กฎหมายฎีกา ปี 2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5791

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5791/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 535

การที่โจทก์ยกที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ให้จำเลยเพราะจำเลยได้ชำระหนี้เงินกู้และไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากธนาคารซึ่งเป็นหนี้ที่โจทก์ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ของโจทก์ฝ่ายเดียวนั้น ถือเป็นการให้เพื่อบำเหน็จสินจ้างโดยแท้ โจทก์จึงถอนคืนการให้ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 535(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5785

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5785/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 46 วรรคสาม, 95, 104 พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ม. 38, 40 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31

พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 38 และมาตรา 40มิได้บัญญัติให้การที่กรรมการแพทย์ผู้หนึ่งทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจะเป็นการไม่ชอบ เพราะไม่มีบทบัญญัติว่าความเห็นของกรรมการการแพทย์จะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการการแพทย์เสียก่อนจึงจะเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้ เพียงแต่เมื่อมีปัญหาจะต้องขอคำปรึกษาแนะนำจากคณะกรรมการการแพทย์ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงจะขอให้คณะกรรมการการแพทย์เสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 และเมื่อรายงานผลการสอบสวนอาการเจ็บป่วยของโจทก์มิใช่การดำเนินงานในการให้บริการทางการแพทย์ แต่เป็นรายงานการตรวจร่างกายโจทก์ที่นายแพทย์ส.กระทำขึ้นเพื่อเสนอคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสารพิษในร่างกายของโจทก์ หากคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเห็นว่าความเห็นดังกล่าวเพียงพอที่จะวินิจฉัยคำร้องขอของโจทก์ได้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้าปรึกษาคณะกรรมการการแพทย์ โดยนำรายงานดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้ และตามมาตรา 38 วรรคสอง บัญญัติให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่าง ๆดังนี้ เมื่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเห็นว่าเรื่องใดควรจะมอบหมายให้แพทย์ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในคณะกรรมการการแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคที่จะต้องวินิจฉัยว่ามีลักษณะอาการอย่างไรก็อาจจะนำความเห็นของแพทย์ผู้นั้นมาพิจารณาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้ ดังนั้นรายงานผลการสอบสวนอาการเจ็บป่วยที่ ส.ทำขึ้นและนำเสนอให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาจึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 40 ในประเด็นข้อที่ว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามฟ้องหรือไม่ ศาลแรงงานได้วินิจฉัยพยานโจทก์แล้วเห็นว่าการที่โจทก์มีปริมาณสารอะลูมิน่าเพิ่มขึ้นเป็นปริมาณสูงหลังจากที่ไม่ได้สัมผัสกับสารเช่นนี้ไม่สอดคล้องด้วยเหตุผล อีกทั้งได้ความจาก ย.พยานศาลและนายแพทย์ส.ว่าสารอะลูมิน่านี้มีอยู่ทั่วไปในภาวะแวดล้อมหากเก็บตัวอย่างไม่ดีอาจมีการปนเปื้อนสารอะลูมิน่า จากภายนอกได้ง่าย การที่ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการปรากฏว่าโจทก์มีปริมาณสารอะลูมิน่าอยู่ในร่างกายสูงจนผิดไปจากปกติมากเช่นนี้จึงอาจเกิดจากการปนเปื้อนของสารอะลูมิน่าที่มีอยู่ในภาวะแวดล้อมในขณะจัดเก็บก็ได้ ลำพังผลการตรวจหาสารอะลูมิน่าในร่างกายของโจทก์ที่มีปริมาณสูงจนผิดปกติเพียงอย่างเดียว ไม่อาจยืนยันเด็ดขาดได้ว่าอาการป่วยของโจทก์เกิดจากสารอะลูมิน่าจากการทำงาน ส่วนพยานบุคคลที่จำเลยนำสืบล้วนแต่เป็นผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญเมื่อรับฟังประกอบกับเอกสารทางวิชาการของต่างประเทศเกี่ยวกับสารอะลูมิน่าตามเอกสารหมาย