คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3293

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3293/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 220

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340, 340 ตรี, 83 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลย มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 295, 83 จำคุก 1 ปี ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 อีกกระทงหนึ่งเรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 จำคุก 1 ปี รวมเป็นจำคุก 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้นมีผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาปล้นทรัพย์ ต้องห้าม มิให้คู่ความฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ย่อมเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3146

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3146/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5), 218 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 13

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 ข้อหาฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับร่วมกันพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น ส่วนข้อหาฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยแก้โทษเฉพาะจำเลยที่ 2 และระยะเวลาการควบคุมเพื่อฝึกอบรมของจำเลยทั้งสองโดยลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน และให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมีกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำคนละ 2 ปี และขั้นสูงคนละ 3 ปี แม้ศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี แต่การที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษอาญาหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยโดยส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมีกำหนดคนละ 3 ปี แทนการลงโทษอาญาแก่จำเลยทั้งสองนั้น ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเกินห้าปี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลดโทษให้จำเลยที่ 2 และแก้กำหนดระยะเวลาส่งตัวจำเลยทั้งสองไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนขั้นต่ำคนละ 2 ปี และขั้นสูงคนละ 3 ปี เป็นการพิพากษายืนในเรื่องการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัย ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเกินห้าปี คู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 124 ประกอบมาตรา 6 และ ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไป ในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคนละ 50 บาท ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาลงโทษในความผิดฐานนี้จำคุกจำเลยทั้งสองเกินห้าปี คู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าพยานโจทก์ทุกปากมีพิรุธ ทั้งลักษณะแห่งคดีนับว่าเป็นพิรุธ ควรยกประโยชน์แห่งข้อสงสัยให้แก่จำเลยทั้งสอง เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล เป็นปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองมิได้กระทำผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร และที่จำเลยทั้งสองฎีกา ขอให้ลงโทษต่ำกว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนด เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว

ตาม ป.วิ.อ. แม้จะมิได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าหน้าที่หรือภาระการพิสูจน์ความผิดของจำเลยตกอยู่แก่โจทก์ แต่ตามมาตรา 158 (5) กำหนดให้คำฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิดนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีกับมาตรา 15 กำหนดว่า วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 กำหนดว่า ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใด ๆ เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตน ให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง แต่ว่า (1) คู่ความไม่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป หรือซึ่งไม่มีข้อโต้แย้งได้ หรือซึ่งศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้รับแล้ว (2) ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์แต่เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว ดังนั้น โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงตามที่กล่าวในคำฟ้อง

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีและใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสาม ทั้ง พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 13 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ออกใบอนุญาตตามความในหมวดนี้ (คือหมวด 1 อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน) แก่?(4) บุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ ?" ซึ่งบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ศาลย่อมรู้ได้เอง ประกอบกับข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่อาจโต้แย้งได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงเป็นที่เห็นได้ว่า นายทะเบียนอาวุธปืนย่อมไม่อาจออกใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืนให้แก่จำเลยทั้งสองได้ตามบทกฎหมายข้างต้นถือได้ว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนและพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3259

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3259/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 216, 387

เงื่อนไขการจะซื้อจะขายมีใจความว่า "รายการก่อสร้างและวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างห้องชุดผู้จะซื้อจะต้องเป็นไปตามรายการที่ระบุไว้ของห้องชุดในเอกสารแนบท้าย 2 แต่ผู้จะขายสงวนสิทธิที่จะใช้วัสดุและอุปกรณ์อื่นที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันแทนได้" เป็นเงื่อนไขกำหนดให้ผู้จะขายใช้วัสดุและอุปกรณ์อื่นแทนได้เฉพาะรายการก่อสร้างและวัสดุและอุปกรณ์ที่จะใช้ในการก่อสร้างห้องชุดของผู้จะซื้อเท่านั้น ตามเอกสารแนบท้ายสัญญา 2 รายการที่ระบุไว้ในรายการฝ้าเพดานระบุว่าส่วนกลางเป็นโครงสร้างอะลูมิเนียมทีบาร์บุยิปซัมบอร์ด จำเลยจึงไม่มีสิทธิก่อสร้างโดยใช้วัสดุและอุปกรณ์อื่นในทรัพย์ส่วนกลาง เมื่อปรากฏว่าเพดานคอนกรีตเสริมเหล็กที่เป็นทรัพย์ส่วนกลางก็คือโครงสร้างที่เป็นพื้นของห้องชุดชั้นที่อยู่เหนือขึ้นไปเท่ากับจำเลยมิได้ทำฝ้าเพดาน จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์มีสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จะบังคับให้จำเลยต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวได้

แม้จะมีข้อสัญญากำหนดไว้ให้เลิกสัญญาได้ในกรณีใดบ้าง หากมีกรณีที่ไม่ตรงตามข้อสัญญาแต่กลับตรงตามบทบัญญัติของกฎหมายก็สามารถเลิกสัญญาได้ เมื่อจำเลยมิได้ก่อสร้างฝ้าเพดานที่เป็นทรัพย์ส่วนกลางให้ถูกต้องตามข้อตกลงในสัญญาซึ่งเป็นเรื่องที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ซึ่งรวมถึงการชำระหนี้ที่ไม่ถูกต้องตามสัญญาด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ทั้งกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 216 ซึ่งเป็นเรื่องผลของการผิดนัดทำให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับประโยชน์จากการชำระหนี้ เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยก่อสร้างฝ้าเพดานอันเป็นทรัพย์ส่วนกลางให้ถูกต้องภายในกำหนด 1 เดือนอันเป็นระยะเวลาพอสมควรแต่จำเลยไม่ก่อสร้างให้ถูกต้อง โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้และไม่จำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการจะซื้อจะขายข้อ 6.3 ที่ว่า หากโจทก์จะเลิกสัญญาต้องบอกกล่าวจำเลยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 เดือนเพราะเป็นการเลิกสัญญาโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มิใช่การเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3241

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3241/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 379, 383

เมื่อสัญญากู้เงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ยังให้สิทธิผู้ให้กู้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ต่อเมื่อผู้กู้ผิดนัดเช่นนี้ มีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดไว้ล่วงหน้า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นจึงเป็นเบี้ยปรับเมื่อสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจปรับลดลงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3196

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3196/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1377, 1378

แม้การซื้อขายที่ดินมือเปล่าระหว่าง ส. บิดาโจทก์กับ ต. ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะเป็นโมฆะ แต่เมื่อ ต. ส่งมอบการครอบครองให้แก่ ส. ถือว่า ต. สละการครอบครองให้แก่ ส. แล้ว แม้มีข้อตกลงว่าเมื่อไถ่ถอนจำนองแล้ว จึงจะโอนที่ดินให้ ส. ก็เป็นเรื่องประสงค์ให้มีหลักฐานทางทะเบียนหลังจากที่ได้โอนสิทธิครอบครองแล้ว เพราะขณะนั้น ต. จำนองที่ดินไว้กับ พ. ไม่อาจโอนทางทะเบียนได้ มิใช่เงื่อนไขอันจะทำให้ กลายเป็นสัญญาจะซื้อขาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56, 295

การที่จำเลยใช้กระแสไฟฟ้าทำอันตรายแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นแม่ยายของจำเลยและมีอายุถึง 56 ปี จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแม้จะเป็นกระแสไฟฟ้าเพียง 12 โวลต์ ก็ตาม ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง หลังเกิดเหตุจำเลยไม่ได้แสดงความรับผิดชอบหรือรู้สำนึกในการกระทำความผิดด้วยการดูแลรักษาพยาบาลหรือชดใช้ค่าเสียหายหรือขอขมาต่อผู้เสียหายแต่ประการใดจนเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้ว จำเลยจึงได้นำบันทึกของผู้เสียหายที่ระบุว่าไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยมาแสดง การกระทำดังกล่าวของจำเลยมิได้ทำด้วยความรู้สำนึกในการกระทำความผิด แต่ทำเพื่อประโยชน์ในทางคดีของตนเท่านั้น จึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 285

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 284 - 285/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27 วรรคหนึ่ง, 246, 247

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 และจำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้ถูกต้องครบถ้วนเสียก่อน หากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมเสียให้งดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และส่งคืนศาลอุทธรณ์พร้อมด้วยสำนวน เพื่อดำเนินการต่อไป ปรากฏว่าจำเลยนำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระเพิ่มเพียงฝ่ายเดียวส่วนโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ชำระ ศาลชั้นต้นจึงให้งดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์ ต่อมาทนายโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มออกไปอีก 20 วัน ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 นำเงิน ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระภายใน 20 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ต่อมาศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาในหนังสือ ส่งสำนวนคืน โดยยังมิได้แจ้งให้โจทก์ที่ 1 ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ก่อน แต่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยฟังและถือว่าโจทก์ทั้งสองทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว กรณีเช่นนี้ถือว่า ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในเรื่องการพิจารณาคดี ศาลฎีกาจึงมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาการที่ผิดระเบียบดังกล่าว และสั่งแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย มาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 271

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 271/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21 (4), 23, 27, 253

การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายเวลาวางเงินนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ไม่ได้บัญญัติว่า ก่อนที่ศาลจะสั่งคำร้องต้องไต่สวนคำร้องดังกล่าวเสียก่อน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าจะทำการไต่สวนคำร้องดังกล่าวหรือไม่ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(4) การที่ศาลชั้นต้นไม่ไต่สวนคำร้องขอขยายเวลาวางเงินของโจทก์จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ส่วนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องฉบับลงวันที่20 ตุลาคม 2540 ของโจทก์ในรายงานกระบวนพิจารณาวันเดียวกันก็เพราะศาลชั้นต้นเห็นว่าข้ออ้างตามคำร้องของโจทก์ถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ อันเป็นเงื่อนไขที่ศาลจะสั่งอนุญาตให้ขยายเวลาวางเงินให้แก่โจทก์นั่นเอง และเมื่อศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องก็ต้องถือว่าโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่ให้วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 253 วรรคสาม โดยไม่จำต้องวินิจฉัยอีกว่าโจทก์มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงไม่วางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตามคำสั่งศาลหรือไม่ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องและคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 บัญญัติว่า การขยายระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนี้ให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษทนายโจทก์อ้างในคำร้องขอขยายเวลาวางเงินฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2540 ว่าตัวโจทก์อยู่ต่างประเทศทนายโจทก์ได้พยายามติดต่อตัวโจทก์ให้นำหลักประกันมาวางตามคำสั่งศาลหลายครั้งครั้งสุดท้ายที่ติดต่อกันตัวโจทก์แจ้งว่ายังไม่สามารถหาเงินมาวางศาลได้ ขอเวลารวบรวมและหาเงินประมาณ 2 เดือน โจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป หากแต่เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจทำให้ไม่อาจจัดหาเงินได้ ข้ออ้างดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3242

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3242/2543

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 82

ตามหนังสือรับสภาพหนี้เป็นเพียงจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของ ด. ยอมรับสภาพหนี้ของ ด. ต่อโจทก์ หากจะมีผลผูกพันจากการรับสภาพหนี้ กองมรดกของ ด. เท่านั้นที่จะต้องรับผิดในหนี้สินตามหนังสือรับสภาพหนี้ ไม่อาจถือได้ถึงขนาดว่าจำเลยที่ 4 ยอมเข้าผูกพันตนเป็นลูกหนี้แทนในลักษณะแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ โจทก์จึงนำหนี้ตามฟ้องมาฟ้องจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ด. ให้ล้มละลายไม่ได้ชอบที่จะฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของ ด. ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3237

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3237/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 80, 288

ผู้เสียหายมีบาดแผลฉีกขาดที่ด้านซ้ายของคอขนาดยาว 7 เซนติเมตรลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อคอและเส้นเลือดข้างคอ ตัดเส้นประสาทและกล้ามเนื้อข้างคอหลายมัด แพทย์ผู้ตรวจรักษาเบิกความว่าหากไม่ได้รับการรักษาโดยทันที อาจเสียเลือดและช็อคถึงแก่ชีวิตได้ ลักษณะบาดแผลที่ผู้เสียหายถูกฟัน ที่คอ แม้จะไม่ได้ความชัดว่าอาวุธที่ใช้ฟันดังกล่าวเป็นมีดหรือขวานก็ตาม แต่การที่จำเลยกับพวกใช้อาวุธดังกล่าวฟันไปที่คอของผู้เสียหายอันเป็น ส่วนสำคัญของร่างกายจนได้รับบาดแผลฉกรรจ์ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา โดยทันทีแล้วผู้เสียหายจะถึงแก่ความตาย ฟังได้ว่าจำเลยกับพวกกระทำการ ดังกล่าวโดยมีเจตนาฆ่า เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายจำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น

« »
ติดต่อเราทาง LINE