สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1145/2565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1145/2565

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 686 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 198 ทวิ วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ม. 35 ทวิ

สัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 มิได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดทุกกรณี แต่แบ่งแยกความรับผิดในแต่ละกรณีต่างหากจากกัน จึงมิใช่การเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายปกติ ทั้งข้อสัญญายังสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555 ข้อ 5 (4) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และเป็นประกาศฉบับที่ใช้ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อคดีนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์จึงนำสืบพยานฝ่ายเดียวคงนำสืบพอให้เห็นว่าข้ออ้างตามคำฟ้องของตนมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย และศาลใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าข้อเท็จจริงน่าจะเป็นไปดังพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาหรือไม่เท่านั้น การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารยืนยันว่า ความเสียหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดจากอุบัติเหตุเพลิงไหม้ซึ่งเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 แม้มิได้ขยายความว่าเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 อย่างไร แต่ไม่ถึงกับเป็นข้อให้ต้องตำหนิหรือไม่เชื่อถือพยานหลักฐานของโจทก์ เมื่อพยานหลักฐานไม่ปรากฏว่า ภายหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ที่เช่าซื้อ จำเลยที่ 1 เคยชี้แจงต่อโจทก์หรือบอกเล่าให้บุคคลใดทราบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องไม่อาจคาดหมายได้และมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 รวมไปถึงการที่จำเลยทั้งสองขาดนัดไม่ยื่นคำให้การ ทั้งที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดแก่รถยนต์เป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 ผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยเฉพาะ พยานหลักฐานของโจทก์พอเห็นว่า ข้ออ้างตามคำฟ้องเรื่องเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งรับฟังได้ว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้เสียหายอย่างสิ้นเชิงโดยเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เท่าจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสอง แต่หนี้ค่าเสียหายเท่ากับสัญญาเช่าซื้อส่วนที่เหลือตามสัญญาซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เป็นหนี้หลักที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงและรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เสียหายหรือถูกทำลาย จนไม่สามารถซ่อมแซมให้ดังเดิม และไม่อาจส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์อีกต่อไปได้ ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นการชดเชยแทนที่ไม่แตกต่างจากหนี้ส่งมอบรถยนต์ที่คู่สัญญาฝ่ายผู้เช่าซื้อพึงต้องปฏิบัติ เมื่อมีการเลิกสัญญาหาใช่ความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด และต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 197,450 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ไปจากโจทก์ ในราคา 568,656 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ รวม 72 งวด งวดละ 7,898 บาท กำหนดชำระทุกวันที่ 25 ของเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 มกราคม 2557 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับอย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังจากทำสัญญา จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์รวม 47 งวด แล้วผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 48 ประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป ต่อมาประมาณเดือนเมษายน 2561 โจทก์ติดตามทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 และโจทก์พบว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้เสียหายจนสิ้นเชิงไม่สามารถซ่อมแซมให้ได้ดีดังเดิม โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตามหนังสือบอกกล่าวฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 และโจทก์ยังมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายตามหนังสือบอกกล่าวฉบับลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2561

