คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1292/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 575 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,
เงินหรือเงินและสิ่งของใดที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานรวมทั้งวันหยุดวันลาหรือจ่ายให้ตามผลงานไม่ว่าค่าตอบแทนนั้นจะเรียกชื่อหรือกำหนดคำนวณอย่างไรก็ล้วนเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ2ทั้งสิ้นโจทก์ได้รับค่าเลี้ยงรับรองและค่าน้ำมันรถอีกเดือนละ20,000บาทโดยแบ่งจ่ายทุกวันที่15และวันสิ้นเดือนงวดละ10,000บาทเมื่อค่าเลี้ยงรับรองและค่าน้ำมันรถจำเลยจ่ายแก่โจทก์แน่นอนทุกเดือนจึงเป็นเงินตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานในตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์เป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้างต้น โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม2538จนถึงวันที่30มิถุนายน2538และจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้แสดงเจตนาเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่30มิถุนายน2538ในระหว่างวันที่1ถึงวันที่30มิถุนายน2538โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปโดยไม่ได้ทำงานให้แก่นายจ้างเช่นนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างเวลานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา575 ในระหว่างวันที่1มิถุนายน2538ถึงวันที่30มิถุนายน2538อันเป็นช่วงเวลาที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุอันสมควรอย่างไรทั้งไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยเป็นการตอบแทนโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในช่วงเวลานั้นปัญหาว่าคำสั่งเลิกจ้างย้อนหลังไปถึงวันที่1มิถุนายน2538ได้หรือไม่จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2537 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ให้ค่าจ้างเดือนละ 40,000 บาทกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสุดท้ายของเดือน ต่อมาวันที่1 พฤศจิกายน 2537 จำเลยแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้อำนวยการการตลาดและการโฆษณาและเพิ่มเงินเดือนให้โจทก์อีกเดือนละ 20,000 บาทมีผลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2537 เป็นต้นไป ต่อมาจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างในเดือนเมษายน 2538 เป็นเงิน 20,000 บาท เดือนพฤษภาคม2538 เป็นเงิน 20,000 บาท และเดือนมิถุนายน 2538 เป็นเงิน60,000 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 15 กรกฎาคม 2538 เป็นเงิน30,000 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 60,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 180,000 บาท โจทก์ติดตามทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 100,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน30,000 บาท ค่าชดเชยจำนวน 60,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เดือนละ40,000 บาท ไม่เคยเพิ่มเงินเดือนให้โจทก์อีกเดือนละ 20,000 บาทจำเลยไม่เคยค้างจ่ายค่าจ้างในเดือนเมษายน 2538 และเดือนพฤษภาคม2538 ส่วนค่าจ้างในเดือนมิถุนายน 2538 โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเพราะตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2538 โจทก์ไม่ได้มาทำงานจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต่อมาวันที่ 30มิถุนายน 2538 โจทก์มาที่บริษัทจำเลยจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยกเสีย
จำเลย อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ค่าเลี้ยงรับรองและค่าน้ำมันรถยนต์เป็นค่าจ้างหรือไม่และจำเลยค้างจ้างค่าจ้างในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2538ในส่วนที่เป็นค่าเลี้ยงรับรองและค่าน้ำมันรถหรือไม่ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานได้กำหนดไว้ในข้อ 2 ว่า"ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้และหมายความรวมถึงเงินหรือเงินและสิ่งของที่จ่ายให้ในวันหยุดซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงาน และในวันลาด้วยทั้งนี้ไม่ว่าจะกำหนดคำนวณ หรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไรและไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ดังนี้เห็นได้ว่า เงินหรือเงินและสิ่งของใดที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาปกติวันทำงาน รวมทั้งวันหยุด วันลาหรือจ่ายให้ตามผลงาน ไม่ว่าค่าตอบแทนนั้นจะเรียกชื่อหรือกำหนดคำนวณอย่างไรก็ล้วนเป็นค่าจ้างทั้งสิ้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่านอกจากโจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนละ 40,000 บาท แล้วโจทก์ยังได้รับค่าเลี้ยงรับรองและค่าน้ำมันรถอีกเดือนละ 20,000 บาทโดยแบ่งจ่ายทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน งวดละ 10,000 บาทศาลฎีกาเห็นว่า เงินดังกล่าวถึงจะเรียกว่าค่าเลี้ยงรับรองและค่าน้ำมันรถ แต่จำเลยจ่ายแก่โจทก์แน่นอนทุกเดือน จึงเป็นเงินตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานในตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ เป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้างต้นจำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างในส่วนค่าเลี้ยงรับรองและค่าน้ำมันรถในเดือนเมษายน 2538 และพฤษภาคม 2538 อีกเดือนละ 20,000 บาทรวมเป็น 40,000 บาท
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยต่อไปว่า จำเลยจะต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างเดือนมิถุนายน 2538 หรือไม่ ปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2538 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 และจำเลยได้แสดงเจตนาเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2538ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 บัญญัติว่าอันว่าสัญญาจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนคือลูกจ้างต้องทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างจะจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานได้ ในระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่30 มิถุนายน 2538 โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปโดยไม่ได้ทำงานให้แก่นายจ้างเช่นนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างเวลานั้นที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง 60,000 บาท แก่โจทก์ในเดือนมิถุนายน 2538 จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ส่วนปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 30 มิถุนายน 2538 และคำสั่งให้มีผลย้อนหลังไปมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2538 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างของเดือนมิถุนายน2538 นั้น เห็นว่าเมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่า ในระหว่างวันที่1 มิถุนายน 2538 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 เป็นช่วงเวลาที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุอันสมควรอย่างไรทั้งไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยเป็นการตอบแทน โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ปัญหาว่าคำสั่งเลิกจ้างย้อนหลังไปถึงวันที่1 มิถุนายน 2538 ได้หรือไม่ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินค่าจ้างสำหรับเดือนมิถุนายน 2538 จำนวน 60,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ชาตรี ศิริสนธ์ จำเลย - บริษัท โรง พิมพ์ สยามธุรกิจ จำกัด
ชื่อองค์คณะ สมมาตร พรหมานุกูล พรชัย สมรรถเวช ชลอ บุณยเนตร
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan