กฎหมายฎีกา ปี 2562

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5794

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5794/2562

พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ม. 42/1

เงินบำเหน็จจากการลาออกจากการรับราชการที่จำเลยที่ 1 ได้รับเข้าลักษณะเป็นเงินอื่นใดที่ถึงกำหนดจ่ายให้สมาชิกนั้น ตามมาตรา 42/1 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้สามัญกับโจทก์ตกลงกันว่าถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น จำเลยที่ 1 ยอมให้เจ้าหนี้ที่ผู้จ่ายเงินรายเดือน บำเหน็จ บำนาญ หรือเงินอื่นใดที่ทางราชการจะพึงจ่ายแก่จำเลยที่ 1 หักเงินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยและอุปกรณ์แห่งหนี้ตามสัญญากู้นี้ให้แก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อนได้ โดยให้ถือสัญญากู้นี้เป็นหลักฐานในการยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินของทางราชการเพื่อรับเงินและชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จะไม่ยกข้ออ้างใดที่จะพึงมีมาเป็นข้อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินของทางราชการ ตามข้อความดังกล่าวแสดงถึงโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกได้ทำหนังสือยินยอมไว้กับโจทก์แล้ว ดังนั้น เพื่อให้ได้รับชำระหนี้โจทก์ต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ให้หักเงินบำเหน็จเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นระงับสิ้นไป และผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ต้องหักเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เป็นลำดับแรก ถัดจากเจ้าหนี้ภาษีอากรและหักเข้ากองทุนที่จำเลยที่ 1 ต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกฎหมายอื่น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองระบบสหกรณ์ที่จะดำเนินกิจการส่งเสริมประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและสมาชิกช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ตามมาตรา 42/1 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 และข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้สามัญอันเป็นกฎหมายบัญญัติเพื่อรับรองสิทธิโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2562

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 681/1, 686

สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาตามสัญญาค้ำประกันที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 บัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันก่อนใช้สิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ และหากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการบอกกล่าวก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ส่วนหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 เป็นการบอกกล่าวเกินกำหนด 60 วัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิดเฉพาะแต่ดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดดังกล่าว แต่หน้าที่ในการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน หาใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ ตามมาตรา 686 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5788

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5788/2562

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 681/1, 686

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเป็นประกันการชำระหนี้และการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด หากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ภายหลังที่พระราชบัญญัติฯ ใช้บังคับแล้ว และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการบอกกล่าวล่วงพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน มิใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5778

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5778/2562

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 241 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 94

ตาม ป. ที่ดิน มาตรา 94 บัญญัติแต่เพียงว่า บรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับอนุญาต ให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น ตามบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้อธิบดีกำหนดเวลาไว้เพื่อมิให้โจทก์จำหน่ายที่ดินเกินกำหนดเวลาเท่านั้น หาได้มีบทบัญญัติใดห้ามมิให้โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวทำการจำหน่ายก่อนมีการกำหนดเวลา ฉะนั้น ถึงแม้อธิบดียังไม่ได้กำหนดเวลา โจทก์ก็สามารถดำเนินการขายที่ดินพิพาทได้ หากจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิ ก็เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีคำขอให้จำเลยส่งมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทและให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

เมื่อคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากทรัพย์พิพาท ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วโดยมีคำวินิจฉัยว่า แม้โจทก์เป็นคนต่างด้าวถูกจำกัดสิทธิมิให้ถือหรือใช้ที่ดินที่ได้มาอย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ก็มิใช่ว่าการได้มาซึ่งที่ดินนั้นจะไม่มีผลเสียเลย เพียงแต่ต้องบังคับตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 ที่บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด เห็นได้ว่าตามประมวลกฎหมายที่ดินมิได้ห้ามขาดไม่ให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นแต่เพียงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวง และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น แต่ในกรณีของโจทก์เป็นการได้ที่ดินกลับคืนมาโดยคำพิพากษาของศาล จึงถือว่าโจทก์เป็นคนต่างด้าวที่ได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้มาโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น โจทก์จึงต้องปฏิบัติตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 กล่าวคือ โจทก์ในฐานะคนต่างด้าวต้องจัดการจำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ในกรณีของโจทก์ได้ดำเนินการแล้ว โดยมีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินขอให้กำหนดระยะเวลาการจำหน่ายที่ดินตามคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง แจ้งว่ายังไม่มีคำสั่งกำหนดระยะเวลาการจำหน่ายที่ดินของผู้ว่าราชการจังหวัดผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมที่ดิน แต่ถึงแม้ยังไม่มีคำสั่งกำหนดระยะเวลาการจำหน่าย โจทก์สามารถจำหน่ายที่ดินดังกล่าวได้โดยตรง ดังนั้น เมื่อโจทก์หรืออธิบดีกรมที่ดินยังไม่ได้จำหน่ายทรัพย์พิพาท จึงถือได้ว่าทรัพย์พิพาทยังเป็นของโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา การที่จำเลยยังคงครอบครองทรัพย์พิพาทโดยไม่มีสิทธิจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาให้ที่ดินเป็นของโจทก์อันเป็นการรับรองสิทธิของโจทก์ในที่ดินแปลงดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินอีกต่อไป ต้องส่งมอบคืนแก่โจทก์ ส่วนคำพิพากษาของศาลแพ่งที่พิพากษาให้โจทก์ใช้ราคาแก่จำเลยนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยต้องไปบังคับคดีเอาแก่โจทก์ หาใช่ข้ออ้างที่จะยึดหน่วงทรัพย์พิพาทในคดีนี้ไม่ เป็นคนละกรณีกัน จำเลยจึงยังคงมีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ กรณีหาใช่หนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครองนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 ไม่ จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 632

