สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1304/2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1304/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 246, 247, 302

ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งจำเลยทั้งสามยอมชำระหนี้ให้โจทก์โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน หากผิดนัดงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที ระหว่างการผ่อนชำระหนี้จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากการทำงานและได้ยื่นคำร้องว่าที่โจทก์ขอให้ต้นสังกัดซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หักเงินบำเหน็จโดยอาศัยสิทธิตามสัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบเพราะจำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัด ศาลชั้นต้นไม่รับวินิจฉัยคำร้องของจำเลย เนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีให้ศาลกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ ที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการบังคับตามคำพิพากษา อุทธรณ์ของจำเลยแม้พอจะถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยในประเด็นเบื้องต้นก่อนว่าจำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้เพื่อให้ศาลกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ ที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้และเป็นประเด็นที่ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์กลับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยตั้งประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิขอให้ต้นสังกัดของลูกจ้างหักเงินบำเหน็จที่จำเลยที่ 1 จะได้รับ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ ซึ่งปัญหานี้ศาลชั้นต้นไม่รับวินิจฉัยเพราะเป็นเพียงประเด็นต่อจากประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้ยกคำร้องของจำเลย การที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยประเด็นหลักในเบื้องต้นก่อนเช่นนี้จึงไม่ชอบ แม้โจทก์จะมิได้ฎีกาในปัญหานี้แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5),246 และ 257และแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง ก็เป็นเรื่องที่โจทก์มิได้มีการบังคับคดีจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 และเป็นเรื่องที่โจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 นอกเหนือการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม จำเลยที่ 1 ต้องไปว่ากล่าวโจทก์เป็นอีกคดีหนึ่ง ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้

เนื้อหาฉบับเต็ม

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันให้โจทก์จำนวน 286,480 บาท พร้อมดอกเบี้ย ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสามได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยทั้งสามยอมชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 310,316.84 บาท โดยจำเลยทั้งสามตกลงจะผ่อนชำระให้โจทก์เป็นรายเดือนเดือนละ 4,000 บาท ภายในวันที่ 1 ของทุกเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2539 เป็นต้นไป ถ้าผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว

จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า คดีนี้อยู่ระหว่างจำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความของศาล จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากลูกจ้างประจำของศาลจังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่วันที่ 17สิงหาคม 2541 มีสิทธิรับบำเหน็จลูกจ้างซึ่งศาลจังหวัดสุรินทร์ได้ทำการเบิกจ่ายจากคลังจังหวัดสุรินทร์ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่โจทก์มีหนังสือถึงศาลจังหวัดสุรินทร์ให้หักเงินบำเหน็จจำเลยที่ 1 อันเป็นการกระทำโดยมิชอบ ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจรับบำเหน็จครบถูกต้อง ทั้งที่จำเลยที่ 1 ยังผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 1ยังมิได้ผิดนัด และหนี้ตามคำพิพากษายังไม่มีหมายบังคับคดีจำเลยที่ 1 มิได้ตกอยู่ตามข้อบังคับของโจทก์กล่าวอ้าง จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 ขอศาลได้พิจารณาและชี้ขาดเพื่อจำเลยที่ 1 จะได้นำเสนอต่อศาลจังหวัดสุรินทร์ต่อไป

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์มีสิทธิทำหนังสือถึงศาลจังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 ให้หักเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ได้ ตามสัญญากู้ยืมเอกสารท้ายคำคัดค้านหมายเลข 2 ข้อ 6

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเฉพาะอุทธรณ์ข้อ 7

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลจังหวัดสุรินทร์หักเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 มาชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้โจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1ในฐานะผู้กู้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันให้รับผิดชำระเงินตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันให้โจทก์จำนวน 286,480 บาทพร้อมดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยทั้งสามได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยทั้งสามยอมชำระหนี้ให้โจทก์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 310,316.84 บาท โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือนเดือนละ 4,000 บาทภายในวันที่ 1 ของทุกเดือน เริ่มชำระตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2539เป็นต้นไป ถ้าผิดนัดงวดหนึ่งงวดใด ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว คดีอยู่ระหว่างการผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากลูกจ้างประจำของศาลจังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่วันที่ 17สิงหาคม 2541 จำเลยที่ 1 จึงยื่นคำร้องลงวันที่ 3 กันยายน 2541 ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิรับบำเหน็จลูกจ้าง ซึ่งศาลจังหวัดสุรินทร์ได้ทำการเบิกจ่ายจากคลังจังหวัดสุรินทร์ให้จำเลยที่ 1 แต่โจทก์มีหนังสือถึงศาลจังหวัดสุรินทร์ให้หักเงินบำเหน็จจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าในการทำหนังสือกู้ยืม จำเลยที่ 1ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินสะสม บำเหน็จ บำนาญ หรือเงินอื่นใด ที่จะพึงจ่ายให้จำเลยที่ 1 หักเงินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นเสียก่อนได้ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบ ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจรับบำเหน็จครบถูกต้อง ทั้งที่จำเลยที่ 1 ยังผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 1ยังมิได้ผิดนัด และหนี้ตามคำพิพากษายังไม่มีหมายบังคับคดี จำเลยที่ 1มิได้ตกอยู่ตามข้อบังคับของโจทก์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 ขอศาลได้พิจารณาชี้ขาดเพื่อจำเลยที่ 1 จะได้เสนอต่อศาลจังหวัดสุรินทร์ต่อไป เห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมีปัญหาวินิจฉัยในเบื้องต้นก่อนว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้เพื่อให้ศาลกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ ที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินการของโจทก์ดังกล่าว เป็นกรณีที่โจทก์ปฏิบัติตามข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์ มิใช่เป็นเรื่องการบังคับคดีอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดดังจำเลยที่ 1 กล่าวมาในคำร้องจึงได้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้นถือได้ว่าศาลชั้นต้นไม่รับวินิจฉัยคำร้องของจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้ให้ศาลกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ ที่บัญญัติไว้ในภาค 4แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการบังคับตามคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในข้อ 7 ว่า เมื่อคู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในบังคับของสัญญากู้เงิน ข้อ 6 ที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อเท็จจริงดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงคลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมต่อจำเลยที่ 1 เป็นข้อเท็จจริงนอกเหนือมิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือประนีประนอมยอมความนั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว แม้พอจะถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยในประเด็นเบื้องต้นก่อนว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้เพื่อให้ศาลกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ ที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้และเป็นประเด็นที่ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์กลับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โดยตั้งประเด็นว่า หลังจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามชำระเงินตามสัญญากู้ยืมและสัญญาค้ำประกันต่อศาลชั้นต้นแล้ว ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสามได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ลาออกจากราชการ และมีสิทธิได้รับบำเหน็จจำนวนหนึ่ง โจทก์มีสิทธิที่จะขอให้ศาลจังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 หักเงินบำเหน็จที่จำเลยที่ 1 จะได้รับดังกล่าว เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่ศาลชั้นต้นไม่รับวินิจฉัยให้เนื่องจากศาลชั้นต้นได้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้ ดังนั้น ปัญหาที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงประเด็นต่อจากประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยประเด็นหลักในเบื้องต้นก่อนเช่นนี้จึงไม่ชอบ แม้โจทก์จะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5), 246 และ 247 และเห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 นั้น แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างก็เป็นเรื่องที่โจทก์มิได้มีการบังคับคดีจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 แต่เป็นเรื่องที่โจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 นอกเหนือการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม จำเลยที่ 1 ชอบที่จะไปว่ากล่าวโจทก์เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวข้างต้นเข้ามาในคดีนี้ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์อีกต่อไป"

พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ชื่อคู่ความ โจทก์ - สหกรณ์ออมทรัพย์ กระทรวงยุติธรรม จำกัด จำเลย - นาย สงวน บุญเลื่อน กับพวก

ชื่อองค์คณะ ชวลิต ธรรมฤาชุ สมชัย เกษชุมพล สุมิตร สุภาดุลย์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE