คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1116/2543
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 78
จำเลยมิได้ขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทจนเป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกที่จำเลยขับเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับ จำเลยจึงมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินในอันที่ผู้ก่อจะต้องหยุดช่วยเหลือแสดงตัว และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1082/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249
ชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และขณะเกิดเหตุได้ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างหรือตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 หรือไม่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นตัวการ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ฝ่ายเดียวว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดในฐานะดังกล่าวโดยโจทก์มิได้แก้อุทธรณ์ตั้งเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1ในชั้นอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยก็เป็นเรื่องนอกประเด็น ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1123/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 246
ปัญหาว่าเอกสารใดเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นสมควร ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือไม่ใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร จึงไม่ถือว่าเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1120/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (3), 29, 168, 226, 247, ตาราง 1 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 24
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มขึ้นอีก200,000 บาท โจทก์มิได้อุทธรณ์ในเนื้อหาแห่งคดีโดยตรง แต่โจทก์ได้ยกเหตุว่าค่าขึ้นศาลอันเป็นค่าฤชาธรรมเนียมนั้น มิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมายและโต้แย้งคำสั่งศาลแล้ว จึงอุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 24 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 168 มาตรา 226 และ 247
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคหนึ่งกำหนดว่า ในคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาท ในการพิจารณาว่าโจทก์จะเสียค่าขึ้นศาลเป็นจำนวนเท่าใด ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในตาราง 1ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (1)
การคิดค่าขึ้นศาลในคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ว่า คำฟ้องในกรณีปกติให้เรียกค่าขึ้นศาลโดยอัตรา 2.50 บาท ต่อทุก 100 บาท แต่ไม่ให้เกิน 200,000 บาทแม้ว่าทุนทรัพย์ที่เรียกร้องหรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทเมื่อคำนวณแล้วจะเกิน 200,000 บาท ก็ตาม ซึ่งหามีบทบัญญัติบังคับว่า ในคำฟ้องฉบับเดียวกันนั้นจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200,000 บาท เท่านั้นไม่แม้ว่ามีข้อหาหลายข้อหาด้วยกัน
คำฟ้องตามมาตรา 1(3) หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล เมื่อพิจารณาประกอบกับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 29 แสดงให้เห็นว่าในการที่โจทก์เสนอข้อหาต่อศาลในคำฟ้องฉบับหนึ่งนั้นอาจมีข้อหาหลายข้อด้วยกันได้ และให้อำนาจแก่ศาลมีคำสั่งแยกคดีได้ในกรณีที่ศาลเห็นว่าข้อหาหนึ่งข้อหาใดเหล่านั้นมิได้เกี่ยวข้องกันกับข้อหาอื่น ๆหรือแม้ว่าข้อหาเหล่านั้นเกี่ยวพันกัน แต่ศาลเห็นว่าหากแยกพิจารณาข้อหาทั้งหมดหรือข้อใดข้อหนึ่งออกจากกันแล้วจะเป็นการสะดวกศาลก็มีอำนาจสั่งแยกข้อหาเหล่านั้นทั้งหมดหรือแต่ข้อใดข้อหนึ่งออกพิจารณาต่างหากเป็นเรื่อง ๆ ไปได้เท่านั้น มิได้บังคับว่าถ้าศาลสั่งแยกข้อหาแล้วจะเรียกค่าขึ้นศาลเพิ่มไม่ได้ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคสี่ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าในคำฟ้องใดหรือฉบับเดียวกันในกรณีที่มีหลายข้อหาย่อมสามารถคิดค่าขึ้นศาลเป็นรายข้อหาไปได้ ซึ่งต้องพิจารณาถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับของโจทก์ในคำฟ้องนั้นเป็นแต่ละข้อหาไปว่าเกี่ยวข้องกันหรือแยกกัน
