คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1215/2564
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 1273/3 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22 (3), 25, 27, 91
ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ บริษัท อ. เป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนตามความในมาตรา 1273/3 แห่ง ป.พ.พ. บริษัท อ. ย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนโดยผลแห่งกฎหมาย และเป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 6 ว่าด้วยการถอนทะเบียนบริษัทจำกัดร้าง มิใช่การเลิกบริษัทที่จะต้องมีการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 4 ส่วนที่ 8 ซึ่งจะต้องดำเนินการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 5 แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท อ. แต่เมื่อกรณีบริษัทร้างมิใช่การเลิกบริษัทที่จะต้องมีการชำระบัญชี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท อ. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัท อ. อย่างไรก็ตาม ตามคำฟ้อง นอกจากโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะส่วนตัวให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในผลแห่งการทำละเมิดด้วยการครอบครองและนำที่ดินพิพาทของโจทก์พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ด้วย ซึ่งหากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะส่วนตัวต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในผลแห่งการทำละเมิดดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม
โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดด้วยการครอบครองที่ดินพิพาทและนำที่ดินพิพาทออกให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่มีสิทธิและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จำเลยทั้งสามมิได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ครอบครอง แต่อ้างว่าการครอบครองอาศัยสิทธิของบริษัท อ. ส่วนการนำที่ดินพิพาทออกให้เช่ากระทำในฐานะตัวแทนบริษัท อ. จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อศาลวินิจฉัยว่า บริษัท อ. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสามไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิบริษัท อ. อีกต่อไปได้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสามย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นส่วนตัว
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาด เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 อำนาจในการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) และมาตรา 25 ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องขอให้บังคับขับไล่ รื้อถอนและเรียกค่าเสียหาย ซึ่งส่วนที่มีคำขอบังคับขับไล่และรื้อถอนเป็นหนี้กระทำการมิใช่คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 22 (3) แต่ส่วนที่มีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าเสียหายในส่วนที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 อันเป็นวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาด จึงเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย โจทก์จะต้องนำหนี้ค่าเสียหายส่วนนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามมาตรา 27 และมาตรา 91 และโจทก์จะได้รับชำระหนี้ค่าเสียหายส่วนนี้เพียงใดย่อมเป็นไปตามกระบวนการในคดีล้มละลาย เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่เข้าว่าคดีในส่วนนี้ การพิจารณาคดีส่วนนี้ไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป ต้องจำหน่ายคดีเฉพาะส่วนนี้ออกจากสารบบความ สำหรับค่าเสียหายนับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น เป็นหนี้เงินที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงเป็นหนี้ที่โจทก์ไม่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดส่วนนี้ได้ แต่โจทก์จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในหนี้ค่าเสียหายส่วนนี้ได้เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลุดพ้นจากการล้มละลายและต้องบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มาภายหลังพ้นจากการล้มละลายเท่านั้น
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวและห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 31,856,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 30,000,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 206,250 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจนแล้วเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 13932 และโฉนดเลขที่ 13934 ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 270,000 บาท และอีกเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะออกไปจากที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ศาลชั้นต้นแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบเพื่อเข้าว่าคดีในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงว่าเป็นเรื่องขอบังคับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะเข้าดำเนินคดีแทนจึงไม่ประสงค์เข้าว่าคดีแทน
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่า บริษัท อ. เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดี บริษัท อ. เป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนตามความในมาตรา 1273/3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 มีจำเลยที่ 1 และที่ 2 และนางสาววรพนิต เป็นกรรมการ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 นางสาวแสงทอง นำหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัท อ. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 1 และสำเนาหนังสือรับรอง และรายงานการประชุม ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 13932 และโฉนดเลขที่ 13934 ให้แก่โจทก์ในราคา 33,000,000 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสามร่วมกันให้บุคคลอื่นเช่าที่ดินพิพาทบางส่วนพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ บริษัท อ. เป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนตามความในมาตรา 1273/3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บริษัท อ. ย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนโดยผลแห่งกฎหมาย และเป็นกรณีที่ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 6 ว่าด้วยการถอนทะเบียนบริษัทจำกัดร้างมิใช่การเลิกบริษัทที่จะต้องมีการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 4 ส่วนที่ 8 ซึ่งจะต้องดำเนินการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 5 แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท อ. ก็ตาม แต่เมื่อกรณีบริษัทร้างมิใช่การเลิกบริษัทที่จะต้องมีการชำระบัญชี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท อ. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัท อ. อย่างไรก็ตาม ตามคำฟ้องโจทก์นั้น นอกจากโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะส่วนตัวให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในผลแห่งการทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการครอบครองและนำที่ดินพิพาทของโจทก์พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ด้วย ซึ่งหากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะส่วนตัวต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในผลแห่งการทำละเมิดดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามและพิพากษายกฟ้องมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
เมื่อรับฟังได้ว่า บริษัท อ. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์และคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามทำละเมิดและต้องรับผิดตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดด้วยการครอบครองที่ดินพิพาทและนำที่ดินพิพาทออกให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่มีสิทธิและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จำเลยทั้งสามมิได้ปฏิเสธว่าจำเลยทั้งสามมิได้ครอบครองที่ดินพิพาท แต่อ้างว่าการครอบครองที่ดินพิพาทกระทำโดยอาศัยสิทธิของบริษัท อ. ส่วนการนำที่ดินพิพาทออกให้บุคคลภายนอกเช่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของบริษัท อ. จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าบริษัท อ. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสามไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิบริษัท อ. อีกต่อไปได้ เช่นนี้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสามย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นส่วนตัว ข้อที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าที่ดินพิพาทเพื่อนำที่ดินพิพาทออกให้เช่าแก่บุคคลภายนอกเป็นการกระทำในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัท อ. นั้น ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าในนามบริษัท อ. การกระทำในส่วนนี้จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ประเด็นว่าการนำที่ดินพิพาทออกให้เช่าของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสามยังร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์เป็นอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากการนำที่ดินพิพาทออกให้บุคคลภายนอกเช่าดังได้วินิจฉัยข้างต้น จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งการกระทำละเมิดส่วนนี้ ซึ่งค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลชั้นต้นกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เป็นค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้ทรัพย์สินก่อนฟ้องเดือนละ 30,000 บาท เป็นเวลา 9 เดือน รวมเป็นเงิน 270,000 บาท และค่าขาดประโยชน์หลังฟ้องอีกเดือนละ 30,000 บาท เรื่อยไปจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว เห็นว่า ค่าขาดประโยชน์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดนั้นเหมาะสมแล้วอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น เช่นนี้ จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา แต่สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาด เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 อำนาจในการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) และมาตรา 25 คำฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นเรื่องขอให้บังคับขับไล่ รื้อถอนและเรียกค่าเสียหาย ซึ่งส่วนที่มีคำขอบังคับขับไล่และรื้อถอนเป็นหนี้กระทำการมิใช่คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) แต่ฟ้องโจทก์ส่วนที่มีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายนั้นเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าเสียหายในส่วนที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 อันเป็นวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาด จึงเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย โจทก์จะต้องนำหนี้ค่าเสียหายส่วนนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 และโจทก์จะได้รับชำระหนี้ค่าเสียหายส่วนนี้เพียงใดย่อมเป็นไปตามกระบวนการในคดีล้มละลาย เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่เข้าว่าคดีในส่วนนี้ การพิจารณาคดีส่วนนี้ไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนนี้ออกจากสารบบความ สำหรับค่าเสียหายนับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น เป็นหนี้เงินที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงเป็นหนี้ที่โจทก์ไม่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดส่วนนี้ได้ แต่โจทก์จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในหนี้ค่าเสียหายส่วนนี้ได้เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลุดพ้นจากการล้มละลายและต้องบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มาภายหลังพ้นจากการล้มละลายเท่านั้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 13932 และโฉนดเลขที่ 13934 ห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าขาดประโยชน์ 270,000 บาท และอีกเดือนละ 30,000 บาท แก่โจทก์นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ชำระเงินค่าขาดประโยชน์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เฉพาะส่วนความรับผิดค่าเสียหายในมูลละเมิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ออกจากสารบบความ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.447/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท ต. จำเลย - นาง พ. กับพวก
ชื่อองค์คณะ สุภัทร อยู่ถนอม นิรัตน์ จันทพัฒน์ สมเกียรติ ตั้งสกุล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสมุทรสาคร - นางอัญชลี กิจธนไพบูลย์ ทัพทอง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 - นายยิ่งศักดิ์ โอฬารกุล