คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11898/2557
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33, 244, 247
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางติดต่อกับสายลับ จำเลยที่ 2 และติดต่อซึ่งกันและกัน เพื่อซื้อขายและจัดหาธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปลอม โทรศัพท์เคลื่อนที่ 7 เครื่อง ของกลาง จึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ใช้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรรัฐบาลต่างประเทศปลอม อันพึงต้องริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 244, 247, 249 ริบของกลาง
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว จำเลยที่ 5 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 หลบหนี ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 ประกอบมาตรา 247,83 จำคุกคนละ 4 ปี จำเลยที่ 5 ให้การรับสารภาพ คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 3 ให้ความช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจในการสืบสวนขยายผลจับกุมจำเลยที่ 5 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 5 กึ่งหนึ่ง และจำเลยที่ 3 หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี ริบธนบัตรปลอม โทรศัพท์เคลื่อนที่ 7 เครื่อง และเครื่องนับเงินของกลาง ให้ยกฟ้องข้อหาร่วมกันจำหน่ายบัตรซึ่งมีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงเงินตราและยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 6 คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของและให้คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 9180 4709 และ 08 6922 0085 ของกลางแก่จำเลยที่ 4 และที่ 6
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่อีก 7 เครื่อง และเครื่องนับเงินของกลาง โดยให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องนับเงินของกลางเป็นทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดอันพึงต้องริบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางติดต่อกับสายลับ จำเลยที่ 2 และติดต่อซึ่งกันและกัน เพื่อซื้อขายและจัดหาธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปลอม และเจ้าพนักงานตำรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางได้ที่ตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ดังนี้ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 7 เครื่อง ของกลาง จึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ใช้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรรัฐบาลต่างประเทศปลอม อันพึงต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ส่วนเครื่องนับเงินของกลาง ทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากห้องพักของจำเลยที่ 5 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันนำเครื่องนับเงินของกลางมาใช้ในการนับธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปลอม สำหรับการร่วมกันมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรรัฐบาลต่างประเทศปลอมตามที่โจทก์ฟ้องอย่างไร ดังนี้ เครื่องนับเงินของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอันพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 จึงยังไม่อาจริบได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 7 เครื่องของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2464/2557
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดสระแก้ว จำเลย - นายมงคล ผ่องสวัสดิ์ กับพวก
ชื่อองค์คณะ อดิศักดิ์ ปัตรวลี ทวีศักดิ์ ทองภักดี เฉลิมศักดิ์ ภัทรสุมันต์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสระแก้ว - นางสาวนภา พัชรโกมล ศาลอุทธรณ์ภาค 2 - นายสุรศักดิ์ สุวรรณประกร