กฎหมายฎีกา ปี 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2970

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2970/2560

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1337 พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ม. 19 (8) กฎกระทรวง (พ.ศ.2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522

จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในฐานะผู้ซื้อสิทธิการเช่าจากโจทก์ผู้ได้สิทธิการเช่าจากรัฐจริง ซึ่งการโอนสิทธิการเช่านี้แม้มิได้ทำให้จำเลยมีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย แต่ข้อห้ามมิให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิการเช่าโอนสิทธิการเช่าไปยังบุคคลอื่นตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2540 ซึ่งออกตามความในมาตรา 19 (8) แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ย่อมมีผลให้โจทก์ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้โอนสิทธิการเช่าต้องสิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับมอบจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทันทีที่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นตามข้อ 11 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2469

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2469/2560

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 22 วรรคหนึ่ง

ป.อ. มาตรา 22 วรรคหนึ่ง เป็นบทกำหนดหลักเกณฑ์ในการบังคับโทษจำคุกว่าให้เริ่มนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยมีข้อยกเว้นในกรณีที่ศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น การใช้ดุลพินิจให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น จึงเป็นข้อยกเว้นไม่ให้เริ่มนับแต่วันมีคำพิพากษา โจทก์มีคำขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2554 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี และฟ้องโจทก์ก็บรรยายด้วยว่าระหว่างสอบสวนจำเลยถูกจำคุกอยู่ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรีที่เรือนจำจังหวัดอ่างทอง จำเลยเป็นคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2554 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี เห็นได้ชัดเจนว่า โจทก์พิมพ์เลข พ.ศ. ของคดีที่ขอให้นับโทษต่อผิดพลาดถือเป็นเรื่องเล็กน้อย ตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรีท้ายฎีกาโจทก์ ก็ระบุว่าเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี โดยจำเลยมิได้แก้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่น แม้จำเลยให้การรับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2554 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี ที่มีเลข พ.ศ. คลาดเคลื่อน แต่จำเลยย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี ศาลย่อมใช้ดุลพินิจให้เริ่มนับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437/2560

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (7), 123, 131 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 352

โจทก์ร่วมมีมติให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ของโจทก์ร่วม เป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ร่วมโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ซึ่งรวมเงิน 502,190 บาท ที่เป็นเงินของเดือนมกราคม 2556 ด้วย จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ส่วนการที่ประธานโจทก์ร่วมแจ้งต่อที่ประชุมว่าตรวจสอบพบจำเลยทั้งสองทุจริตยักยอกเงินนับจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 เป็นเงิน 3,686,160 บาท เป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุที่ประธานแจ้งที่ประชุมไม่ครบถ้วนเท่านั้น เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แม้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 โดยไม่ได้แจ้งถึงเดือนมกราคม 2556 ด้วยก็เป็นความคลาดเคลื่อนของพนักงานสอบสวนในการตรวจสอบและแจ้งข้อเท็จจริงแก่ผู้ต้องหา แต่หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของโจทก์ร่วมที่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกไม่ การดำเนินการของโจทก์ร่วมเป็นการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท ประจำเดือนมกราคม 2556 โดยชอบแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 407, 654 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ม. 3

โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2560

พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 ม. 3

พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3 บัญญัตินิยามของความลับทางการค้าว่า "ข้อมูลการค้าซึ่งยังไม่รู้จักกันโดยทั่วไป หรือยังเข้าถึงไม่ได้ในหมู่บุคคลซึ่งโดยปกติแล้วต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลดังกล่าว โดยเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากเป็นความลับ และเป็นข้อมูลที่ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ" โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่าข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อ ที่อยู่ และราคาค่าจ้างขนส่งตามฟ้อง ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความลับทางการค้า มีลักษณะครบถ้วนที่จะเป็นความลับทางการค้าตามที่มาตรา 3 ดังกล่าวกำหนดไว้ การที่พนักงานบริษัทโจทก์คนอื่นนอกเหนือจากจำเลยที่ 2 สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อ ที่อยู่ และราคาค่าจ้างขนส่งทั้งที่เป็นเอกสาร และเป็นข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาข้อมูลดังกล่าวไว้เป็นความลับ ข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อ ที่อยู่ และราคาค่าจ้างขนส่งตามฟ้องโจทก์ จึงไม่ใช่ความลับทางการค้า ตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2560

