คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12384/2556
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80, 86, 288
จำเลยที่ 4 ร่วมเดินทางมากับจำเลยอื่นกับพวกในรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับ โดยจำเลยที่ 4 เป็นมารดาจำเลยที่ 1 และเป็นภริยาจำเลยที่ 2 ซึ่งขณะเกิดเหตุนั้นได้ความว่าระหว่างที่จำเลยที่ 2 กับพวกรุมกระทืบผู้เสียหายอยู่นั้น จำเลยที่ 4 พูดว่า "เอามันให้ตาย เอามันให้ตาย" เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 4 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ร่วมเดินทางมายังที่เกิดเหตุในลักษณะเจ็บแค้นแทนจำเลยที่ 1 ผู้เป็นบุตรและต้องการแก้แค้นผู้ทำร้ายบุตรตนแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวจึงเป็นการช่วยเหลือให้กำลังใจและชี้นำแก่จำเลยที่ 2 กับพวกทำร้ายผู้เสียหายให้ถึงแก่ความตายเพื่อแก้แค้นแทนจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 สนับสนุนให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิด เมื่อจำเลยที่ 2 ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดพยายามฆ่าผู้เสียหาย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 83, 91, 288, 297 (8), 371 ริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 371 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 อายุ 20 ปี รู้ผิดชอบแล้วไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่า ให้จำคุก 10 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ให้ปรับ 90 บาทรวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี และปรับ 90 บาท ข้อเท็จจริงจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด6 ปี 8 เดือน และปรับ 60 บาท จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 3,000 บาท ฐานร่วมกันพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ให้ปรับ 90 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 3,090 บาท ส่วนข้อหาอื่นให้ยก จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ประกอบมาตรา 86 ให้จำคุก 8 เดือน และปรับ 2,000 บาท ส่วนข้อหาอื่นให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 5 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี สำหรับค่าปรับนั้นหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 4 หากไม่ชำระให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตร 29, 30 ริบมีดของกลาง
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 3 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 ประกอบมาตรา 80, 83 (ที่ถูกมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371) การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธมีดไปในเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ให้ปรับ 90 บาท รวมจำคุก 10 ปีและปรับ 90 บาท จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 86 ให้จำคุก 5 ปี สำหรับข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง ไม่รอการลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันชั้นฎีการับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายบุญฤทธิ์ ผู้เสียหายถูกคนร้ายหลายคนทำร้าย โดยคนร้ายใช้อาวุธมีดฟัน แทงและใช้เท้ารุมกระทืบบริเวณร่างกายของผู้เสียหาย จนผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ สำหรับคดีของจำเลยที่ 3 และที่ 5 โจทก์ไม่ฎีกาจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่ากระทำความผิดเป็นผู้สนับสนุนผู้อื่นให้กระทำความผิดพยายามฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 4 เองว่าร่วมเดินทางมากับจำเลยอื่นกับพวกในรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับด้วย โดยจำเลยที่ 4 เป็นมารดาจำเลยที่ 1 และเป็นภริยาจำเลยที่ 2 ซึ่งขณะเกิดเหตุนั้นได้ความจากนายรักและนางบรรจงประจักษ์พยานโจทก์ว่า ระหว่างที่จำเลยที่ 2 กับพวกรุมกระทืบผู้เสียหายอยู่นั้นจำเลยที่ 4 พูดว่า "เอามันให้ตาย เอามันให้ตาย" เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 4 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ร่วมเดินทางมายังที่เกิดเหตุในลักษณะเจ็บแค้นแทนจำเลยที่ 1 ผู้เป็นบุตรและต้องการแก้แค้นผู้ทำร้ายบุตรตนแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวจึงเป็นการช่วยเหลือให้กำลังใจและชี้นำแก่จำเลยที่ 2 กับพวกทำร้ายผู้เสียหายให้ถึงแก่ความตายเพื่อแก้แค้นแทนจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 สนับสนุนให้จำเลยที่ 1และที่ 2 กระทำความผิด เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดพยายามฆ่าผู้เสียหาย
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลามืดค่ำไม่มีแสงสว่างเพียงพอที่จะทำให้ประจักษ์พยานโจทก์มองเห็นเหตุการณ์จนจดจำใบหน้าได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ทำร้ายผู้เสียหาย และได้ยินเสียงจำเลยที่ 4 พูดให้ทำร้ายผู้เสียหายจนตายนั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุนายรักกับพวกกำลังเล่นเตะตะกร้อ โดยผู้เสียหายยืนดูอยู่ ลักษณะเช่นนี้ย่อมมีแสงสว่างมากพอที่นายรักกับพวกจะมองเห็นลูกตะกร้อซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วอย่างชัดเจนจนสามารถเตะลูกตะกร้อกันได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกเข้าทำร้ายผู้เสียหายในบริเวณสนามตะกร้อที่เกิดเหตุนั้น นายรักและนางบรรจงซึ่งอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุนั้นย่อมมองเห็นใบหน้าและรูปร่างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวก ซึ่งเป็นภาพใหญ่กว่าลูกตะกร้อได้อย่างชัดเจน ประกอบทั้งยังได้ความจากพยานโจทก์ผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนเบิกความยืนยันว่าในขณะเกิดเหตุมีแสงสว่างสามารถมองเห็นใบหน้าและรูปร่างกันได้ชัดเจนเช่นนี้จึงมีเหตุผลเชื่อว่าประจักษ์พยานโจทก์ซึ่งอยู่บริเวณที่เกิดเหตุเห็นเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายโดยมีจำเลยที่ 4 พูดส่งเสริมสนับสนุนให้จำเลยที่ 2 ทำร้ายผู้เสียหายจนตายอย่างชัดแจ้ง สำหรับฎีกาอื่นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ที่อ้างว่านายรักและนางบรรจงเบิกความขัดแย้งกันนั้น ก็เป็นเพียงคำเบิกความที่ไม่สอดคล้องที่เป็นพลความหาใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญแห่งคดีไม่ จึงไม่ทำให้น้ำหนักของการรับฟังพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวลดน้อยลงจนไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่เป็นผู้กระทำความผิดดังวินิจฉัยมาแล้วแต่ประการใด ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โทษฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 กำหนดโทษไว้เป็น 3 ประการคือ โทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต และจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปีโดยให้ศาลเลือกพิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี การกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นการสนับสนุนพยายามกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่น โทษต่ำสุดที่ศาลจะลงได้คือจำคุก 6 ปี 8 เดือน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 5 ปีจึงไม่ถูกต้อง แต่เมื่อโจทก์ไม่ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 4 ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.648/2553
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา จำเลย - นายโชคอนันท์ ธัญญานนท์ กับพวก
ชื่อองค์คณะ วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์ อร่าม แย้มสอาด สุทธินันท์ เสียมสกุล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดนครราชสีมา - นายเวทย์ พัฒนชัยวงษ์คูณ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายสุวัฒน์ ไวยุพัฒนธี