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งเป็นภาษีอากรประเมิน ประมวลรัษฎากรว่าด้วยการเก็บภาษีจากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมาตรา 65ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลว่าให้เสียเป็นรอบระยะเวลาบัญชี ดังนั้น ในกรณีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยซึ่งเป็นบริษัทจำกัดสำหรับกรณีพิพาทจึงมี 2 รอบระยะเวลาบัญชีคือรอบระยะเวลาบัญชีปี 2538 และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 และอาจมีการดำเนินกิจการ มีผลประกอบการแตกต่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ด้วยเหตุนี้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีในกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีจึงมีสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับแตกต่างกันได้ กล่าวคือ การคิดคำนวณรายได้และหักรายจ่ายในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเพื่อหากำไรสุทธิจึงแยกต่างหากออกจากกันได้โดยชัดแจ้ง ฉะนั้น สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถแยกจากกันได้การที่โจทก์รวมภาษีทั้ง 2 รอบระยะเวลาบัญชีมาเป็นจำนวนเดียวและเสียค่าขึ้นศาลในอัตราสูงสุดครั้งเดียว โดยมิได้แยกทุนทรัพย์แต่ละข้อหาจึงไม่ถูกต้อง การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลโดยแยกเป็นรอบระยะเวลาบัญชี จึงเป็นการชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 120 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 ม. 8
ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดบางกรณีจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีบุคคลสองฝ่ายมาตกลงร่วมคบคิดกัน เช่น การจำหน่ายยาเสพติดให้โทษจะต้องมีผู้ขายฝ่ายหนึ่งกับผู้ซื้ออีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายมีเจตนาคนละอย่างกัน ผู้ขายมีเจตนาที่จะขายผู้ซื้อมีเจตนาที่จะซื้อ เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันที่จะขายและจะซื้อยาเสพติดให้โทษต่อกัน ก็ถือว่าได้สมคบโดยการตกลงร่วมคบคิดกันที่จะกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้วตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง หาใช่ว่าจะต้องมีเจตนาเดียวกันหรือเจตนาร่วมกันไม่
จากการสอบสวนพยานหลักฐานต่าง ๆ พนักงานสอบสวนเชื่อว่าจำเลยและ ล. กระทำความผิดในข้อหาสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงเสนอต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ขออนุมัติแจ้งข้อหาดังกล่าวเพิ่มเติมและได้รับอนุมัติแล้ว พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลย แต่จำเลยให้การปฏิเสธ แม้โจทก์จะมิได้อ้างส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นพยาน แต่จำเลยก็มิได้นำสืบปฏิเสธข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งยังยอมรับว่าได้มีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยว่าร่วมสมคบกับผู้อื่นกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษเพราะได้มีการสมคบกันแล้ว จึงฟังได้ว่าได้มีการสอบสวนจำเลยในข้อหาสมคบกันตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ โดยชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1105/2543
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 174, 247
ในชั้นร้องขอฎีกาอย่างคนอนาถา จำเลยส่งสำเนาคำร้องและสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอฎีกาอย่างคนอนาถา ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลกึ่งหนึ่ง จำเลยนำเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่มิได้รับยกเว้นมาวางศาลแล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งให้รับเงินและรับฎีกาของจำเลยไว้แล้วดำเนินการออกหมายนัดแจ้งให้โจทก์ทราบกับกำหนดให้โจทก์แก้ฎีกาของจำเลยภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหมายนัดไม่มีเหตุต้องสั่งให้จำเลยนำส่งสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ซ้ำอีก อันเป็นคำสั่งที่ผิดหลงและเป็นเหตุให้จำเลยสำคัญผิดว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้นแล้วไม่จำต้องปฏิบัติซ้ำอีก ถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่ดำเนินคดีในการนำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1095/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 379, 383 วรรคสอง
