คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15214/2555
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 84, 86, 334, 335 (7), 335 วรรคแรก
เมื่อพยานหลักฐานโจทก์นำสืบฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ใช้ให้เด็กชาย น. กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 84 จึงลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ได้ เมื่อฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการสนับสนุนให้เด็กชาย น. กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 แม้โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีกคนหนึ่ง ร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก แต่เมื่อได้ความว่า จำเลยเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เท่านั้น ไม่ได้เป็นตัวการ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นตามบทบัญญัติดังกล่าว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 83 กับให้คืนทรัพย์ที่ลักไปหรือใช้ราคา 130,100 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษา ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 จำคุก 8 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 130,100 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการที่เด็กชาย น. ลักพระเครื่องของผู้เสียหายไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ โจทก์มีนายประดิษฐ์ ผู้เสียหาย เด็กชาย น. นายสุมิท และนางทองมี เป็นพยาน โดยต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันเป็นลำดับว่า เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2548 เด็กชาย น. ไปโรงพยาบาลบางปลาม้าพร้อมกับนางลำดวน ซึ่งเป็นป้า โดยจำเลยเป็นคนขับรถพาไป ระหว่างที่นางลำดวนเข้าไปในโรงพยาบาล จำเลยบอกเด็กชาย น. ว่า ถ้าอยากได้โทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เอาพระเครื่องจากบ้านผู้เสียหายมาให้ 3 องค์ วันรุ่งขึ้นเด็กชาย น. จึงปีนขอบหน้าต่างบ้านผู้เสียหายขึ้นไปเอาพระเครื่องซึ่งอยู่บนหิ้งพระไป 3 องค์ โดยเป็นพระสมเด็จวัดระฆัง เนื้อผงสีขาวหม่น พระซุ้มกอหลวงพ่อโหน่ง เนื้อดินเผาสีน้ำตาล และพระสมเด็จทำใหม่ เนื้อดินเผา มีราคารวมประมาณ 130,100 บาท ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายไม่ได้คืนและภาพวาดลักษณะพระเครื่อง กับภาพถ่ายรูปแบบและลักษณะพระเครื่องที่หายไป จากนั้นเด็กชาย น.ได้นำพระเครื่องดังกล่าวไปให้จำเลยที่บ้าน โดยจำเลยได้ให้เงินแก่เด็กชาย น. จำนวน 20 บาท แล้วเด็กชาย น. นำเงินที่ได้ไปเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ที่ร้านของนางทองมี เมื่อนางทองมีสอบถามว่านำเงิน 20 บาท มาจากไหนเด็กชายนพดลบอกว่าได้มาจากการนำพระเครื่องไปให้จำเลยและจำเลยให้เงินมา หลังจากผู้เสียหายทราบเรื่องดังกล่าวแล้วได้เรียกเด็กชาย น.มาสอบถาม เด็กชาย น. รับว่าเป็นความจริง ผู้เสียหายจึงไปแจ้งเรื่องต่อนายสุมิทซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2548 นายสุมิทได้เรียกประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านโดยมีจำเลยและเด็กชาย น. ร่วมอยู่ด้วย ผู้เสียหายเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย 100,000 บาท แต่จำเลยไม่ตกลงด้วย เชื่อว่าพยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่ตนประสบมา แม้คำเบิกความของเด็กชาย น. จะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดก็ตาม แต่มิได้เบิกความเพื่อให้ตนเองพ้นความรับผิด กับไม่มีเหตุผลอันใดที่ผู้เสียหายจะเสี้ยมสอนให้เด็กชาย น. ซึ่งเป็นหลานของตนไปให้การอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพื่อกล่าวหาจำเลยให้ต้องรับโทษ ทั้งตามบันทึก ก็ได้ทำขึ้นต่อหน้าพยานหลายคนซึ่งเป็นคณะกรรมการ ซึ่งจำเลยก็ไม่ได้นำพยานมาสืบหักล้างหรือโต้แย้งว่าเอกสารดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างว่า วันเกิดเหตุจำเลยไม่อยู่บ้าน โดยจำเลยไปร่วมพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ไม่ได้พบเด็กชาย น. นั้น ก็เป็นข้อกล่าวอ้างลอยๆ ทั้งนายอนันต์และนายสินชัย พยานจำเลยก็เบิกความว่า วันเกิดเหตุบุคคลทั้งสองเพียงแต่พบจำเลยอยู่ร่วมในงานพิธีรดน้ำดำหัวเท่านั้น ไม่ได้อยู่กับจำเลยโดยตลอด จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้ให้เด็กชาย น. กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 จึงลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ได้ แต่การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการสนับสนุนให้เด็กชาย น.กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 แม้โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดเป็นผู้สนับสนุนให้เด็กชาย น.ลักทรัพย์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) มานั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายในเคหสถาน สถานที่ราชการ หรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้น ๆ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวได้ และแม้ในคำฟ้องโจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกับพวกอีกคนหนึ่งร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายครบตามองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เท่านั้น หาได้เป็นตัวการไม่ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นตามบทมาตราดังกล่าวเช่นกัน จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ประกอบมาตรา 86 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ประกอบมาตรา 86 จำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2371/2552
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรี จำเลย - นายชานนท์หรือรัฐธนนท์ แซ่ตัน
ชื่อองค์คณะ วันทนี กีรติพิบูล วีระพล ตั้งสุวรรณ สุนทร ทรงฤกษ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี - นายสุกิจ เกศณรายณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 - นายประกอบ ลีนะเปสนันท์