลา ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีโดยถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องโจทก์ยื่นคำร้องขอเสียค่าธรรมเนียม ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง โจทก์จึงอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งที่ให้ยกคำร้องนี้  ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีแล้ว คดีของโจทก์ไม่มีอยู่ในศาล อันศาลจะพึงดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆต่อไปอีก โจทก์จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์วางเงินค่าธรรมเนียมศาลและขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปไม่ได้  จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 มาใช้บังคับดังโจทก์ฎีกาไม่ได้ เพราะมาตรานี้เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการขยายหรือย่นระยะเวลาในคดี ที่จะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาอยู่ในศาล


ค่าส่งหมายเรียกหรือสำเนาเอกสารต่างๆ

ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้สูงมาก การที่ได้คืนในส่วนของค่าส่งหมายเรียกหรือสำเนาเอกสารต่างๆนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลหรือศาลอาจพิพากษาให้เป็นพับได้เช่นกัน


ค่าธรรมเนียมในการพิสูจน์หลักฐานต่างๆ

เมื่อเกิดคดีความขึ้นแล้ว การที่เรานั้นจะต้องพิสูจน์หลักฐานต่างๆ เช่น การว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญให้ตรวจ DNA, การตรวจสอบพยานบุคคล, การทำแผนที่พิพาท เพื่อให้หลักฐานต่างๆที่เรารวบรวมนั้นมีความน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักต่อรูปคดี โดยที่กล่าวมาย่อมมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ซึ่งตรงนี้เราอาจจะต้องสำรองจ่ายไปก่อน เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลอาจสั่งให้ผู้แพ้คดีสามารถจ่ายค่าดำเนินการต่างๆให้แก่ฝ่ายที่ชนะคดีได้ หรือ ศาลอาจพิพากษาให้ค่าธรรมเนียมนั้นให้เป็นพับ (เรียกร้องให้จ่ายไม่ได้) ได้เช่นเดียวกัน


ค่าธรรมเนียมขึ้นศาล ต้องไปรับคืนเมื่อใด ?

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 345 กำหนดไว้ว่าบรรดาเงินที่ค้างจ่ายอยู่ในศาล ถ้าผู้มีสิทธิไม่เรียกเอาภายใน 5 ปี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

การที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้ก็เพื่อทำให้การจัดทำบัญชีเงินต่าง ๆ ของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถรู้ได้แน่ชัดว่าเมื่อใดที่ยังคงต้องเก็บรักษาไว้เพื่อรอให้คู่ความมารับไปจากศาล และเมื่อใดที่ต้องนำเงินที่อยู่กับศาลส่งเป็นรายได้แผ่นดินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 


สรุป

เมื่อเกิดคดีความขึ้นแล้วและมีการพิพากษาแล้ว การที่จะได้ค่าใช้จ่ายต่างๆคืนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลครับ และถ้าได้คืนทางศาลก็จะมีระเบียบว่าต้องใช้คืนเป็นจำนวนเงินเท่าใด หากกำลังทุกข์ใจปัญหาทางกฎหมายอยู่ สามารถปรึกษาทนายความผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมงครับ หรือคลิกที่ลิงค์นี้ได้เลย !

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
ติดต่อเราทาง LINE