คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1176/2543
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 209 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227
แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นขณะจำเลยกระทำความผิดมาเป็นพยานแต่โจทก์มีสิบเอก อ. ผู้ซึ่งสืบสวนทราบว่า จำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้ายบีอาร์เอ็น พันตำรวจตรี ส. ผู้จับกุม จ่าสิบโท พ. ผู้ซักถามจำเลยหลังถูกจับและพันตำรวจโท ช. พนักงานสอบสวนพยานแวดล้อมเข้าเบิกความประกอบเอกสารและภาพถ่ายสอดคล้องเชื่อมโยงกันตั้งแต่ก่อนจับกุมจำเลยที่สิบเอก อ. สืบทราบว่าจำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้าย บีอาร์เอ็น ที่มีนาย อ. เป็นหัวหน้า ซึ่งในช่วงปี 2540 นาย อ. กับพวกปะทะกับเจ้าหน้าที่เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ยึดอาวุธปืน วิทยุสื่อสาร เอกสารเรียกค่าคุ้มครองและภาพถ่ายสมาชิกกลุ่มโจรก่อการร้าย รวมทั้งภาพถ่ายที่มีภาพจำเลยอยู่ด้วย จนกระทั่งหลังจำเลยถูกจับกุมได้ให้การรับสารภาพต่อพันตำรวจตรี ส. พันตำรวจโท ช. กับพันตำรวจตรี ป. ในข้อหาอั้งยี่ ตามบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การผู้ต้องหาทั้งจำเลยรับต่อพันตำรวจตรี ส. และจ่าสิบโท พ. ว่าก่อนถูกจับกุมจำเลยได้เข้าเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธโจรก่อการร้ายขบวนการ บีอาร์เอ็น และมีภาพถ่ายของจำเลยอยู่ในภาพที่พันตำรวจตรี ส. ได้มาก่อนจำเลยถูกจับและได้ลงลายมือไว้ในภาพนั้นด้วย แม้พันตำรวจตรี ส. กับสิบเอก อ. จะเบิกความแตกต่างถึงแหล่งที่มาก็มิใช่ข้อสาระสำคัญ เพราะสาระสำคัญอยู่ที่บุคคลตามภาพถ่ายเป็นจำเลยหรือไม่ ซึ่งในชั้นพิจารณาจำเลยก็รับว่าเป็นบุคคลตามภาพถ่าย เพียงแต่นำสืบปฏิเสธว่า ถูกกลุ่มขบวนการก่อการร้ายขู่บังคับให้เข้าร่วมขบวนการ มิฉะนั้นจะถ่ายรูปส่งให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองและบังคับให้แต่งชุดเดินป่าและถือปืนแล้วถ่ายภาพไว้ซึ่งขัดต่อเหตุผลเพราะหากเป็นการขู่บังคับน่าจะใช้อาวุธข่มขู่จะได้ผลดีกว่า และที่จำเลยนำสืบว่าได้ลงลายมือชื่อในเอกสารหลายฉบับ แต่ไม่ทราบข้อความเนื่องจากอ่านเขียนและพูดภาษาไทยไม่ได้และไม่มีล่ามแปลให้จำเลยฟังนั้น ในชั้นสอบสวนพันตำรวจโท ช. เบิกความว่าการสอบปากคำจำเลยได้ให้นายดาบตำรวจ ว. เป็นล่ามแปลและจำเลยได้ให้การไว้โดยละเอียดเกี่ยวกับวันเวลา สถานที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่จริงสอดคล้องกับบุคคลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเจ้าพนักงานคงไม่สามารถบันทึกขึ้นเองได้ พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบนั้นไม่มีน้ำหนักฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้
จำเลยเข้าเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธโจรก่อการร้ายขบวนการ บีอาร์เอ็นกลุ่มนาย อ. มีพฤติการณ์กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเรียกค่าคุ้มครอง ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายจึงมีความผิดฐานอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเดือนมกราคม 2540 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2540 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธโจรก่อการร้ายขบวนการ บี อาร์ เอ็น กลุ่มอาลียะโต๊ะบาลา ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่ปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยมีอาวุธปืนเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 พร้อมกระสุน11 นัด ซึ่งใช้ยิงได้อันเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเหตุเกิดที่ตำบลศรีสาครอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55,78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209, 91 นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4027/2540 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคแรก พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ จำคุก 4 ปี ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน จำคุก 16 ปี รวมจำคุก 20 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก10 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4027/2540 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ให้ยกคำขอในส่วนนี้เสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีสิบเอกอ้วน พวงแก้ว ซึ่งรับราชการที่กรมทหารพรานที่ 43 ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ฝ่ายการข่าวมีหน้าที่หาข่าวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของโจรก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสเป็นพยานเบิกความว่า ก่อนจับกุมจำเลยจังหวัดนราธิวาสได้แจ้งข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับจำเลยให้พยานทราบ และสั่งให้ติดตามหาข่าวของจำเลย พยานสืบทราบว่าจำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่มโจรก่อการร้ายขบวนการ บี อาร์ เอ็น ซึ่งมีนายอาลียะ โต๊ะบาลา เป็นหัวหน้ากลุ่ม กระทำผิดเกี่ยวกับการเรียกค่าคุ้มครองและลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ภายในเขตจังหวัดนราธิวาสช่วงปี 2540 นายอาลียะกับพวกได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ชุดทหารพรานที่ 43 นายอาลียะกับพวกเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ยึดได้อาวุธปืนวิทยุสื่อสาร เอกสาร เรียกค่าคุ้มครองและภาพถ่ายของสมาชิกกลุ่มโจรก่อการร้าย รวมทั้งภาพถ่ายหมาย จ.3 ซึ่งมีภาพจำเลยอยู่ด้วยหลังจากนั้นจำเลยได้หลบหนีไปอยู่ที่ปอเนาะร้าง บ้านสโลว์ จนกระทั่งถูกจับ และโจทก์มีพันตำรวจตรี สมบัติ จิตต์พิริยะการผู้จับกุมจำเลยเบิกความว่า พันตำรวจตรีสมบัติกับพวกได้เข้าจับกุมจำเลยในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นตามหมายจับของสถานีตำรวจภูธรอำเภอเจาะไอร้อง เมื่อวันที่ 5ธันวาคม 2540 เวลาประมาณ 6 นาฬิกาที่ปอเนาะร้าง บ้านสโลว์ หมู่ที่ 9ตำบลมะรือโบตก อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นตามเอกสารหมาย จ.2 พันตำรวจตรีสมบัตินำภาพถ่ายหมาย จ.3ที่ได้รับมาก่อนจับกุมจำเลยประมาณ 3 เดือน ให้จำเลยดู จำเลยยอมรับว่าตนเองได้เข้าร่วมกับกลุ่มโจรก่อการร้ายขบวนการ บี อาร์ เอ็น และมีภาพจำเลยในภาพถ่ายหมาย จ.3 จริง ซึ่งจำเลยคือคนยืนถืออาวุธปืนเอ็ม 79 ด้านซ้ายสุดของภาพ และจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ในภาพ พันตำรวจตรีสมบัติจึงแจ้งข้อหาจำเลยเพิ่มเติมว่าเป็นอั้งยี่ มีอาวุธปืนและวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง จำเลยให้การรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.4 จึงนำตัวจำเลยส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีและโจทก์มีพันตำรวจโทชลอ ยวนเกิดพนักงานสอบสวนเบิกความว่า พันตำรวจโทชลอกับพันตำรวจตรีประเสริฐ เหล่าตระกูล ร่วมกันสอบสวนจำเลย และแจ้งข้อหาจำเลยว่ากระทำการเป็นอั้งยี่ มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองจำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา จึงได้ทำบันทึกคำให้การของจำเลยโดยมีนายดาบตำรวจแวหะลี แวมายิ เป็นล่ามแปล ปรากฏตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.10 โจทก์ยังมีจ่าสิบโทไพศาล โต๊ะจิ เบิกความสนับสนุนว่าจ่าสิบโทไพศาลได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเจาะไอร้องผ่านทางเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 ให้ไปซักถามผู้ต้องหา จึงเดินทางไปสถานีตำรวจภูธรอำเภอเจาไอร้องพบจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม จ่าสิบโทไพศาลซักถามจำเลย จำเลยยอมรับว่า ก่อนถูกจับกุมจำเลยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธโจรก่อการร้ายขบวนการ บี อาร์ เอ็น กลุ่มนายอาลียะ โต๊ะบาลา ตั้งแต่เดือนมกราคม 2540 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2540 