ล.35 และ ล.36 แล้วเห็นว่ามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เจ็บป่วยโดยมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลียปวดตามข้อชาตามแขนและมือจริง แต่การเจ็บป่วยดังกล่าวไม่ได้เกิดจากสารอะลูมิน่าจากการทำงาน ดังนี้ เมื่อศาลแรงงานได้นำข้อนำสืบของทั้งสองฝ่ายมาวินิจฉัยโดยละเอียด มิใช่ฟังเฉพาะเอกสารหมายล.35 และ ล.36 ที่เป็นภาษาต่างประเทศเท่านั้น การนำเอกสารทั้งสองฉบับมากล่างอ้างเป็นส่วนหนึ่งในเหตุผลแห่งการวินิจฉัยย่อมกระทำได้ ไม่ทำให้การวินิจฉัยในส่วนอื่นเสียไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสามศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าเห็นควรให้คู่ความฝ่ายที่ส่งเอกสารนั้นทำคำแปลที่เป็นภาษาไทย ซึ่งศาลอาจไม่สั่งให้ทำคำแปลก็ได้เช่นในกรณีที่เอกสารนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งแห่งพยานหลักฐานที่ฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นที่เพียงพอต่อการวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วจึงไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องสั่งให้คู่ความทำคำแปลเสมอไป การที่ศาลแรงงานมิได้สั่งให้จำเลยทำคำแปลเอกสารซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศการอ้างเอกสารดังกล่าวของฝ่ายจำเลยจึงไม่ขัดต่อกฎหมายและศาลแรงงานย่อมรับฟังเอกสารนั้นในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งแห่งพยานหลักฐานที่คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารนำสืบได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 ซึ่งอนุโลมใช้ในคดีแรงงานด้วย บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้นอีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่ามิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่าหรือพยานแวดล้อมกรณี เพียงแต่มีหลักว่าให้ฟังประจักษ์พยานเป็นลำดับแรกแต่ถ้าประจักษ์พยานขัดต่อเหตุผลศาลก็อาจจะไม่รับฟังก็ได้ ส่วนพยานบอกเล่าและพยานแวดล้อมกรณีนั้น แม้จะมีน้ำหนักน้อยกว่าประจักษ์พยาน แต่ถ้าศาลเห็นว่าพยานหลักฐานที่เป็นประจักษ์พยานไม่น่าเชื่อถือ ศาลอาจฟังพยานหลักฐานอื่นได้ คดีนี้ประเด็นสำคัญที่จะต้องวินิจฉัยคือโจทก์เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานหรือไม่ แพทย์ผู้ทำการตรวจร่างกายโจทก์และให้ความเห็นล้วนแต่เป็นพยานโดยตรง นายแพทย์ส.พยานจำเลยเป็นผู้หนึ่งที่ได้ตรวจร่างกายโจทก์และให้ความเห็น แม้จะได้ทำการตรวจภายหลังจากที่แพทย์หญิงช.และแพทย์หญิงอ.ได้ตรวจร่างกายโจทก์ ก็ไม่ทำให้นายแพทย์ส. มิใช่พยานโดยตรง นอกจากนี้ภ.ก็เป็นประจักษ์พยานเพราะเป็นผู้เก็บตัวอย่างฝุ่นในสถานที่ทำงานของโจทก์ไปตรวจเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานส่วนนายแพทย์ธ.ก็ได้เบิกความให้ความเห็นทางวิชาการตรงกับความเห็นของแพทย์หญิงอ. เมื่อศาลแรงงานได้นำคำเบิกความของแพทย์ผู้ตรวจร่างกายโจทก์พร้อมทั้งความเห็นของพยานดังกล่าวมาพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่นจึงเป็นการวินิจฉัยที่ชอบ และการที่ศาลแรงงานวินิจฉัยพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ก็เป็นการวินิจฉัยที่ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5784

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5784/2540

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 54, 56

เมื่อศาลแรงงานมิได้นำพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่โจทก์กล่าวไว้ในอุทธรณ์มาพิจารณาวินิจฉัยเลยสำหรับเอกสารบางฉบับ และบางฉบับก็มิได้พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนจริง ดังนี้ย่อมไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาในการรับฟังพยานหลักฐานจึงต้องให้ศาลแรงงานวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่โจทก์ได้กล่าวอ้างในอุทธรณ์ เสียก่อน ศาลฎีกาให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานและให้ศาลแรงงานพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5783