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการแรกว่า สัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสอง ขัดต่อประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555 ข้อ 5 (4) และมีผลใช้บังคับแก่คู่สัญญาหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์ฎีกาอ้างว่า สัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสอง ซึ่งมีข้อความทำนองว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายหรือถูกทำลายโดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะเรียกให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชำระค่าเช่าซื้อให้ครบถ้วนตามสัญญาไม่ได้ แต่หากรถยนต์สูญหายหรือถูกทำลายโดยเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อให้ครบถ้วนตามสัญญา เป็นการระบุข้อความทำนองเดียวกับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555 ข้อ 5 (4) มิได้มีข้อความที่ขัดแย้งกัน และไม่ได้เป็นข้อตกลงที่เอาเปรียบจำเลยที่ 1 คู่สัญญาฝ่ายผู้บริโภคแต่อย่างใด นั้น เห็นว่า สัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสอง ที่กำหนดว่า "ในกรณีที่รถสูญหาย เสียหาย หรือถูกทำลาย จนไม่สามารถซ่อมแซมได้ดีดังเดิมได้… ให้ถือว่าสัญญานี้สิ้นสุดลง โดยหากไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย ตามมูลค่าของความเสียหายที่เจ้าของได้รับเนื่องจากเหตุดังกล่าว หรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถามการติดตามรถ ค่าทนายความ หรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริง โดยประหยัดตามความจำเป็นและมีเหตุอันสมควร แต่หากเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่าจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญานี้" ข้อสัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดทุกกรณี หากได้แบ่งแยกความรับผิดในแต่ละกรณีไว้ต่างหากจากกัน จึงมิใช่การเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายตามปกติ ทั้งข้อสัญญาดังกล่าวยังสอดคล้องมิได้ขัดแย้งกับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555 ข้อ 5 (4) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 อันเป็นประกาศที่ใช้ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อคดีนี้ และเป็นประกาศที่ออกมาเพื่อคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคในการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อ ที่บัญญัติว่า "ข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องไม่ใช่ข้อสัญญาที่มีลักษณะ… (4) ให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อให้ครบถ้วนตามสัญญา ในกรณีรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ถูกทำลายถูกยึด ถูกอายัด หรือถูกริบ โดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ เว้นแต่ค่าเสียหาย หรือเบี้ยปรับหรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อค่าทนายความหรือค่าอื่นใดเพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ใช้จ่ายไปจริง โดยประหยัด ตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร" ดังนี้สัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสอง จึงมีผลใช้บังคับคู่สัญญาได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า สัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสองขัดต่อประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555 ข้อ 5 (4) และไม่มีผลใช้บังคับระหว่างคู่สัญญานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระค่าเสียหายตามสัญญาแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ในปัญหานี้โจทก์ฎีกาอ้างว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดเหตุเพลิงไหม้ในขณะที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารของโจทก์สามารถยืนยันได้ว่า อุบัติเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดแก่รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้คดีและโต้แย้งเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าอุบัติเหตุเพลิงไหม้เกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญาแก่โจทก์ นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งโจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 คู่สัญญาฝ่ายผู้เช่าซื้อ โจทก์มีนายปรีชา ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์เบิกความว่า ประมาณเดือนเมษายน 2561 ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสามงวดติดต่อกัน โจทก์ติดตามทวงถามจำเลยที่ 1 และพบว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้เสียหายอย่างสิ้นเชิงไม่สามารถซ่อมแซมรถยนต์ให้ดีดังเดิมได้ โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดชำระหนี้ และเรียกร้องค่าเสียหายไปยังจำเลยทั้งสอง นอกจากคำเบิกความของนายปรีชา ดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังอ้างอิงหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดชำระหนี้ ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 และหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระค่าเสียหาย ฉบับลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 เป็นพยานหลักฐานประกอบคำพยานของนายปรีชา เอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวต่างมีรายละเอียดกล่าวโทษเหตุแห่งความเสียหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อว่าเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 สอดคล้องกับถ้อยคำของนายปรีชา จึงสนับสนุนคำเบิกความของนายปรีชา ให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือจริงอยู่ที่ในชั้นพิจารณาและสืบพยานหลักฐานของโจทก์ โจทก์มิได้แจกแจงรายละเอียดของอุบัติเหตุอันเกิดแก่รถยนต์ที่เช่าซื้อว่าเกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินที่เช่าซื้อได้อย่างไรหรือด้วยเหตุผลใด