ได้รับชื่อจัดตั้งว่า โต๊ะกีหรือโต๊ะแวมีตำแหน่งเป็นลูกแถวทำหน้าที่ขนเสบียงอาหารและรักษาความปลอดภัยในค่ายพักหัวหน้ากลุ่มได้มอบอาวุธปืนเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 พร้อมกระสุนจำนวนหนึ่งให้แก่จำเลย และจ่าสิบโทไพศาลเบิกความอีกว่า ตนเองนำภาพถ่ายหมาย จ.3 ให้จำเลยดูในขณะสอบปากคำ จำเลยรับว่าจำเลยอยู่ในภาพถ่าย คือคนยืนทางด้านซ้ายมือของภาพ ถืออาวุธปืนเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 คนกลางคือนายสุเปียนซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในการปะทะกับเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 2เมษายน 2540 ส่วนคนด้านขวาของภาพคือนายยูกีปือลี ดือเร๊ะ ซึ่งมีชื่อจัดตั้งว่า ดอกอและทราบว่าเข้ามอบตัวต่อทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2540 เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นในขณะจำเลยกระทำความผิดมาเป็นพยาน แต่โจทก์ก็มีพยานแวดล้อมสี่ปากดังกล่าวข้างต้นมาเบิกความประกอบเอกสารและภาพถ่ายสอดคล้องต้องกันตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ จนกระทั่งจับกุมจำเลยได้ และจำเลยก็ยอมรับต่อพันตำรวจตรีสมบัติ พันตำรวจโทชลอและจ่าสิบโทไพศาลว่า จำเลยร่วมเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธโจรก่อการร้ายขบวนการ บี อาร์ เอ็น กลุ่มนายอาลียะ โต๊ะบาลา ตามภาพถ่ายหมาย จ.3 กับบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเอกสารหมาย จ.4 และบันทึกคำให้การผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.10 ส่วนการได้รับภาพถ่ายหมาย จ.3 จากที่ใดนั้นแม้พันตำรวจตรีสมบัติเบิกความว่าพยานได้รับภาพถ่ายหมาย จ.3 มาจากกรมทหารพรานที่ 43 แต่สิบเอกอ้วนเบิกความว่าได้รับภาพถ่ายหมาย จ.3 จากจังหวัดนราธิวาสซึ่งแตกต่างกันบ้าง ก็มิใช่ข้อสาระสำคัญ เพราะสาระสำคัญอยู่ที่บุคคลซึ่งปรากฏในภาพดังกล่าวว่ามีจำเลยอยู่ด้วยหรือไม่ ซึ่งจำเลยก็รับว่าจำเลยอยู่ในภาพถ่ายหมาย จ.3 เพียงแต่นำสืบปฏิเสธว่าจำเลยถูกกลุ่มขบวนการก่อการร้ายขู่บังคับให้เข้าร่วมขบวนการ มิฉะนั้นจะถ่ายภาพส่งให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง พร้อมกับข่มขู่ให้แต่งชุดเดินป่าและถืออาวุธปืนแล้วถ่ายภาพไว้ ข้อนำสืบของจำเลยยังขัดต่อเหตุผล เพราะหากกลุ่มขบวนการก่อการร้ายบังคับให้จำเลยเข้าร่วมขบวนการ ก็น่าจะใช้อาวุธข่มขู่ซึ่งได้ผลกว่าการถ่ายภาพแล้วส่งภาพไปให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยได้ลงลายมือชื่อในเอกสารหลายฉบับแต่ไม่ทราบข้อความ เนื่องจากจำเลยอ่าน เขียนและพูดภาษาไทยไม่ได้ และไม่มีล่ามแปลให้จำเลยฟังนั้นเห็นว่า ในชั้นสอบสวนพันตำรวจโทชลอเบิกความว่า การสอบปากคำจำเลยได้ให้นายดาบตำรวจแวหะลี แวมายิ เป็นล่ามแปล และศาลตรวจดูบันทึกคำให้การจำเลยเอกสารหมาย จ.10 แล้วเห็นว่าจำเลยได้ให้การไว้โดยละเอียดเกี่ยวกับวัน เวลาสถานที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่จริงสอดคล้องกับบุคคลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งเจ้าพนักงานคงไม่สามารถบันทึกขึ้นเองได้ จึงเชื่อว่าจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนตามความเป็นจริงพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบนั้นไม่มีน้ำหนักฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเข้าเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธโจรก่อการร้ายขบวนการ บี อาร์ เอ็น กลุ่มอาลียะ โต๊ะบาลา ซึ่งมีพฤติการณ์กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเรียกค่าคุ้มครอง ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคหนึ่ง"
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับข้อหาเป็นอั้งยี่ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาส จำเลย - นาย มะอีซอ มามะ
ชื่อองค์คณะ รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ อภิชาต สุขัคคานนท์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan