กฎหมายฎีกา ปี 2562

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 265

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 265/2562

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคท้าย

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 (เดิม) ประกอบ 285 ซึ่งความผิดตามที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำที่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม) อันเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองอยู่ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบมาตรา 285 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามความผิดที่พิจารณาได้ความซึ่งมีอัตราโทษเท่ากันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3661

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3659 - 3661/2562

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 18 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 3 (15), 59

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติมาตรการทางกฎหมายไว้ 2 ส่วน ได้แก่ มาตรการทางอาญาฐานฟอกเงิน และมาตรการทางแพ่งที่ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยมาตรการส่วนหลังเป็นกระบวนการยึดทรัพย์สินทางแพ่ง (Civil forfeiture) ซึ่งพิจารณาตัวทรัพย์สินที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินว่ามีแหล่งที่มาจากการกระทำผิดอาญาที่เป็นความผิดมูลฐานของพระราชบัญญัติฉบับนี้หรือไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาความผิดของบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์ ซึ่งจะต้องพิสูจน์ตามหลักการพิสูจน์พยานหลักฐานในคดีอาญา มาตรการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินจึงมิใช่โทษทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 18 (5)

แม้ความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (15) จะบัญญัติเพิ่มเติมภายหลังจากที่ได้กระทำความผิด ก็ไม่ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล และเมื่อมีการบัญญัติเพิ่มเติมความผิดมูลฐานดังกล่าวย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับย้อนหลังไปทันที นับแต่วันที่มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3641

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3641/2562

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 277 วรรคสี่ (เดิม) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158

การที่ผู้เสียหายนอนอยู่ในห้องนอน โดยมีจำเลยทั้งสี่กับพวกนั่งดื่มสุรากันอยู่ที่หน้าห้องนอน แล้วจำเลยทั้งสี่กับพวกเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายในห้องนอนในลักษณะต่อเนื่องกันไปในเวลาใกล้ชิดติดต่อกัน ในสถานที่เดียวกัน จำเลยแต่ละคนกับพวกย่อมต้องรู้กันและตกลงกันในหมู่เพื่อนที่ร่วมดื่มสุราด้วยกันว่าผู้ใดจะกระทำชำเราผู้เสียหายก่อนหลังไม่ให้ผู้เสียหายมีโอกาสตั้งตัวเพื่อหลบหนีหรือขัดขืนได้ จำเลยแต่ละคนเดินสวนเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายในเวลา 1 ถึง 2 นาที หลังจากจำเลยคนก่อนกระทำชำเราเสร็จ แม้จะไม่มีจำเลยคนใดเข้าไปช่วยกันจับตัวหรืออยู่ด้วยในเวลาที่มีการกระทำชำเราของจำเลยแต่ละคน แต่มิได้หมายความว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะไม่ได้วางแผนร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหาย เพราะจำเลยแต่ละคนได้กระทำการดังกล่าวจนครบทุกคน ถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกกระทำชำเราผู้เสียหายด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงแล้ว

เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่กับพวกเป็นการกระทำโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมผู้เสียหาย และระบุมาตรา 277 มาในคำขอท้ายฟ้องแล้ว ศาลย่อมลงโทษตามวรรคที่ถูกต้องได้ และฟังได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2892

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2892/2562

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคท้าย, 225

การยิงปืนขึ้นฟ้าของจำเลยเป็นการยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 376 เมื่อคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยใช้อาวุธปืนยิงทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เท่ากับความผิดตามที่ฟ้องรวมการกระทำความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุด้วย แม้โจทก์มิได้มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวด้วย แต่เมื่อความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามฟ้องรวมการกระทำความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองด้วย กรณีไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษในข้อเท็จจริงตามที่พิจารณาได้ความ ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1747

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1747/2562

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 , 177 วรรคสอง

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์แล้ว โจทก์ฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองเกินหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกรบกวนและแย่งการครอบครอง โจทก์หมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครอง ขอให้พิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดิน… ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การและฟ้องแย้งที่ระบุว่าที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิเป็นของจำเลย จึงขัดแย้งกันเอง เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แล้วจำเลยแย่งการครอบครองหรือที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทและโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 หรือไม่ เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์และโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกินหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ขาดสิทธิฟ้องร้องไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2108

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2108/2562

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 3 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ม. 62, 106 ทวิ พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ม. 16 วรรคหนึ่ง, 118

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 106 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 4, 16 วรรคหนึ่ง, 88 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดยมีกำหนดโทษตามมาตรา 118 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดจึงเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 มากกว่า พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2070

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2070/2562

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 125 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 27 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ม. 5, 212

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้น ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้" หากโจทก์เห็นว่าบทบัญญัติตามมาตรา 125 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โจทก์จะต้องโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลและขอให้ศาลส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย แต่โจทก์อุทธรณ์ทำนองว่า บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 5 ประกอบมาตรา 26 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และมาตรา 27 ไม่อาจบังคับได้ และขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำสั่งกลับหรือแก้คำสั่งของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ที่จะให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำสั่งกลับหรือแก้คำสั่งของศาลแรงงานกลาง มิได้ประสงค์ให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้" และมาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติต่อไปว่า "เมื่อคดีถึงที่สุดและนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้แก่ลูกจ้าง… ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลให้แก่ลูกจ้าง… แล้วแต่กรณี" ที่บทบัญญัติมาตรา 125 วรรคสามและวรรคสี่ ได้กำหนดไว้ดังกล่าวก็มีเจตนารมณ์มุ่งหมายที่จะคุ้มครองลูกจ้างให้ได้รับเงินตามจำนวนที่พนักงานตรวจแรงงานสั่งให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างเมื่อคดีถึงที่สุดทันที โดยลูกจ้างไม่ต้องเสียเวลาไปฟ้องคดีบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวอีก ทั้งยังเป็นการป้องกันมิให้นายจ้างประวิงเวลาในการจ่ายเงินอันเป็นการสร้างภาระแก่ลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับเงินตามกฎหมายจากนายจ้าง และในกรณีที่นายจ้างฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน หากศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานแล้ว นายจ้างก็สามารถรับเงินจำนวนที่วางศาลไว้คืนไปได้โดยไม่เกิดความเสียหายแต่อย่างใด บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวนี้จึงไม่เป็นการจำกัดสิทธินายจ้างในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งเป็นธรรมแก่นายจ้างและลูกจ้างทั้งสองฝ่าย สำหรับที่ดินที่โจทก์ขอวางต่อศาลแทนเงินนั้น หากภายหลังคดีถึงที่สุดและโจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง ก็ต้องมีการบังคับคดีนำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่ลูกจ้างต่อไป ซึ่งอาจขายทอดตลาดไม่ได้ราคาไปชำระหนี้ครบตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานก็ได้ ที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่วัตถุที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายทำนองเดียวกับเงินซึ่งศาลสามารถนำมาจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันที นอกจากนี้เงินจำนวนที่โจทก์ต้องนำมาวางศาลนั้นมิใช่เงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 27 กำหนดให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระเมื่อฟ้องคดีต่อศาลแรงงานแต่อย่างใด จึงมิอาจนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับยกเว้นการวางเงินให้แก่โจทก์ได้

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง" และวรรคสามบัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้" บทบัญญัติดังกล่าวมานี้ได้กำหนดอย่างชัดแจ้งว่า ในกรณีที่นายจ้างไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง และนายจ้างประสงค์จะนำคดีไปสู่ศาลแรงงานเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งนั้น นายจ้างจะต้องวางเงินตามจำนวนที่นายจ้างประสงค์จะโต้แย้งต่อศาล ซึ่งอาจเป็นจำนวนทั้งหมดตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานหรือเพียงบางส่วนก็ได้ หากนายจ้างไม่ประสงค์จะโต้แย้งเงินจำนวนใดตามคำสั่งก็ไม่ต้องวางเงินจำนวนนั้น ซึ่งหมายความว่านายจ้างพอใจที่จะจ่ายเงินจำนวนที่ไม่โต้แย้งนี้ให้แก่ลูกจ้างโดยไม่ประสงค์ให้ศาลเพิกถอนคำสั่งในส่วนของเงินจำนวนที่ไม่โต้แย้งนี้นั่นเอง หากโจทก์ประสงค์จะขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตามคำสั่งที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินแก่ผู้ร้องทั้ง 82 ราย โจทก์ก็ต้องวางเงินจำนวนตามคำสั่งทั้งหมดทุกราย จะขอวางเพียง 2 รายแล้วขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้โจทก์จ่ายเงินให้แก่ผู้ร้องทุกรายไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1738

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1738/2562

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 171, 368

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงซื้อขายเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 เมื่อจำเลยทั้งสองให้การและนำสืบพยานหลักฐานรับแล้วว่า การผลิตและส่งมอบเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงทุกต้นให้แก่โจทก์เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ประกอบกับก่อนการซื้อขายเสาเข็มพิพาทมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 3568 (พ.ศ.2549) ให้ยกเลิกเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2524 และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ซึ่งจำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับว่า มีการยกเลิกการอนุญาตให้ผลิตเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2524 แล้วกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 โดยกฎหมาย ดังนั้น แม้ว่าตามใบเสนอราคา/อนุมัติสั่งซื้อจะมิได้ระบุการซื้อขายเป็นการซื้อขายเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ก็ต้องตีความการซื้อขายนี้ตามเจตนาของโจทก์และจำเลยทั้งสองขณะมีการทำสัญญา โดยมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมควบคุมการแสดงเจตนา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 708

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 708/2562

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83

ขณะที่จำเลยที่ 1 วิ่งตรงเข้าไปใช้มีดแทงทำร้ายโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 ถือไม้กระบองยืนคุมเชิงอยู่ตรงที่เกิดเหตุและตะโกนห้ามมิให้ใครเข้ามายุ่งเกี่ยว แสดงว่าพร้อมจะให้ความช่วยเหลือได้ทันที พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า เป็นการร่วมมือร่วมใจและแบ่งหน้าที่กันทำ อันมีลักษณะเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1308

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1308/2562

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 วรรคสาม

อ. ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้ถูกกลฉ้อฉลหรือถูกหลอกลวงแต่ประการใด และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์หาใช่ครอบครองแทนบุคคลอื่นไม่ ที่ดินตามฟ้องจึงไม่เป็นทรัพย์มรดกของ อ. ที่จะตกได้แก่ทายาท เมื่อที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจแบ่งแยก โอนขายหรือให้บุคคลใดเข้ามาถือกรรมสิทธิ์รวมหรือจะทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินของตนได้ เมื่อที่ดินพิพาทไม่เป็นทรัพย์มรดกของ อ. โจทก์ทั้งสองจึงไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิ จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 1 รวมทั้งไม่อาจฟ้องบังคับให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของรวมในที่ดินด้วย และเมื่อจำเลยที่ 1 บอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป

« »