ตามสัญญาจ้างระบุว่า หากผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างพ้นจากการเป็นพนักงานของผู้ว่าจ้างก่อนสิ้นอายุของสัญญา โดยผู้รับจ้างไม่ได้กระทำความผิดและหรือผู้ว่าจ้างยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาที่จะมอบหุ้นให้แก่ผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างเป็นเงินจำนวนหนึ่งภายใน 60 วัน นับแต่ผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างพ้นจากความเป็นพนักงานของผู้ว่าจ้าง ข้อความดังกล่าวเป็นการตกลงจะชำระเงินให้ผู้รับจ้างหากเลิกจ้างก่อนครบกำหนดตามสัญญาโดยผู้รับจ้างไม่มีความผิด และหรือผู้ว่าจ้างยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญา จึงมีลักษณะเป็นการทำสัญญากำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า ในกรณีผู้ว่าจ้างไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร อันเป็นเบี้ยปรับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงได้ตามที่เห็นสมควร ตามมาตรา 383 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1054/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56, 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 213, 225 พระราชบัญญัติการพนัน
พระราชบัญญัติการพนันฯ มาตรา 12(1) ได้กำหนดโทษผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นการพนันตามบัญชี ก. หมายเลข 11 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไปจนถึง5,000 บาท เว้นแต่ผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันที่เรียกว่าลูกค้าให้จำคุกไม่เกิน3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นการแยกบทกำหนดโทษสำหรับผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันที่ไม่ได้เรียกว่าลูกค้าเป็นบทหนึ่ง และสำหรับผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันที่เรียกว่าลูกค้าเป็นอีกบทหนึ่ง การที่จำเลยทั้งยี่สิบสองคนเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นการพนันป๊อกแปดเก้า โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และเป็นผู้เล่นหรือลูกค้าคนแทง จำเลยทั้งยี่สิบสองก็มีเพียงเจตนาเดียว คือ เข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นการพนันป๊อกแปดเก้า การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสองจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยทั้งยี่สิบสองคือ ความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ การที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งยี่สิบสองในความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และเป็นผู้เล่นหรือลูกค้าคนแทง รวม 2 กระทงนั้นเป็นการไม่ชอบและเนื่องจากเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีจึงให้มีผลถึงจำเลยอื่น ๆ ที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 7, ที่ 14 และที่ 16 กับพวกได้พร้อมอุปกรณ์การเล่นการพนันหลายรายการและยึดเงินสดที่ใช้เอาออกพนันได้ถึง 68,860 บาท แสดงว่าเป็นการพนันวงใหญ่ เล่นได้เสียกันเป็นจำนวนมาก ตามพฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับก่อนคดีนี้จำเลยที่ 7 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกและปรับฐานร่วมกันเล่นการพนันป๊อกแปดเก้าโดยไม่ได้รับอนุญาตและศาลชั้นต้นเคยปรานีรอการลงโทษ แต่จำเลยที่ 7 ยังมากระทำความผิดอย่างเดียวกันซ้ำอีกภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลรอการลงโทษในคดีก่อนจึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยที่ 7 ส่วนจำเลยที่ 14 และที่ 16ไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน อีกทั้งมีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่งและต่างก็ต้องเลี้ยงดูภรรยาซึ่งไม่ได้ประกอบอาชีพและบุตรซึ่งอยู่ในวัยศึกษาอีกคนละ 3 คน กรณีมีเหตุอันควรปรานี เพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับตัวเป็นพลเมืองดี สมควรรอการลงโทษจำเลยทั้งสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1059/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 879
แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะมิได้มีข้อกำหนดยกเว้นให้ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเหตุอันเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ขับขี่ไว้ก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 879 ก็ได้บัญญัติให้ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ จำเลยจึงยกขึ้นอ้างได้ แม้จะไม่ได้กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1058/2543
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 391 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 วรรคหนึ่ง
ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ต้องกู้ยืมเงินผู้อื่นมาชำระแก่จำเลยทั้งสามต้องเสียดอกเบี้ยกับขาดประโยชน์จากการนำที่ดินไปขายเอากำไร มิใช่ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญาดังโจทก์อ้างในคำฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้เรียกค่าเสียหายจากการไม่ได้รับดอกเบี้ยซึ่งอาจนำเงินที่ชำระแก่จำเลยทั้งสามไปฝากประจำธนาคารพาณิชย์ด้วย ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้