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5783/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 448 วรรคหนึ่ง, 882 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57 (3), 144, 148, 175

จำเลยได้ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยให้ใช้ค่าทดแทนหากจำเลยแพ้คดีตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วม จึงเป็นกรณีที่จำเลยในฐานะผู้เอาประกันประสงค์จะเรียกให้จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ตามสัญญา จึงต้องฟ้องหรือหมายเรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาในคดีภายในกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่เกิดวินาศภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นอายุความฟ้องบังคับตามสัญญาประกันภัยมาใช้บังคับ และกรณีมิใช่โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยร่วมให้รับผิดในมูลละเมิดที่กระทำต่อโจทก์จึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับดังนั้น เมื่อเกิดเหตุวินาศภัยวันที่ 22 มีนาคม 2534 จำเลยได้หมายเรียกจำเลยร่วมเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 22 มีนาคม 2536 ภายในกำหนด 2 ปี คดีของจำเลยย่อมไม่ขาดอายุความ และเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้วันที่26 มิถุนายน 2534 โดยมูลละเมิดระหว่างโจทก์และจำเลยเกิดวันที่ 22 มีนาคม 2534 ยังอยู่ในอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีจึงไม่ขาดอายุความ การที่จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนได้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคราวก่อน แต่จำเลยได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าวไปก่อนที่ศาลชั้นต้นจะได้มีคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีนั้น แม้จำเลยจะได้เรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาร่วมรับผิดในคดีนี้เป็นครั้งที่สองก็ตาม การกระทำของจำเลยก็หาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่งไม่ประกอบกับในคดีก่อนโจทก์ในคดีนี้ก็หาได้ยื่นคำฟ้องจำเลยร่วมเป็น จำเลยร่วมมาแต่ต้นไม่ ทั้งศาลก็ยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วในประเด็นแห่งคดี เพราะจำเลยได้ถอนฟ้องไปก่อนคดีในส่วนของโจทก์ทั้งสองและจำเลยร่วมจึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5782

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5782/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 326, 329, 330 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 423 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 วรรคสอง

คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า ข้อความที่จำเลยอภิปรายพาดพิงถึงโจทก์นั้นเป็นข้อความที่ฝ่าฝืนความจริงอันมีความหมายอยู่ในตัวว่าข้อความที่จำเลยอภิปรายนั้นไม่ตรงต่อความจริงซึ่งเป็นความเท็จนั่นเอง ส่วนที่ว่าความจริงเป็นอย่างไรนั้น คำฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายไว้แล้วว่า ความจริงในการไปทอดกฐินครั้งนั้นไม่มีการลักลอบขนยาเสพติดให้โทษเฮโรอีนร่วมไปกับคณะทอดกฐินดังที่จำเลยอภิปรายแต่ประการใด ดังนี้ หากจำเลยมั่นใจว่าข้อความที่จำเลยอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นความจริง กล่าวคือ โจทก์เคยไปทอดกฐิน ที่ต่างประเทศและมีการลักลอบซุกซ่อนเฮโรอีนไว้ที่ใต้ฐานพระประธานไปด้วยจนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ต่างประเทศทำการตรวจค้นบุคคลในคณะด้วยวิธีเปลื้องผ้าทำให้บุคคลในคณะซึ่งเป็นหญิงได้รับความอับอายทั่วหน้าแล้ว จำเลยย่อมให้การต่อสู้คดีโดยยืนยันตามข้อความอภิปรายและนำสืบพิสูจน์ได้ คำบรรยายฟ้องโจทก์ดังกล่าวไม่ทำให้จำเลยไม่เข้าใจฟ้องจนไม่สามารถให้การต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ไม่เป็นคำฟ้องเคลือบคลุม ขณะอภิปรายนั้นจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายค้าน จำเลยต้องการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกช. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นโดยได้รับมอบหมายจากพรรคให้อภิปรายการบริหารงานของคนบางคน ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อันเป็นข้อหนึ่งที่จำเลยต้องอภิปรายในครั้งนั้น โจทก์ชื่อพลตรีศรชัย เป็นนายทหารรับราชการประจำสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มาช่วยราชการที่สำนักงาน เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ตามคำขอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และโจทก์เป็นคนสนิทหรือคนใกล้ชิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเคยรับราชการร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2524 ซึ่งขณะนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก โจทก์เป็นฝ่ายเสนาธิการประจำตัวผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ทั้งในสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย มีโจทก์คนเดียวที่ชื่อศรชัยและทำหน้าที่เป็นเลขานุการส่วนตัวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยการที่จำเลยอภิปรายได้ความว่า คุณศรชัยคนสนิทของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตเคยไปทอดกฐินต่างประเทศและมียาเสพติดให้โทษเฮโรอีนอยู่ที่ใต้ฐานะพระประธาน จนคณะทั้งหมดถูกตรวจสอบทั้งภายนอกภายในเป็นเรื่องอับอายของบรรดาภรรยาข้าราชการทั้งหมด ฝรั่งเขาตรวจไม่ให้เกียรติโดยบรรดาคุณหญิงคุณนายถูกตรวจภายในเปลือยกายล่อนจ้อนน่าอายจริง ๆ ข้อความดังกล่าวจำเลยประสงค์จะอภิปรายถึงความประพฤติของคนใกล้ชิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยว่าเคยมีพฤติการณ์น่ารังเกียจกระทำผิดกฎหมาย ทำให้คณะที่ไปทอดกฐินด้วยเสียหายได้รับความอับอายขายหน้าในต่างประเทศแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังนำมาทำงานราชการในกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีเช่นว่านี้ไม่น่าไว้วางใจตามความต้องการของจำเลยที่อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนั้น และเพื่อให้ผู้ฟังทราบว่าเป็นใครจึงระบุชื่อคุณศรชัยเช่นนี้ แม้จะไม่ระบุยศ ตำแหน่ง และนามสกุลของโจทก์ก็พอให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่าหมายถึงโจทก์ เพราะโจทก์ชื่อพลตรีศรชัยเป็นคนสนิทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้นำคณะทอดกฐินไปทอดที่วัดไทยในนครลอสแองเจลิสจากพลเอกช. ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขณะถูกอภิปราย แต่การไม่ทอดกฐินครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกาได้จับกุม ช. ผู้ร่วมเที่ยวบินไปกับคณะทอดกฐิน กล่าวหาว่ามีส่วนร่วมกับพวกลักลอบขนยาเสพติดให้โทษเฮโรอีนเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งพวกของช.ถูกจับไว้ก่อนที่คณะทอดกฐินจะเดินทางไปถึงทั้งโจทก์นำคณะทอดกฐินไปทอดที่วัดไทยในนครลอสแองเจลิสครั้งนั้นไม่ได้นำพระประธานไปด้วย และไม่ได้ถูกสงสัยว่ามีการลักลอบนำเฮโรอีนมากับคณะทอดกฐิน คงผ่านการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาตามปกติธรรมดา ไม่มีการตรวจค้นโดยให้เปลือยกายล่อนจ้อนดังที่จำเลยอภิปรายดังนั้นคำอภิปรายของจำเลยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการกล่าวข้อความฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์เป็นการละเมิดต่อโจทก์จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์การที่จำเลยได้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ที่ลงพิมพ์ไว้ตั้งแต่ปี 2529หรือ 2530 นับถึงวันอภิปรายนานกว่า 5 ปี จำเลยย่อมมีเวลาตรวจสอบข้อมูลที่ได้มาว่าถูกต้องตรงกับความจริงหรือไม่ จำเลยกลับนำข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงมาอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เสียหายแก่โจทก์ แม้จำเลยจะอภิปรายในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อไม่เป็นความจริงย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ก็ไม่อาจพ้นความรับผิดต่อโจทก์ได้ โจทก์เป็นนายทหารยศพลตรี มาช่วยราชการทำหน้าที่เลขานุการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นตำแหน่งหน้าที่อันมีเกียรติและเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่องานบริหารราชการแผ่นดินของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนอกจากจะเสียหายแก่โจทก์แล้ว ยังมีผลกระทบกระเทือนแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไปในทางเสื่อมเสียด้วย จำเลยเป็นผู้แทนของปวงชนอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติ และเป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองระดับชาติ ข้อความที่อภิปรายปกติต้องตรงกับความจริงและเชื่อถือได้ เมื่อปรากฏเป็นความเท็จทั้งได้มีการถ่ายทอดคำอภิปรายของจำเลยทางวิทยุกระจายเสียแห่งประเทศไทยและแพร่ภาพทางโทรทัศน์สีช่อง 9 และช่อง 11ไปทั่วประเทศ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์มากกว่าปกติเป็นทวีคูณ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหาย แก่โจทก์500,000 บาท นั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5781

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5781/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1600 ประมวลรัษฎากร ม. 86 เบญจ, 87 (2), 87 ทวิ (7) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2529 ม. 25 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 8) ม. 86 ข้อ 4(1)( ก )

ในขณะที่โจทก์กำหนดรายรับขึ้นต่ำของ ผ.ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2528 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่1 มกราคม 2529 พระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2529 มาตรา 25 ซึ่งให้เพิ่มมาตรา 86 เบญจที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินกำหนดรายรับขั้นต่ำของผู้ประกอบการค้าบางประเภทไว้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดี กรมสรรพากรกำหนด และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 38) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดรายรับขั้นต่ำตามมาตรา 86 เบญจแห่งประมวลรัษฎากร ยังไม่ได้ใช้บังคับ ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์กำหนดรายรับขั้นต่ำของ ผ.ทั้งสองครั้งดังกล่าวจึงเป็นการประเมินโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประมวลรัษฎากร มาตรา 87(2) และมาตรา 87 ทวิ(7) บัญญัติให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดรายรับของผู้ประกอบการค้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไป ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ประกอบการค้าชำระภาษีการค้าในเดือนภาษีที่ล่วงมาแล้วหรือในเดือนภาษีที่ถึงกำหนดชำระไม่ถูกต้อง และต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบพบในภายหลังเจ้าพนักงานจึงมีอำนาจกำหนดรายรับขึ้นโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 87 ทวิ(7)เพื่อใช้เป็นฐานในการประเมินภาษีการค้ามิใช่เป็นบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินกำหนดรายรับขั้นต่ำไว้เป็นการล่วงหน้าเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้าในเดือนภาษีที่ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการการค้า ผ.แสดงรายรับและเสียภาษีการค้าต่ำกว่ารายรับและภาษีขั้นต่ำที่ฝ่ายสำรวจและกำหนดรายรับของโจทก์ได้กำหนดไว้มิใช่ ผง ไม่เคยแจ้งรายจ่ายตามแบบ ภ.ค.45 แก่เจ้าพนักงานประเมินซึ่งเจ้าพนักงานประเมินจะมีอำนาจกำหนดรายรับขั้นต่ำของ ผ.โดยนำเอารายรับขั้นต่ำที่เคยกำหนดไว้ในครั้งที่ 2 บวกอีกร้อยละ20 แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้มากำหนดรายรับขั้นต่ำในครั้งที่ 3 ตามข้อ 4(1)(ก) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีการค้า(ฉบับที่ 38) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดรายรับขั้นต่ำตามมาตรา 86 เบญจ แห่ง ประมวลรัษฎากร ทั้งการกำหนดรายรับขั้นต่ำของ ผ.ในครั้งที่ 3 ได้กำหนดโดยนำเอารายรับขั้นต่ำที่เคยกำหนดไว้ในครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการกำหนดโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาเป็นฐานในการพิจารณาจึงต้องถือว่าการกำหนดรายรับขั้นต่ำในครั้งที่ 3 เป็นการกำหนดโดยมิชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน การที่ผ.ได้รับแจ้งการกำหนดรายรับขั้นต่ำไว้ล่วงหน้าจากเจ้าพนักงานประเมินแล้วไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน ยังถือไม่ได้ว่าผ. ยอมรับการกำหนดรายรับขั้นต่ำดังกล่าว ทั้งเมื่อการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการประเมินโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผ. จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าภาษีอากรแก่โจทก์โดยไม่ต้องโต้แย้งคัดค้านและอุทธรณ์การประเมินแต่อย่างใด ดังนั้น จำเลยทั้งสามในฐานะทายาทของ ผ.ผู้ตายจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5780

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5780/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 230, 247, 248

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่บัญญัติว่า ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงเว้นแต่ ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นแย้ง หรือผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นก็ดีศาลอุทธรณ์ก็ดีได้รับรองไว้หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาต ให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นั้นเมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาค3 ลักษณะ 2 ว่าด้วยฎีกามิได้บัญญัติถึงวิธีปฏิบัติในการยื่นคำร้องเพื่อที่จะได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะ 1 ว่าด้วยอุทธรณ์มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 247 ซึ่งได้แก่บทบัญญัติในมาตรา 230 วรรคสาม เมื่อนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับโดยอนุโลมแล้วจะได้วิธีปฏิบัติดังนี้คือ คดีที่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรอง ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อเท็จจริงดังกล่าว ในกรณีเช่นนี้ผู้ฎีกาชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อจะได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อศาลชั้นต้นได้รับคำร้องเช่นว่านั้นแล้วให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมด้วยสำนวนความไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เพื่อมีคำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย ในวันที่ 25 ธันวาคม2538 ดังนั้น จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อจะได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือต่อศาลชั้นต้นถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภายในวันที่ 1 มกราคม 2539 ซึ่งตรงกับวันหยุดราชการประจำปีจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องในวันที่ศาลชั้นต้นเปิดทำการเป็นวันแรกได้ ซึ่งโดยทั่วไปคือวันที่2 มกราคม 2539 แต่เฉพาะในปี 2539 นี้คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 2 มกราคม 2539 เป็นวันหยุดชดเชยของวันที่31 ธันวาคม 2538 ที่ตรงกับวันอาทิตย์อันเป็นวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ ตามหนังสือเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร0215/ว 274 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2538 วันที่ศาลชั้นต้นเปิดทำการเป็นวันแรกหลังจากวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 และที่ 3ถึงที่ 5 มีสิทธิยื่นคำร้องได้ซึ่งตรงกับวันหยุดราชการจึงเป็นวันที่ 3 มกราคม 2539 และจำเลยได้ยื่นคำร้องดังกล่าวในวันที่3 มกราคม 2539 อันเป็นการยื่นคำร้องดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ศาลชั้นต้นจะต้องส่งคำร้องดังกล่าวของจำเลยพร้อมสำนวนไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เพื่อพิเคราะห์สั่งต่อไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ศาลชั้นต้นไม่มีสิทธิปฏิบัติไม่ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ตามที่จำเลยขอ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย ที่ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5779

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5779/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21, 197, 201

