คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10469/2556
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 5 (2), 44/1, 195 วรรคสอง, 225
เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตาย และไม่มีอำนาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ดังนั้นโจทก์ร่วมไม่อาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ในคดีนี้ ชอบที่จะไปว่ากล่าวในคดีส่วนแพ่งต่างหาก ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นายสมศรี บิดาของนายจุมพล ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพเป็นเงิน 100,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดู เป็นเงิน 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และปรับ 8,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยชำระเงินค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ร่วม 210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะคดีในส่วนแพ่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องในคดีส่วนแพ่ง และยกคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมของนายสมศรี คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยทั้งหมด
โจทก์ร่วมฎีกาเฉพาะในคดีส่วนแพ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ผู้ตายมีส่วนกระทำโดยประมาท ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุพการีย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 และยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนายสมศรี โจทก์ร่วมไม่ฎีกาในปัญหานี้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายและไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ ดังนี้ โจทก์ร่วมจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 เข้ามาในคดีอาญานี้ได้ ชอบที่จะไปว่ากล่าวคดีส่วนแพ่งต่างหากจากคดีนี้ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของนายสมศรีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วมอีก
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.993/2556
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิ โจทก์ร่วม - นายสมศรี เกตุมณี จำเลย - นางสาวจุฬาลักษณ์ สุขกรณ์
ชื่อองค์คณะ ธงชัย เสนามนตรี อภิรัตน์ ลัดพลี พศวัจณ์ กนกนาก
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดชัยภูมิ - นายพูนพล ชมศร ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายเธียรดนัย ธรรมดุษฎี