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15 ระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2556

แม้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ ที่ไม่ได้สืบพยานโดยใช้ระบบไต่สวนตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2556 ที่มีผลใช้บังคับภายหลังในระหว่างการพิจารณาคดี แต่เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้คัดค้านกระบวนพิจารณาดังกล่าวของศาลชั้นต้น และการสืบพยานของศาลชั้นต้นไม่มีคู่ความฝ่ายใดเสียหายหรือเสียความเป็นธรรม การเพิกถอนกระบวนพิจารณาจึงไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2408

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2408/2560

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 91, 157 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5)

คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองบรรยายถึงอำนาจหน้าที่ของจำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง ว่ามีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด และประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดร้อยเอ็ด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับพนักงานจ้าง แต่จำเลยใช้ตำแหน่งหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง เรียกประชุมข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง แล้วแจ้งต่อที่ประชุมว่าขอหักเงินโบนัสคนละ 5 เปอร์เซ็นต์ ของเงินโบนัสที่แต่ละคนจะได้รับ หากผู้ใดไม่จ่ายเงินให้จำเลยก็จะกลั่นแกล้งจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จนทำให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างทุกคน รวมทั้งโจทก์ทั้งสองต้องยอมจ่ายเงินโบนัสให้ เป็นการบรรยายถึงอำนาจหน้าที่ของจำเลยในการบริหารราชการในภาพรวมในฐานะที่จำเลยเป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กร แต่ใช้อำนาจหน้าที่ที่จำเลยมีไปในทางที่ผิดกฎหมายในลักษณะใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2407

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2407/2560

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 177 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 129

คดีที่จำเลยขอให้ถอดถอนโจทก์จากตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 129 เป็นเรื่องกล่าวหาการกระทำของโจทก์ขณะปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการมูลนิธิเป็นหลัก เมื่อได้ความว่าข้อความที่จำเลยเบิกความในคดีนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนโจทก์ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิ การที่จำเลยเบิกความจึงเป็นเพียงให้พฤติการณ์ของโจทก์ตามที่จำเลยกล่าวหาในขณะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเท่านั้น ลำพังพฤติการณ์ของโจทก์ตามที่จำเลยเบิกความยังไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังเป็นเหตุถอดถอนโจทก์ได้ ข้อความที่จำเลยเบิกความจึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีที่จะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

เมื่อข้อความที่จำเลยเบิกความไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี จึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยว่าข้อความนั้นเป็นความเท็จหรือไม่อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2406

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2406/2560

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 95, 360, 362 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 9, 108 ทวิ วรรคสอง

จำเลยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างคร่อมลำเหมืองที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2542 สำหรับความผิดข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตาม ป.อ. มาตรา 362 และมาตรา 360 เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ ความผิดฐานดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จในทันทีที่บุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ ส่วนการยึดถือครอบครองเป็นผลของการบุกรุก เมื่อจำเลยบุกรุกเข้าไปและทำให้เสียทรัพย์ โดยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างคร่อมลำเหมือง ที่เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2542 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ปี 2557 จึงเกินกำหนด 5 ปี และ 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิดข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้เสียหาย ทำลายทรัพย์ ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามลำดับ ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 ส่วนความผิดข้อหาเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ที่ดินของรัฐซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดที่มีขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองและยังคงมีอยู่ตลอดเวลาที่จำเลยครอบครอง แม้จำเลยจะครอบครองมานานเกิน 10 ปี คดีของโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 และ 108 ทวิ วรรคสอง ก็ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385/2560

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ม. 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง

การที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถขับรถบรรทุกสิบล้อ อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นที่ใช้เส้นทางเดินรถร่วมกับจำเลยได้ทุกขณะเพราะอาการมึนเมาเมทแอมเฟตามีนย่อมทำให้ขาดสติไม่สามารถใช้ความระมัดระวังในการขับรถได้อย่างเต็มที่ดังเช่นในภาวะที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวหรือมีเหตุอื่นก็ตาม ก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย

« »