ศาลชั้นต้นกำหนดนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 3 พฤศจิกายน 2538 เวลา 13.30 นาฬิกา เมื่อถึงกำหนดทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีศาลอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 25 มกราคม 2539เวลา 9 นาฬิกา ผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์และทนายจำเลยลงชื่อรับทราบวันนัดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ดังกล่าว ฝ่ายโจทก์ไม่มาศาลโดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาล การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาจึงเป็นการสั่งตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสอง และเมื่อฝ่ายจำเลยมิได้แจ้งต่อศาลว่าตนต้องการจะให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้ ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 201 วรรคแรก ที่บัญญัติว่าถ้าได้ส่งหมายกำหนดวันนัดสืบพยานให้โจทก์ทราบโดยชอบแล้ว โจทก์ขาดนัดพิจารณาให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ ฯลฯ นั้น มิได้ หมายความว่าจะต้องเป็นกรณีที่มีการส่งหมายกำหนดวันนัดสืบพยานให้โจทก์ทราบจริง ๆ เท่านั้นแต่หมายความรวมถึงกรณีที่ถือได้ว่าโจทก์ทราบกำหนดวันนัดสืบพยานโดยชอบแล้วด้วย เช่น กรณีที่ศาลอนุญาตให้เลื่อนวันนัดสืบพยานออกไป และโจทก์ได้ลงชื่อรับทราบวันนัดไว้แล้ว จึงไม่ต้องมีการส่งหมายกำหนดวันนัดสืบพยานให้โจทก์ทราบอีก โจทก์ทราบกำหนดวันนัดสืบพยานโดยเสมียนทนายผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์ลงชื่อรับทราบวันนัดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาแล้วโจทก์ไม่มาศาล โจทก์จึงขาดนัดพิจารณา การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์เสียจากสารบบความ จึงเป็นการ สั่งตามบทบัญญัติของ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 วรรคแรกและบทบัญญัติของมาตราดังกล่าวยังห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีหรือมีคำขอให้พิจารณาคดีนั้นใหม่ ดังนี้ศาลชั้นต้นจึงไม่ต้องไต่สวนคำร้องของโจทก์ว่าจงใจขาดนัดหรือไม่อีก เพราะการไต่สวนไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1267

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1267/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 144, 243 (2), 247

คำฟ้องคดีเดิมเป็นคดีระหว่างจำเลยที่2ในคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์กับโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ว่าจำเลยที่2รับโอนที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริตจำเลยที่2มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทโดยมิได้วินิจฉัยว่าใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์คดีถึงที่สุดแล้วสำหรับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้มีว่าโจทก์หรือจำเลยที่1เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทหากฟังว่าจำเลยที่1เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนโจทก์โจทก์ก็เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทจำเลยที่1 ไม่มีกรรมสิทธิ์ทำให้จำเลยที่1ไม่มีสิทธินำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทไปโอนให้แก่จำเลยที่2ไม่ว่าจะโอนโดยสุจริตหรือไม่สุจริตและยังมีประเด็นอีกว่าโจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทระหว่างจำเลยที่1กับจำเลยที่2หรือไม่โจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้แก่โจทก์ในฐานที่โจทก์เป็นเจ้าของหรือให้ชดใช้ราคาแทนหรือไม่ประเด็นดังกล่าวข้างต้นเป็นคนละประเด็นกันกับที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ในคดีเดิมการพิจารณาคดีนี้ตามประเด็นดังกล่าวข้างต้นมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดไว้แล้วกรณีจึงมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำสำหรับประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ได้เคยวินิจฉัยไว้ในคดีก่อนที่ว่าจำเลยที่2ในคดีนี้ได้รับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทไว้โดยไม่สุจริตอันเป็นเหตุให้ฟังได้ว่าจำเลยที่2มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้นหากในคดีนี้ศาลฟังว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของจำเลยที่1ในประเด็นต่อไปอาจจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่2รับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทไปโดยสุจริตหรือไม่หากจะมีการพิจารณาประเด็นดังกล่าวจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดไว้แล้วอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา144ประเด็นนี้เพียงประเด็นเดียวที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำทั้งหมดทุกประเด็นจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา243(2)ประกอบมาตรา247จึงชอบที่ศาลฎีกาจะพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองให้ศาลชั้นต้นพิจารณาเฉพาะประเด็นที่มิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำดังวินิจฉัยแล้วข้างต้นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1261

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1261/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 223 ทวิ, 224

โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารโจทก์และตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา จำเลยต้องรับผิดในดอกเบี้ยดังกล่าวต่อโจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จจึงไม่ชอบ เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงจึงไม่ถูกต้อง และที่ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขออุทธรณ์ข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่าเมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์คำร้องนี้จึงไม่ต้องสั่ง เท่ากับไม่อนุญาตให้อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาเพราะเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งไม่ถูกต้องศาลฎีกาย่อมมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับคำฟ้องอุทธรณ์ใหม่ และดำเนินการเกี่ยวกับคำร้องขออุทธรณ์ข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามขั้นตอนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งต่อไป

« »