คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1366/2564
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 86, 277 วรรคสี่ (เดิม), 283 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคสอง, 215, 225
ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยคบคิดกับพวกที่จะกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ทั้งขณะพวกของจำเลยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จำเลยไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์และมิได้ร่วมกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง แต่การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปให้พวกของจำเลยกระทำชำเรา และมิได้ช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 2 หรือห้ามปรามพวกของจำเลย เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่พวกของจำเลยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ก่อนกระทำความผิด จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ศาลลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ และข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 283 ทวิ, 317 และนับโทษของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1844/2561 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณานางสาว พ. ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง พ. ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อชื่อเสียงเป็นเงิน 150,000 บาท แก่ผู้ร้องที่ 1 และค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อร่างกาย เสรีภาพ และชื่อเสียง เป็นเงิน 200,000 บาท แก่ผู้ร้องที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 86, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 18 ปีเศษ เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง และฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนการร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ประกอบมาตรา 53 จำคุก 22 ปี 2 เดือน 20 วัน ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร จำคุก 3 ปี 4 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง คงจำคุก 16 ปี 8 เดือน ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 18 ปี 14 เดือน นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4145/2561 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท แก่ผู้ร้องที่ 2 เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง และฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังยุติเป็นเบื้องต้นว่า เด็กหญิง พ. ผู้เสียหายที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2547 เป็นบุตรของนางสาว พ. ผู้ร้องที่ 1 อยู่ในความปกครองของนาย ผ. ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นตาของผู้เสียหายที่ 2 ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 อายุ 13 ปีเศษ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา จำเลย นาย ว. และนาย ต. ขับรถจักรยานยนต์ไปรับผู้เสียหายที่ 2 เด็กหญิง ป. และเด็กหญิง ม. ไปที่เล้าเป็ด เมื่อไปถึงผู้เสียหายที่ 2 เดินตามเด็กหญิง ป. และเด็กหญิง ม. ไปเข้าห้องน้ำในห้องนอนที่เกิดเหตุ ต่อมาพวกของจำเลยไม่ยอมให้ผู้เสียหายที่ 2 ออกจากห้อง จากนั้นนาย ณ. กับพวกรวม 6 คน ร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง คดีนี้ในความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน เป็นการลงโทษจำคุกจำเลยในกระทงนี้ไม่เกินห้าปีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังมีข้อพิรุธอยู่หลายประการไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้นั้น เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง และฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีผู้เสียหายที่ 2 มาเบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 22 นาฬิกา นาย ว. ขับรถจักรยานยนต์มีจำเลยนั่งซ้อนท้าย และนาย ต. ขับรถจักรยานยนต์อีกคันไปรับผู้เสียหายที่ 2 เด็กหญิง ป. และเด็กหญิง ม. ไปที่เล้าเป็ดที่เกิดเหตุเมื่อไปถึงที่เกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 เดินตามเด็กหญิง ป. และเด็กหญิง ม. ไปเข้าห้องน้ำซึ่งอยู่ในห้องนอน พบชายหลายคนนอนเล่นโทรศัพท์อยู่ในห้องนอน ขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 กำลังจะเดินตามเด็กหญิง ป. และเด็กหญิง ม. ออกไปจากห้อง มีชายคนหนึ่งเดินมาขวางและล็อกประตูห้อง และจับมือผู้เสียหายที่ 2 ไปที่เตียงนอน ผลักผู้เสียหายที่ 2 นอนลงบนเตียงแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยใช้อวัยวะเพศของชายคนดังกล่าวใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 ขัดขืนและร้องขอความช่วยเหลือ จากนั้นนาย ณ. กับชายอีก 4 คน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 เดินออกจากห้องพบจำเลย นาย ว. เด็กหญิง ป. และเด็กหญิง ม. นั่งผิงไฟอยู่ห่างจากห้องที่เกิดเหตุประมาณ 5 ถึง 6 ก้าว รุ่งเช้านาย ณ. ขับรถจักรยานยนต์ไปส่งผู้เสียหายที่ 2 เด็กหญิง ป. และเด็กหญิง ม. ที่บ้านของเด็กหญิง ป. ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่าผู้เสียหายที่ 1 ทราบเหตุคดีนี้จากหลานชายจึงเรียกผู้เสียหายที่ 2 มาสอบถามได้ความว่าวันเกิดเหตุเด็กหญิง ป. และเด็กหญิง ม. ชวนผู้เสียหายที่ 2 ไปกินหมูกระทะแล้วพากันไปที่เกิดเหตุ มีผู้ชายอยู่ในที่เกิดเหตุประมาณ 5 คน ผู้เสียหายที่ 2 ถูกชายหลายคนผลัดเปลี่ยนกันกระทำชำเรา ผู้เสียหายที่ 2 ขัดขืนและร้องขอความช่วยเหลือแต่ไม่มีใครช่วยผู้เสียหายที่ 1 จึงพาผู้เสียหายที่ 2 ไปแจ้งความดำเนินคดีจำเลยกับพวก เห็นว่า ผู้เสียหายทั้งสองเบิกความสอดคล้องตรงกัน โดยเฉพาะผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นประจักษ์พยานเบิกความตรงกับที่เคยให้การในชั้นสอบสวน ซึ่งเป็นการให้การต่อพนักงานสอบสวนต่อหน้าพนักงานอัยการและนักจิตวิทยา ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 เป็นเด็กอายุเพียง 13 ปีเศษ ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าผู้เสียหายที่ 2 จะเบิกความใส่ร้ายปรักปรำจำเลย เชื่อว่าผู้เสียหายที่ 2 เบิกความไปตามความเป็นจริงและน่าเชื่อถือ ที่จำเลยนำสืบว่า วันเกิดเหตุนาย ว. ชวนจำเลยไปกินเหล้าที่บ้านเพื่อนของนาย ว. อยู่บริเวณใกล้วัด แต่นาย ว. ไม่รู้จักทางจึงให้จำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปด้วยกันเพื่อบอกทาง ระหว่างทางพบนาย ต. ขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา นาย ว. ชักชวนนาย ต. ให้ขับรถติดตามไปกินเหล้าด้วยกัน โดยมีนาย ว. มาเบิกความสนับสนุน นับว่ามีข้อพิรุธและขัดต่อเหตุผลว่าเหตุใดนาย ว. ต้องการที่จะไปรับเด็กหญิง ป. ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่าเด็กหญิง ป. เป็นคนรักของนาย ว. กลับต้องปิดบังจำเลยและบอกกับจำเลยว่าชวนไปกินเหล้า และเมื่อพบนาย ต. นาย ว. กลับชักชวนนาย ต. ให้ขับรถจักรยานยนต์ติดตามไปกินเหล้า ทั้ง ๆ ที่นาย ว. รู้อยู่แล้วว่าไม่ได้ไปกินเหล้าตามที่ชักชวน อีกทั้งปรากฏจากคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 2 ว่า จุดที่จำเลย นาย ว. และนาย ต. ไปรับผู้เสียหายที่ 2 เด็กหญิง ป. และเด็กหญิง ม. คือบริเวณหน้าบ้านของเด็กหญิง ป. มิใช่หน้าวัด โดยผู้เสียหายที่ 2 ได้ชี้ยืนยันจุดเกิดเหตุดังกล่าวไว้ เชื่อว่าเป็นไปดั่งที่ผู้เสียหายที่ 2 ให้การไว้ นาย ว. เป็นคนรักของเด็กหญิง ป. ย่อมรู้จักเส้นทางไปที่บ้านของเด็กหญิง ป. ดีกว่าจำเลย แสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้เห็นเป็นใจกับพวกที่ไปด้วยกัน จำเลยและนาย ว. มีเจตนาที่จะไปรับเด็กหญิง ป. เด็กหญิง ม. และผู้เสียหายที่ 2 มาตั้งแต่แรก และได้มีการชักชวนนาย ต. ให้ขับรถจักรยานยนต์ตามมาอีกคันเพื่อรับผู้เสียหายที่ 2 กับพวกไปที่เกิดเหตุได้ทั้งหมดในคราวเดียวกัน แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความเพียงว่า จำเลยกับพวกพาผู้เสียหายที่ 2 ไปยังที่เกิดเหตุซึ่งมีพวกของจำเลยรออยู่ภายในห้องนอนที่เกิดเหตุหลายคน แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยคบคิดกับพวกที่จะกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 มาก่อนที่จำเลยจะเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ และเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่พวกของจำเลยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ทั้งขณะพวกของจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการอันใดให้เห็นว่ามีลักษณะเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วย และจำเลยไม่ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ในขณะพวกของจำเลยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ทั้งจำเลยไม่ได้ร่วมกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่า จำเลยเป็นตัวการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงแต่การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปให้พวกของจำเลยกระทำชำเรา และมิได้เข้าช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 2 หรือห้ามปรามพวกของจำเลยเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่พวกของจำเลยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ก่อนกระทำความผิดจำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง แม้ว่าโจทก์ฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการกระทำความผิด แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องก็ตาม แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวนั้นมิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องส่วนฎีกาของจำเลยประการอื่นไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นตัวการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน อย่างไรก็ดี ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษจำคุกจำเลยมานั้นหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 และให้ใช้ความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงให้ใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ (เดิม) ประกอบมาตรา 86, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยอายุสิบแปดปีเศษแต่ยังไม่เกินยี่สิบปี ลดมาตราส่วนโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ประกอบมาตรา 53 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง และฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 16 ปี 8 เดือน ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร จำคุก 2 ปี 6 เดือน รวมเป็นจำคุก 18 ปี 14 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 13 ปี 16 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2932/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัด ผู้ร้อง - นางสาว พ. กับพวก จำเลย - นาย พ.
ชื่อองค์คณะ สราวุธ ศิริภาณุรักษ์ วัฒนา วิทยกุล สุรพล เอี่ยมอธิคม
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดนครปฐม - นายไพโรจน์ ธนกิจโกเศรษฐ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 - นายณฤทธิ์ บุญปริอาทร