คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10974/2557
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5) ประมวลกฎหมายอาญา ม. 264, 268, 269
ฟ้องโจทก์ทั้งสองบรรยายโดยชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่มีการกรอกข้อความขึ้นทั้งฉบับ โดย ท. ไม่ได้ยินยอมด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 จะปลอมหนังสือมอบอำนาจขึ้นทั้งฉบับด้วยวิธีการใดหรือปลอมหนังสือมอบอำนาจโดยหลอกลวงให้ ท. ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์ทั้งสองสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ทั้งเมื่ออ่านฟ้องโจทก์ทั้งสองดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 ย่อมเข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 1 ปลอมหนังสือมอบอำนาจของ ท. ขึ้นทั้งฉบับ ไม่มีทางที่จำเลยที่ 1 จะเข้าใจฟ้องเป็นสองนัยอันจะพึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลงข้อต่อสู้แต่ประการใด ฟ้องโจทก์ทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจจึงไม่ขัดแย้งกันในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในการกระทำความผิด จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 264, 268, 269
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาตและมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมเอกสาร จึงให้ลงโทษฐานปลอมเอกสาร แต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 6 เดือน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นได้ว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองบรรยายโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่มีการกรอกข้อความขึ้นทั้งฉบับโดยนางสาวทองหล่อไม่ได้ยินยอมด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 จะปลอมหนังสือมอบอำนาจขึ้นทั้งฉบับด้วยวิธีการใดหรือปลอมหนังสือมอบอำนาจโดยหลอกลวงให้นางสาวทองหล่อลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์ทั้งสองสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ทั้งเมื่ออ่านฟ้องโจทก์ทั้งสองดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 ย่อมเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 1 ปลอมหนังสือมอบอำนาจของนางสาวทองหล่อขึ้นทั้งฉบับ ไม่มีทางที่จำเลยที่ 1 จะเข้าใจฟ้องเป็นสองนัยอันจะพึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลงข้อต่อสู้แต่ประการใด ฟ้องโจทก์ทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจจึงไม่ขัดแย้งกันในข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในการกระทำความผิด จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 เมื่อฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารชอบด้วยกฎหมายดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมจึงชอบด้วยกฎหมายด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น และศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 หากศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวแล้ว คดีอาจมีผลต่อการฎีกาตามกฎหมายได้ จึงสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาพิพากษาใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1373/2557
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นายเฉลิม สุขานันท์ กับพวก จำเลย - นายบุญฉัตร สุขานันท์ กับพวก
ชื่อองค์คณะ อดิเทพ ถิระวัฒน์ พิศล พิรุณ ไมตรี สุเทพากุล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสมุทรสงคราม - นายนัฐวุฒิ มหาเจริญสิริ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 - นายวีระพงศ์ สุดาวงศ์