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 632/2562

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 วรรคสอง, 249 วรรคหนึ่ง (เดิม)

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างปรับปรุงถนนและภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัยพะเยา โจทก์ไม่ใช่ผู้ก่อสร้าง เอกสารราคาค่าก่อสร้างเป็นการกะประมาณราคา ไม่ใช่ราคาวัสดุและค่าแรงงานที่โจทก์ได้จ่ายไปจริง โจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับเหมาช่วงหรือลูกจ้าง หรือคู่สัญญากับจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองเป็นผู้ก่อสร้างโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองเองทั้งสิ้น ซึ่งเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองให้การอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องใช้ค่าเสียหายหรือค่าจ้างแก่โจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับเหมาช่วงหรือคู่สัญญากับจำเลยทั้งสอง มิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธว่าโจทก์ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จแต่อย่างใด การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า โจทก์ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จจึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องชำระค่าจ้างเนื่องจากโจทก์ทำงานไม่แล้วเสร็จ จึงถือได้ว่าเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/2562

พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ม. 19 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 57, 91

แม้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า เดิมจำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขที่พนักงานสอบสวนต้องนำตัวจำเลยไปศาลเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งตัวจำเลยไปรับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีก็มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยเฉพาะในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน แล้วโอนคดีมาให้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนที่ศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้ ย่อมมีผลเท่ากับว่าจำเลยไม่เคยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก เมื่อความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหาดำเนินคดีคงเหลือเฉพาะความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ก่อน โดยต้องให้พนักงานสอบสวนรับตัวจำเลยกลับไปเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดต่อไป การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5776

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5776/2562

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304 (2), 1305 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 87 (1), 142 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 8 วรรคสอง (1)

เมื่อทางพิพาทส่วนแรกเป็นทางสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตั้งแต่ก่อนจำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินมาจากเจ้าของเดิม ย่อมต้องยังคงสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตลอดไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 และ ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) บุคคลใดย่อมไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ในทางดังกล่าวได้ ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะทำหนังสืออุทิศทางพิพาทส่วนที่ 2 โดยมีเจตนาให้ใช้แทนทางพิพาทส่วนแรกตามคำแนะนำขององค์การบริหารส่วนตำบลบางขุนกอง ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจมีผลให้ทางพิพาทส่วนแรกที่ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันนั้นกลับเป็นของจำเลยทั้งสองได้ เมื่อพิจารณาหนังสือแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองดังกล่าว ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยินยอมให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชน โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่คัดค้านการใด ๆ ข้อความดังกล่าวมีความหมายโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยทั้งสองยอมอุทิศทางพิพาทส่วนที่ 2 ให้เป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ทางพิพาทส่วนที่ 2 จึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ทันทีที่จำเลยทั้งสองทำหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว แม้จะเป็นการกระทำหลังวันฟ้องคดีนี้ และคดีที่จำเลยทั้งสองฟ้องต่อศาลปกครองขอเพิกถอนเกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาเฉพาะทางพิพาทส่วนที่ 2 อยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม แต่ทางพิพาทส่วนที่ 2 ก็ยังไม่ได้ถูกถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 และ ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) ทางพิพาทส่วนที่ 2 จึงยังคงเป็นทางสาธารณะ ซึ่งเกิดจากการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งของจำเลยทั้งสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทส่วนที่ 2 เป็นทางสาธารณะ จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนตามทางนำสืบของคู่ความ มิได้เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือพิพากษาเกินคำขอในส่วนทางพิพาทส่วนที่ 2 นี้เช่นกัน การที่จำเลยทั้งสองสร้างกำแพงปิดทางพิพาทบางส่วนย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ในการใช้ทาง จำเลยทั้งสองย่อมต้องรื้อถอนออกไปและรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5699

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5699/2562

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 108, 110

โจทก์บรรยายฟ้อง ข้อ (ก) ว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสอง โดยนำน้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเครื่องจากแหล่งผลิตอื่นมาบรรจุในกระป๋องน้ำมันและขวดน้ำมัน ซึ่งเป็นภาชนะผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสองที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำปลอมขึ้นดังกล่าว แล้วปิดผนึกฝากระป๋องหรือฝาขวดด้วยเครื่องผนึกอลูมิเนียม แล้วนำไปบรรจุใส่กล่องหรือลังกระดาษจนสำเร็จเป็นสินค้าน้ำมันหล่อลื่นที่มีเครื่องหมายการค้ายี่ห้อเวลลอย ซุปเปอร์ทู ที โลวส์โม๊ค ขนาด 0.5 ลิตร จำนวน 1,824 ขวด น้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อฮาโวลีน ขนาดบรรจุ 0.5 ลิตร จำนวน 40 ขวด และมีสติกเกอร์ยี่ห้อฮาโวลีนจำนวน 4,800 แผ่น แผ่นฟอยล์ปั๊มปิดฝาขวดยี่ห้อคาร์ลเท็กซ์จำนวน 5,000 แผ่น สติกเกอร์ยี่ห้อคาร์ลเท็กซ์จำนวน 300 แผ่น ใบปะหน้าสินค้ายี่ห้อเวลลอยจำนวน 300 แผ่น ฟอยล์ปั๊มปิดฝาขวดน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอยจำนวน 1,000 ชิ้น ฝาปิดขวดน้ำมันเครื่องยี่ห้อเวลลอยสีแดงจำนวน 15,000 ฝา ขวดเปล่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอยสีแดงจำนวน 2,220 ขวด ขวดเปล่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อฮาโวลีนสีดำจำนวน 100 ขวด ขวดเปล่าน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอยสีขาวจำนวน 50 ขวด กล่องกระดาษบรรจุสินค้ายี่ห้อเวลลอยจำนวน 80 ใบ กล่องกระดาษบรรจุสินค้ายี่ห้อฮาโวลีนจำนวน 115 ใบ ฉลากปิดขวดน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอย 2T ภาษาอังกฤษจำนวน 1,050 แผ่น ฉลากปิดขวดน้ำมันหล่อลื่นยี่ห้อเวลลอย ภาษาไทยจำนวน 30,000 แผ่น ภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสองที่จำเลยทั้งห้าทำปลอมขึ้นเพื่อจำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งสอง และโดยจำเลยทั้งห้ารู้อยู่แล้วว่าเป็นการปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสอง เพื่อให้ผู้อื่นหรือประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าและเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายทั้งสอง และขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และมาตรา 110 ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 และฐานร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ไว้ครบถ้วนแล้ว และประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานดังกล่าวด้วย เมื่อจำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4978

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4978/2562

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80, 86, 289 (4) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 44/1

แม้จำเลยที่ 3 ร่วมกันวางแผนกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกเพื่อกระทำความผิด โดยจำเลยที่ 3 มีส่วนรู้เห็นมาตั้งแต่ต้น แต่ขณะที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยที่ 3 จอดรถรอที่ซุ้มประตูบ้านโคกตาลเพื่อคอยดูเส้นทางให้จำเลยที่ 4 กับพวกเท่านั้น มิได้ร่วมขับรถจักรยานยนต์ไล่ติดตามรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับ บริเวณที่จำเลยที่ 3 จอดรถคอยดูเส้นทางให้ มิได้อยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุในลักษณะที่จำเลยที่ 3 พร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกในขณะกระทำความผิดได้ในทันที จึงไม่ใช่เป็นการแบ่งหน้าที่กันทำอันจะเป็นตัวการในการกระทำความผิดได้ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นเพียงการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกกระทำความผิด จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเท่านั้น และแม้จำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาเรื่องค่าสินไหมทดแทน ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นเพื่อชดใช้แก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 แต่ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ศาลต้องกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด จำเลยที่ 3 จึงควรต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ตามสัดส่วนของการกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4839

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4839/2562

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 40, 44/1 วรรคหนึ่ง, 46 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 248 วรรคหนึ่ง

การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่โจทก์ร่วมเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา แต่หากคดีอาญาต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คดีนี้คดีส่วนอาญาต้องห้ามฎีกา การพิจารณาคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2558 ก่อนที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับ สิทธิในการฎีกาจึงเป็นไปตามกฎหมายฉบับเดิมก่อนมีการแก้ไข ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 100,000 บาท เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องอันเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะฟ้องคดี ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

« »