แต่ในเรื่องนี้พอเข้าใจได้ว่าการสืบพยานของโจทก์เป็นการสืบพยานฝ่ายเดียวในคดีที่จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นให้การ โจทก์คงนำสืบพอให้เห็นว่าข้ออ้างตามคำฟ้องของตนมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีที่โจทก์นำสืบพยานโดยไม่มีพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมาหักล้าง ศาลย่อมใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าข้อเท็จจริงน่าจะเป็นไปดังพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาหรือไม่เท่านั้นการที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารยืนยันว่า ความเสียหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดจากอุบัติเหตุเพลิงไหม้ซึ่งเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 แม้มิได้ขยายความว่าเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 อย่างไร จึงไม่ถึงกับเป็นข้อให้ต้องตำหนิหรือไม่เชื่อถือพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีนี้ เมื่อพินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ประกอบกับข้อเท็จจริงในสำนวนความที่ไม่ปรากฏว่า ภายหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ที่เช่าซื้อ จำเลยที่ 1 เคยชี้แจงต่อโจทก์หรือบอกเล่าให้บุคคลใดทราบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องไม่อาจคาดหมายได้และมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 รวมไปถึงการที่จำเลยทั้งสองทราบข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีตามที่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้วไม่ยื่นคำให้การกล่าวแก้คำฟ้องเพื่อปัดความรับผิดตามกระบวนความ ทั้งที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดแก่รถยนต์เป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 ผู้ครอบครองใช้สอยทรัพย์สินที่เช่าซื้อโดยเฉพาะ พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาเมื่อชั่งน้ำหนักแล้วนับว่าคำพยานบุคคลกับพยานเอกสารที่โจทก์อ้างอิงในคดีที่จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การมีรายละเอียดข้อสำคัญพอให้เห็นว่า ข้ออ้างตามคำฟ้องเรื่องเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายทั้งรับฟังได้ว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้เสียหายอย่างสิ้นเชิงโดยเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงด้วยเหตุรถยนต์ที่เช่าซื้อเสียหาย หรือถูกทำลาย จนไม่สามารถซ่อมแซมให้ดีดังเดิมเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เท่าจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อตามข้อตกลงในสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสอง ที่ว่า "ในกรณีที่รถสูญหาย เสียหาย หรือถูกทำลาย จนไม่สามารถซ่อมแซมให้ดีดังเดิมได้… ให้ถือว่าสัญญานี้สิ้นสุดลง โดยหากไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย… แต่หากเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญานี้" โจทก์ในฐานะคู่สัญญาชอบที่จะอาศัยข้อตกลงตามสัญญาเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าเสียหาย 197,450 บาท เท่ากับหนี้คงค้างชำระตามสัญญาแก่โจทก์ได้หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องตามที่โจทก์มีคำขอ จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อันเป็นบทบัญญัติเดิมก่อนมีการแก้ไขและรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ในส่วนของจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไปยังจำเลยที่ 2 ตามหนังสือบอกกล่าวฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 และจำเลยที่ 2 ได้รับไว้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ซึ่งถือเป็นการบอกกล่าวการผิดนัดของลูกหนี้ชั้นต้นไปยังผู้ค้ำประกันภายหลังจากล่วงพ้นกำหนดหกสิบวันนับจากวันที่ 25 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่หนี้ค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือตามสัญญาซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เป็นหนี้หลักที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงและรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เสียหายหรือถูกทำลาย จนไม่สามารถซ่อมแซมให้ดีดังเดิม และไม่อาจส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์ได้อีกต่อไป ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นการชดเชยแทนที่ไม่แตกต่างจากหนี้ส่งมอบรถยนต์ที่คู่สัญญาฝ่ายผู้เช่าซื้อพึงต้องปฏิบัติเมื่อมีการเลิกสัญญาหาใช่ความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด และต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ อย่างไรก็ดี จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปให้แก่โจทก์ เพราะเป็นดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีผู้บริโภค เห็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เลย และพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 197,450 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 สิงหาคม 2561) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้นบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 197,450 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)380/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - ธนาคาร ธ. จำเลย - นาย ส. กับพวก

ชื่อองค์คณะ รังสรรค์ กุลาเลิศ ประทีป อ่าววิจิตรกุล ประสาร กีรานนท์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสีคิ้ว (ปากช่อง) - นายอดล ไตรรงค์ทอง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายวิเชียร อภิรัตน์มนตรี

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th