สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1446/2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1446/2543

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ม. 27, 264 พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ม. 46 ทศ

ผู้ต้องหาถูกธนาคารแห่งประเทศไทยร้องทุกข์กล่าวโทษว่าร่วมกับพวกยักยอกทรัพย์ของธนาคาร ก. เฉพาะที่ผู้ต้องหาถูกฟ้องเป็นจำเลยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล จำนวน 2 คดี มูลค่าความเสียหายประมาณ 2,000 ล้านบาทและมีการขยายผลเพื่อดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาอีกหลายคดี รวมความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท เป็นเหตุให้ธนาคาร ก. ต้องปิดกิจการลงในที่สุดกรณีดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความล่มสลายของสถาบันการเงินอื่นและระบบเศรษฐกิจของประเทศ หลังเกิดเหตุแล้วธนาคารแห่งประเทศไทยได้ติดตามอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาเพื่อนำมาชดเชยความเสียหาย ปรากฏว่าทรัพย์สินของผู้ต้องหาที่ติดตามอายัดได้เป็นจำนวนเล็กน้อย ไม่อาจทดแทนความเสียหายที่ผู้ต้องหากับพวกก่อให้เกิดขึ้นได้ผู้ต้องหาเป็นน้องภริยาของ ร. ผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีทุจริตยักยอกทรัพย์ของธนาคาร ก. และ ร. ได้หลบหนีคดีไปอยู่ที่ประเทศ แคนาดา การอนุญาตให้ผู้ต้องหาออกนอกราชอาณาจักรอาจเป็นช่องทางให้ผู้ต้องหาหลบหนีคดีเช่นเดียวกับ ร. ญาติของผู้ต้องหาได้ผู้ต้องหาอ้างเหตุในคำร้องที่ขออนุญาตออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปเป็นพยานให้ ร. ต่อศาลสูงแห่งมลรัฐ บริติชโคลัมเบีย ประเทศ แคนาดา ในคดีที่ ร. ถูกฟ้องในข้อหาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งทางการไทยได้ขอตัว ร. มาดำเนินคดีในประเทศไทย ตามพฤติการณ์ดังกล่าวไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ต้องหาออกนอกราชอาณาจักรตามคำร้องของผู้ต้องหาได้

ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกยักยอกทรัพย์ของธนาคาร ก. การห้ามมิให้ผู้ต้องหาออกนอกราชอาณาจักร เป็นขั้นตอนและวิธีการที่จะได้ตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายบัญญัติ การดำเนินการดังกล่าวจึงไม่เป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา และคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการสั่งโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505มาตรา 46 ทศ วรรคสี่ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

เนื้อหาฉบับเต็ม

คดีสืบเนื่องมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ นายเอกชัย อธิคมนันทะ นางพจณีย์ ชลลัมพีนางสาวสุนันทา หาญวรเกียรติ และนายพิเศษ พานิชสมบัติ ผู้ต้องหาออกนอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 46 ทศ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามบุคคลดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรจนกว่าคดีถึงที่สุด ต่อมานางสาวสุนันทา หาญวรเกียรติ ผู้ต้องหาที่ 5 ยื่นคำร้องขออนุญาตเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และธนาคารแห่งประเทศไทยยื่นคำคัดค้าน

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ผู้ต้องหาที่ 5 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ต้องหาที่ 5 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาชั้นฎีกาว่า มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ต้องหาที่ 5ออกนอกราชอาณาจักรหรือไม่ เห็นว่า ผู้ต้องหาที่ 5 ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยร้องทุกข์กล่าวโทษว่าร่วมกับพวกยักยอกทรัพย์ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) เฉพาะที่ผู้ต้องหาที่ 5 ถูกฟ้องเป็นจำเลยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้ จำนวน 2 คดี มูลค่าความเสียหายประมาณ 2,000 ล้านบาท และมีการขยายผลเพื่อดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาที่ 5 อีกหลายคดีรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท เป็นเหตุให้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน)ต้องปิดกิจการลงในที่สุด กรณีดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความล่มสลายของสถาบันการเงินอื่นและระบบเศรษฐกิจของประเทศ หลังเกิดเหตุแล้วธนาคารแห่งประเทศไทยได้ติดตามอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาที่ 5 เพื่อนำมาชดเชยความเสียหาย ปรากฎว่าทรัพย์สินของผู้ต้องหาที่ 5 ที่ติดตามอายัดได้มีเพียงเงินฝากในสถาบันการเงินจำนวน 2,599,052.40 บาท หุ้นในบริษัทต่าง ๆ จำนวน 9,584,675 หุ้น ที่ดินโฉนดเลขที่ 18159 อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ เมื่อเทียบกับความเสียหายแล้ว ทรัพย์สินดังกล่าวถือว่าเป็นจำนวนเล็กน้อยไม่อาจทดแทนความเสียหายที่ผู้ต้องหาที่ 5 กับพวกก่อให้เกิดขึ้นได้ผู้ต้องหาที่ 5 เป็นน้องภริยาของนายราเกซ สักเสนา ผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีทุจริตยักยอกทรัพย์ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) นายราเกซ ได้หลบหนีคดีไปอยู่ที่ประเทศแคนาดา การอนุญาตให้ผู้ต้องหาที่ 5 ออกนอกราชอาณาจักรอาจเป็นช่องทางให้ผู้ต้องหาที่ 5 หลบหนีคดีเช่นเดียวกับนายราเกซญาติของผู้ต้องหาที่ 5 ได้ ผู้ต้องหาที่ 5 อ้างเหตุในคำร้องที่ขออนุญาตออกนอกราชอาณาจักรก็เพื่อไปเป็นพยานให้นายราเกซต่อศาลสูงแห่งมลรัฐบริติช โคลัมเบียประเทศแคนาดา ในคดีที่นายราเกซถูกฟ้องในข้อหาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งทางการไทยได้ขอตัวนายราเกซมาดำเนินคดีในประเทศไทย ตามพฤติการณ์ดังกล่าวไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ต้องหาที่ 5 ออกนอกราชอาณาจักรตามคำร้องของผู้ต้องหาที่ 5 ได้

ที่ผู้ต้องหาที่ 5 อ้างว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ห้ามมิให้ผู้ต้องหาที่ 5 ออกนอกราชอาณาจักร ทำให้ผู้ต้องหาที่ 5 ถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ผู้ต้องหาที่ 5 ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกยักยอกทรัพย์ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) การห้ามมิให้ผู้ต้องหาที่ 5 ออกนอกราชอาณาจักร เป็นขั้นตอนและวิธีการที่จะได้ตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติ การดำเนินการดังกล่าว จึงไม่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาที่ 5 และคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการสั่งโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 46 ทศ วรรคสี่ คำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ร้อง - ผู้ต้องหา ผู้ร้อง - นาย เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กับพวก

ชื่อองค์คณะ วิรัช ลิ้มวิชัย ระพินทร บรรจงศิลป สมชาย จุลนิติ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE