คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1148/2565
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 7 (2), 142 (5), 246, 252, 274 วรรคหนึ่ง
สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคดีก่อนถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้จากจำเลยโดยอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ส่วนจำเลยถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองโดยอยู่ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสองชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมเข้าไปในคดีเดิมตาม มาตรา 7 (2) โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำข้อพิพาทในชั้นบังคับคดีดังกล่าวมาฟ้องร้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งได้มีคำพิพากษาตามยอมเป็นคดีใหม่ได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองได้ตาม มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 8711 แก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองเพื่อไปทำการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง หากจำเลยเพิกเฉยหรือไม่ยินยอม ให้เพิกถอนต้นฉบับโฉนดที่ดิน (ฉบับผู้ถือ) และออกใบแทนโดยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 8711 และส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ได้ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 นายอำนาจ ทำหนังสือรับสภาพหนี้ ยอมรับว่าเป็นหนี้ค่าข้าวสารจำเลย เป็นเงิน 6,288,196 บาท ตกลงชำระภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 โดยโจทก์ทั้งสองนำที่ดินโฉนดเลขที่ 8711 มาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันในวงเงิน 600,000 บาท แต่นายอำนาจไม่ชำระหนี้ให้แก่จำเลยตามกำหนดต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2560 จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องนายอำนาจและโจทก์ทั้งสองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2431/1560 หมายเลขแดงที่ 316/2561 ระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม โดยโจทก์ทั้งสองตกลงร่วมรับผิดชำระหนี้แก่จำเลยในวงเงินไม่เกิน 600,000 บาท แบ่งชำระเป็น 3 งวด ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 หากโจทก์ทั้งสองนำเงินมาชำระแก่จำเลย 600,000 บาท แล้ว จำเลยจะจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองพร้อมส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินที่จำนองแก่โจทก์ทั้งสองทันที ต่อมาจำเลยได้รับชำระเงิน 3 จำนวน รวมเป็นเงิน 600,000 บาท โดยโจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างในคำฟ้องคดีนี้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยแต่จำเลยไม่จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 8711 และส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง เป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาอำนาจฟ้องของโจทก์ทั้งสองขึ้นวินิจฉัยก่อน เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ชำระหนี้ (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีหรือบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดี….." ดังนี้โดยผลของสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคดีก่อน หากโจทก์ทั้งสองได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม โดยนำเงินจำนวน 600,000 บาท ชำระให้แก่จำเลยครบแล้ว โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนย่อมอาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคดีก่อนเรียกร้องให้จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินจำนองแก่โจทก์ทั้งสองได้ และจำเลยย่อมมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินจำนองแก่โจทก์ทั้งสอง จึงถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้จากจำเลยโดยอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ส่วนจำเลยถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองโดยอยู่ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสองเห็นว่าตนได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม โดยชำระเงินจำนวน 600,000 บาท ให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินที่จำนองแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมซึ่งเป็นคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล ซึ่งคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องซึ่งต้องร้องขอเข้าไปในคดีเดิมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 (2) อันเป็นการร้องขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินการในชั้นบังคับคดีในคดีก่อนโดยไต่สวนข้อโต้แย้งของโจทก์ทั้งสองและจำเลยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม หากได้ความตามข้ออ้างของโจทก์ทั้งสอง ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะมีคำสั่งกำหนดวิธีการบังคับคดีแก่จำเลยตามบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีในหนี้กระทำการตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 357 และมาตรา 358 หากไม่ได้ความดังกล่าวศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกคำร้องของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำข้อพิพาทในชั้นบังคับคดีดังกล่าวมาฟ้องร้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งได้มีคำพิพากษาตามยอมเป็นคดีใหม่ได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 252 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.753/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาว บ. กับพวก จำเลย - สหกรณ์การเกษตร ศ.
ชื่อองค์คณะ วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์ นพรัตน์ สี่ทิศประเสริฐ สุรศักดิ์ ตันโสรัจประเสริฐ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดศรีสะเกษ - นายนัฐวุฒิ เลี่ยวไพโรจน์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายนิธิศิษฐ์ ธำรงเลิศสกุล