คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1291/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304 (2) ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 9, 108 ทวิ วรรคสอง
ที่ดินแปลงใหญ่เนื้อที่ประมาณ900ไร่มีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์สงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของราษฎรหลายหมู่บ้านจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1304(2)แม้จะยังไม่ขึ้นทะเบียนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตามดังนี้จำเลยทั้งเจ็ดจะเข้าไปครอบครองมานานเท่าใดจำเลยทั้งเจ็ดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 15 ถึงวันที่ 20 สิงหาคม2533 เวลากลางวันติดต่อกัน จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินทำเลเลี้ยงสัตว์ ตำบลท่าช้าง(บ้านท่าช้างน้อย) ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันในการเลี้ยงสัตว์ ในขณะอยู่ในความดูแลรักษาของคณะกรรมการอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยนายนพพร จันทรถง ในฐานะนายอำเภอวารินชำราบ จำเลยทั้งเจ็ดนี้ได้ร่วมกันเข้าไปครอบครองที่ดินดังกล่าวเป็นเนื้อที่ประมาณ15 ไร่เศษ ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งเจ็ดมิได้มีสิทธิครอบครองหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และขอให้ศาลสั่งให้จำเลยทั้งเจ็ด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าวด้วย
จำเลย ทั้ง เจ็ด ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการพิเศษประจำเขต 3 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา โดย อัยการ สูงสุด รับรอง ให้ ฎีกา ใน ปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 15 ไร่เศษ ตามฟ้อง เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงใหญ่เนื้อที่ประมาณ 900 ไร่ อยู่หมู่ที่ 10 ตำบลท่าช้างอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ทิศเหนือจดแม่น้ำมูลทิศใต้และทิศตะวันตกจดกุดน้ำใส ทิศตะวันออกจดร่องน้ำบุ่งมะแลงตามแผนที่สั่งเขปตามเอกสารหมาย จ.7 เป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยทั้งเจ็ดเข้าไปถากถางครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท คดีมีปัญหาว่าจำเลยทั้งเจ็ดได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์นำสืบว่า ที่ดินแปลงใหญ่ทั้งแปลงเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์สำหรับราษฎรหลายหมู่บ้านนำสัตว์เข้าไปเลี้ยง จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันนั้นพยานหลักฐานโจทก์มีนายทองดับ มาลาสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่12 นางจันทร์เพ็ง รังตนเพ็ญตระกูล ราษฎร หมู่ที่ 6นายวิบูลย์ พันธ์พงษ์แข่ง ราษฎรหมู่ที่ 6 และอดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 พระภิกษุกิติ กิติญาโณ เจ้าอาวาสวัดท่าช้างน้อยและเจ้าคณะตำบลท่าช้าง นายศรีบุญเรือง คมขำ ราษฎรหมู่ที่6 นายวันนา หาพันทา กำนันตำบลท่าช้าง นายสวาสดิ์ ชนะคุณผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 เบิกความ โดยเฉพาะพระภิกษุกิติได้เบิกความยืนยันว่า ก่อนบวชพยานเคยรับราชการเป็นเจ้าพนักงานที่ดินที่แปลงดังกล่าวเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์เป็นที่สาธารณะของราษฎรหลายหมู่บ้าน มีชาวบ้านรวมทั้งจำเลยที่ 1 ที่เคยเข้าไปทำกินในที่ดินได้ขอออก น.ส.3 ในที่ดินแปลงนี้ อำเภอสอบสวนแล้วได้ความว่าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงไม่ออก น.ส.3 ให้ พยานบวชตั้งแต่ ปี 2522 ได้มาจำพรรษาที่วัดท่าช้างน้อย ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสและเป็นเจ้าคณะตำบลท่าช้างพยานไม่เคยเห็นราษฎรคนใดเข้าไปทำกินอย่างถาวรในที่ดิน เพียงแต่มีราษฎรเข้าไปเก็บพืชผลหรือทำนาเป็นครั้งคราวหมุนเวียนกันไปตามฤดูกาลเท่านั้น เห็นว่าพยานปากนี้เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าช้างน้อยและเป็นเจ้าคณะตำบลท่าช้าง ย่อมเป็นที่เคารพนับถือของราษฎร คำเบิกความจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เมื่อรับฟังประกอบพยานโจทก์ปากอื่นและรายงานการประชุมของสภาตำบลท่าช้างเอกสารหมาย จ.1 แล้ว เห็นว่าพยานโจทก์ดังกล่าวรับฟังได้ว่า ที่ดินแปลงใหญ่ขึ้นเนื้อที่ประมาณ900 ไร่ หมู่ที่ 10 ตำบลท่าช้าง มีสภาพเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์สงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของราษฎรหลายหมู่บ้าน จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(2) แม้จะยังไม่ขึ้นทะเบียนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม ดังนั้น ที่ดินพิพาทตามฟ้องโจทก์จึงเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าว ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยทั้งเจ็ดได้บุกรุกเข้าไปถากถางครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์ได้ความว่าขณะเกิดเหตุเมื่อปี 2533 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10ตำบลท่าช้าง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ส่วนจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 เป็นราษฎรในหมู่ที่ 10 พยานหลักฐานโจทก์ได้ความว่า จำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นราษฎรในหมู่ที่ 10 ได้ทราบมติของสภาตำบลท่าช้าง ตามเอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 27เมษายน 2533 แล้ว แม้จะคัดค้านมติของที่ประชุมที่ให้ขึ้นทะเบียนที่ดินแปลงใหญ่เป็นที่สาธารณประโยชน์ ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสภาพของที่ดินสาธารณประโยชน์ให้เป็นที่ดินว่างเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิไปได้ แม้จำเลยทั้งเจ็ดจะเข้าไปครองครองมานานเท่าใด จำเลยทั้งเจ็ดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง และเห็นว่า ที่ดินพิพาทที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่ามีเนื้อที่ 15 ไร่ น่าจะเป็นเนื้อที่โดยประมาณเฉพาะส่วนที่มีพยานหลักฐานเห็นร่องรอยการบุกรุกถากถางใหม่ ๆในระหว่างวันเกิดเหตุ แต่ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ประกอบคำเบิกความของจำเลยทั้งเจ็ด ได้ความว่า ระหว่างเกิดเหตุจำเลยทั้งเจ็ดได้บุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันคนละกว่า 10 ไร่ แต่ไม่เกินคนละ 50 ไร่ มานานแล้ว ตามพฤติการณ์และการกระทำจำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งเจ็ดไม่มีเจตนาบุกรุกไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108 ทวิ วรรคสอง จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ให้จำเลยทั้งเจ็ดและบริวารออกจากที่ดินพิพาทที่ตนครอบครอง หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการประจำศาลแขวงอุบลราชธานี จำเลย - นาย เหลา กำลังเขียว กับพวก
ชื่อองค์คณะ ปรีชา เฉลิมวณิชย์ ธีระจิต ไชยาคำ ประกาศ บูรพางกูร
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan