คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14704/2557
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 362, 365
โจทก์และจำเลยยังนำสืบโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทกันอยู่ แม้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 6869 แต่ก็รับว่าไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาจากเจ้าของที่ดินเดิมโดยการส่งมอบการครอบครอง และมีกรณีฟ้องร้องเพราะเหตุที่มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 2434 โดยไม่ชอบทับที่ดินของบุคคลอื่นอีกหลายคดี ซึ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์แบ่งแยกมาจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว เท่ากับจำเลยยืนยันโดยมีเหตุผลตามสมควรว่า จำเลยมีสิทธิครอบครอง เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวโต้แย้งกันทางแพ่ง จึงต้องรับฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 (2) (3)
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 362, 83 จำคุก 1 ปี 6 เดือนทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานบุกรุกหรือไม่ เห็นว่า แม้สำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 6869 ระบุว่าโจทก์ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ทั้งโจทก์มีนายรัฐหรือธัชกร เจ้าพนักงานที่ดินเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ยังมีผลตามกฎหมายและมิได้ถูกเพิกถอนก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากสำเนาคำสั่งกรมที่ดิน เรื่องตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีข้าราชการกระทำผิดวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ปรากฏว่า มีการกล่าวถึงข้อเท็จจริงกรณีที่ข้าราชการสำนักงานที่ดินร่วมมือกับนายณรงค์ และพวกนำที่ดินซึ่งนายไม มีสิทธิครอบครองอยู่ไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่2434 ในชื่อตนเองแล้วนำไปขายได้เงินแบ่งปันกัน ซึ่งหากเป็นความจริงก็ต้องถือว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทุกฉบับที่แบ่งแยกมาจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2434 เป็นเอกสารสิทธิที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายเมื่อโจทก์ไม่นำสืบข้อเท็จจริงให้เห็นได้เป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากที่ปรากฏตามเอกสาร และโจทก์เบิกความด้วยว่าโจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 6869 แต่อย่างใด ลำพังเพียงการที่โจทก์รังวัดแบ่งแยกที่ดินโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน ยังมิใช่การกระทำอันถือได้ว่าเป็นการยึดถือครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดิน เมื่อจำเลยนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยได้สิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าวมาจากเจ้าของที่ดินเดิมโดยการส่งมอบการครอบครอง และมีกรณีฟ้องร้องเพราะเหตุที่มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2434 โดยมิชอบทับที่ดินของบุคคลอื่นอีกหลายคดี รวมทั้งคดีที่มีการฟ้องนายเติม ต่อศาลชั้นต้นซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ฉบับดังกล่าว เท่ากับจำเลยยืนยันโดยมีเหตุผลตามสมควรว่า จำเลยมีสิทธิครอบครองอันเป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวโต้แย้งกันในทางแพ่ง จึงต้องรับฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1802/2557
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นายสมคิด เจริญสุข จำเลย - นางอัสนี เยิดยิ่ง
ชื่อองค์คณะ เมทินี ชโลธร ณัฏฐชัย ไวยภาษจีรกุล สุพจน์ กิตติรักษนนท์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี - นายจงจิต เพชรจันทร์กัน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายเพิ่มศักดิ์ สายสีทอง