คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12458/2556
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91, 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 43, 78, 157, 160
การที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำ อ. พยานซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี และบันทึกโดยไม่แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า อ. ให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การไว้จริง ศาลจึงรับฟังตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในคำให้การดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ และชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 226 แล้ว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 91, 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 78, 157, 160
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) (8), 78 วรรคหนึ่ง, 157, 160 วรรคสอง และวรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ฐานขับรถโดยประมาท และฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 4 ปี ฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลแล้วหลบหนีไม่แจ้งเหตุ จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง, 160 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 เดือน ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 2 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า การรับฟังบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของ อ. เป็นพยานไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้… ตามประมวลกฎหมายอาญา… การถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็ก" ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำ อ. และบันทึกไว้โดยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ชอบ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า อ. ให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การไว้จริง ศาลจึงรับฟังตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในคำให้การดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ และชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 แล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท ฐานขับรถก่อให้เกิดความเสียหายแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือและแสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำคุก 1 เดือน และปรับ 4,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี 1 เดือน และปรับ 14,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษ 2 ปี คุมความประพฤติจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2990/2555
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดสงขลา จำเลย - นายอภิชาติ แก่นจันทร์
ชื่อองค์คณะ นิยุต สุภัทรพาหิรผล วิรุฬห์ แสงเทียน วิวรรต นิ่มละมัย
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสงขลา - นายไพโรจน์ ไพมณี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 - นายชวลิต อิศรเดช