สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1350/2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1350/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่า การที่โจทก์ออกจากงานเป็นการเลิกจ้าง มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ามิใช่เป็นกรณีเลิกจ้างคดีถึงที่สุด แล้วโจทก์มาฟ้องคดีนี้เรียกค่าชดเชยโดยอาศัยเหตุว่า เป็นการเลิกจ้างอีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ เพราะแม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ของประชาชน ก็มิใช่กรณีที่ยกเว้นให้ฟ้องซ้ำได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "โจทก์อุทธรณ์ว่าคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยว่าผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในเหตุเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์มิใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่าายค่าชดเชยแก่โจทก์ พิเคราะห์แล้วได้ความว่า โจทก์กับพวกเคยฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งเรียกค่าชดเชยหลาายสำนวน ปรากฏตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 4876-4891/2522 ของศาลอุทธรณ์ เฉพาะสำนวนของโจทก์ตามคดีหมาายเลขแดงที่ 4876/2522 โจทก์ฟ้องอ้างว่า เนื่องจากมีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2517 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง โจทก์ออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยฐานสูงอายุ จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย นอกจากนั้นได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม2518 ข้อ 2 ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ออกจากงานฐานสูงอายุอีกด้วย จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 29,076 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีดังกล่าวว่า โจทก์ออกจากงานเพราะครบเกษียณอายุหรือมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นการออกจากงานเพราะพ้นจากตำแหน่งไม่ใช่กรณีเลิกจ้าง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่อ้างในคำฟ้องเป็นการตกลงให้ค่าชดเชยเกี่ยวกับการเลิกจ้าง เมื่อกรณีของโจทก์ไม่ใช่การเลิกจ้างจึงไม่มีฐานอันเป็นที่ตั้งแห่งสิทธิ ข้อตกลงดังกล่าวไม่มีผลผูกพันคู่กรณี โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแพ่งที่ให้ยกฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุด ดังนี้เห็นว่าคดีก่อนโจทก์ฟ้องอ้างว่า การที่โจทก์ออกจากงานเป็นการเลิกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานด้วยแล้ว หาใช่เพียงแต่อ้างว่าจำเลยผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเท่านั้นไม่ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการที่โจทก์ออกจากงานมิใช่เป็นกรณีเลิกจ้าง โจทก์มาฟ้องคดีนี้โดยอาศัยเหตุว่าเป็นการเลิกจ้างจึงเป็นฟ้องซ้ำ การที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน อันเป็นมูลแห่งสิทธิที่โจทก์อ้างเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน มิใช่กรณีที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้ให้ฟ้องซ้ำได้"

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา เนติบัณฑิตยสภา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นายโหน จันทร์ประเสริฐ จำเลย - การรถไฟแห่งประเทศไทย

ชื่อองค์คณะ สมบูรณ์ บุญภินนท์ ขจร หะวานนท์ สมศักดิ์ ปาลวัฒน์วิไชย

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE