คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1104/2541
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1207
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของบริษัท ร.ข้อบังคับของบริษัทร. ระบุว่าการประชุมกรรมการต้องมีคณะกรรมการเข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงจะเป็นองค์ประชุมปรึกษากิจการได้แต่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า บริษัท ร. มีกรรมการรวม4 คน การปรึกษากิจการระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2จึงครบเป็นองค์ประชุมตามข้อบังคับของบริษัทแล้ว จำเลยหาได้ให้การต่อสู้คดีว่ามีการเรียกประชุมไม่ การที่จำเลยนำสืบว่า มีการนัดเรียกหรือประชุมกรรมการก่อนจึงรับฟังไม่ได้ดังนั้น เมื่อการนัดเรียกในการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของบริษัทและฝ่าฝืนต่อกฎหมายแล้วการประชุมดังกล่าวจึงเป็นการประชุมไม่ชอบ
โจทก์ฟ้องว่า บริษัท รัตนชัยรุ่งเรือง จำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2529 ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้น 8 คน มีโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และ ที่ 2เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2536 จำเลยที่ 1 ได้ออกหนังสือเชิญประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2536 โดยอ้างว่าคณะกรรมการบริษัทมีมติให้เรียกประชุม โดยนัดประชุมในวันที่ 30 พฤษภาคม 2536เมื่อถึงวันเวลานัดได้มีการจัดให้มีการประชุมโดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 6 คน คือจำเลยทั้งหก และได้มีมติในวาระต่าง ๆ กันรวม 6 วาระจำเลยที่ 1 ออกหนังสือเชิญประชุมใหญ่สามัญประจำปีโดยอ้างว่ามีมติของคณะกรรมการโดยไม่มีการเรียกประชุมกรรมการก่อน การออกหนังสือเชิญประชุมดังกล่าวจึงฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทและไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2536 ของบริษัท รัตนชัยรุ่งเรือง จำกัด ทุกวาระการประชุม
จำเลยที่ 1 ให้การว่า บริษัทรัตนชัยรุ่งเรือง จำกัดได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2529 หลังจากจดทะเบียนแล้วได้มีการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2530มีมติเอกฉันท์ให้กรรมการของบริษัทพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีทุกครั้ง และหลังจากนั้นได้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีในปีถัดมาทุกครั้งตลอดมา และกรรมการบริษัทจะต้องออกจากตำแหน่งทั้งหมดเมื่อมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี จนกระทั่งถึงวันที่ 10กรกฎาคม 2535 บริษัทมีกรรมการรวมทั้งหมด 4 คน คือโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการโจทก์ที่ 2 เป็นรองประธานกรรมการ โจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 2 เป็นรองกรรมการผู้จัดการ โจทก์คนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยคนใดคนหนึ่งและประทับตราของบริษัทกระทำกิจการแทนบริษัทได้ การประชุมกรรมการต้องมีกรรมการประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นองค์ประชุม จำเลยที่ 1 ในฐานะประธานแจ้งมติคณะกรรมการของบริษัทให้เรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2536 โดยออกหนังสือเชิญประชุมลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2536 กำหนดประชุมวันที่ 30 พฤษภาคม 2536เวลา 12.30 นาฬิกา ณ โรงแรมไวท์ออร์คิด ซึ่งได้ส่งหนังสือเชิญประชุมดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยชอบแล้ว การปรึกษากิจการในระหว่างกรรมการจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทและได้ประชุมปรึกษากัน ซึ่งชอบด้วยข้อบังคับของบริษัทแล้วและการประชุมใหญ่ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2536 เวลา 12.30 นาฬิกามีผู้ถือหุ้นรวม 6 คน เข้าร่วมประชุมซึ่งผู้เข้าประชุมดังกล่าวถือหุ้นรวม 500 หุ้น จาก 1,000 หุ้น ในที่ประชุมได้มีมติให้โจทก์ทั้งสองพ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทเป็นการลงมติตามระเบียบการประชุมในวาระการประชุม ข้อ 4และเป็นการถือปฏิบัติตามที่ได้ลงมติในที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2530 โดยตลอดมาด้วย และที่ประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างก็เป็นการประชุมอยู่ในระเบียบวาระการประชุม ข้อ 2 หรือถึงแม้จะไม่อยู่ในระเบียบวาระการประชุม แต่การประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นก็ย่อมประชุมปรึกษาหารือกันได้เพราะที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้นทั้งปวงมีอำนาจครอบงำเกี่ยวกับการจัดการของบริษัทดังกล่าว การกระทำดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ในฐานะประธานกรรมการบริษัทเรียกประชุมบรรดาผู้ถือหุ้นจึงเป็นการเรียกประชุมโดยชอบแล้วทั้งการออกหนังสือเชิญประชุมไม่ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทและการประชุมใหญ่และมีมติออกมาก็เป็นไปตามระเบียบวาระที่ได้แจ้งให้ทราบก่อนแล้ว การลงมติดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและจำเลยที่ 3ถึงที่ 6 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2536 ของบริษัทรัตนชัยรุ่งเรือง จำกัด
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งหกเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทรัตนชัยรุ่งเรือง จำกัด มีโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นกรรมการของบริษัท เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2536 จำเลยที่ 1ได้ออกหนังสือบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2536 นัดประชุมในวันที่ 30 พฤษภาคม 2536 เวลา12.30 นาฬิกา ณ โรงแรมไวท์ออร์คิด และโจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือนัดประชุมแล้ว ถึงวันนัดได้มีการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2536
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นข้อแรกว่าการนัดเรียกในการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2536ได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัทหรือไม่ เห็นว่า ข้อบังคับของบริษัทรัตนชัยรุ่งเรือง จำกัด ตามเอกสารหมาย ล.14 ข้อ 8 ระบุว่า การประชุมกรรมการต้องมีคณะกรรมการเข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงจะเป็นองค์ประชุมปรึกษากิจการได้จำเลยที่ 1 เบิกความว่า ก่อนประชุมใหญ่สามัญ พยานได้เรียกประชุมกรรมการโดยทางโทรศัพท์ แต่ในคำให้การของจำเลยที่ 1 ระบุว่าบริษัทรัตนชัยรุ่งเรือง จำกัด มีกรรมการรวม 4 คน ดังนั้นการปรึกษากิจการระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงครบเป็นองค์ประชุมตามข้อบังคับของบริษัทแล้ว เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างก็เป็นกรรมการของบริษัท ประชุมปรึกษากิจการกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมด หาได้ระบุว่ามีการเรียกประชุมไม่ เมื่อพิจารณาประกอบกับจำเลยที่ 1 ไม่มีรายงานการประชุมกรรมการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1207มาแสดง ศาลฎีกาจึงไม่เชื่อว่ามีการนัดเรียกหรือประชุมกรรมการก่อนดังนั้น เมื่อการนัดเรียกในการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2536 ได้ฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของบริษัทและฝ่าฝืนต่อกฎหมายแล้ว การประชุมดังกล่าวจึงเป็นการประชุมไม่ชอบไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวชอบแล้ว
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ศักดิ์ชาย ภัทรชาคร กับพวก จำเลย - นาย ดิเรก กวยานนท์ กับพวก
ชื่อองค์คณะ วิเทพ ศิริพากย์ บุญธรรม อยู่พุก ชวลิต ศรีสง่า
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan