คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1653/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299 พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505
เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ให้ยุบรวมวัดใหม่กับวัดภูเขาดินโจทก์เป็นวัดเดียวกัน เมื่อ พ.ศ. 2481 ในขณะที่วัดใหม่ยังมีพระภิกษุอยู่ จึงหาใช่เป็นวัดร้างสงฆ์ไม่อาศัยไม่
การยุบรวมวัดแม้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ร.ศ.121ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นจะไม่ได้บัญญัติไว้ แต่ตามพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ยอมรับให้มีการรวมวัดที่ใกล้ชิดติดกัน เป็นวัดเดียวกันเพื่อประโยชน์แก่การบำรุงวัดให้เจริญยิ่งขึ้นหรือเพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ได้โดยขอรับความเห็นชอบในที่สุดจากฝ่ายปกครองคณะสงฆ์ก่อนและ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ร.ศ.121 ก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามไว้ดังนั้นการที่เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ สั่งรวมวัดใหม่เข้าเป็นวัดเดียวกับวัดโจทก์ จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย
วัดใหม่ที่ยุบรวมเข้าเป็นวัดเดียวกับวัดโจทก์ จึงไม่มีสภาพที่จะตกเป็นวัดร้างได้ ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของวัดใหม่แล้วได้รื้อกุฎิวิหารและสิ่งปลูกสร้างจากที่ดินพิพาทไปไว้ที่วัดโจทก์เมื่อรวมกับวัดโจทก์ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นที่ดินของวัดร้างแต่เป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดโจทก์ด้วยการยุบรวมวัดใหม่กับวัดโจทก์เป็นวัดเดียวดังนี้การดูแลรักษาและจัดการไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมการศาสนาจำเลย การที่จำเลยไปขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นของวัดใหม่ (ร้าง) เป็นการไม่ชอบโจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนเสียได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์หรือเจ้าคณะเมืองในขณะเกิดเหตุไม่มีอำนาจยุบหรือรวมวัด วัดโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทช้านานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ วัดใหม่ไม่มีพระภิกษุอาศัยเป็นเวลานาน จึงตกเป็นวัดร้าง กรมการศาสนาจำเลยมีอำนาจปกครองรักษาที่ดินพิพาทของวัดร้าง พิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ตั้งวัดใหม่ อยู่ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ใกล้เคียงกับวัดภูเขาดินโจทก์ กระทรวงศึกษาธิการได้เคยใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนช่างไม้ จังหวัดเพชรบูรณ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ต่อมาได้ย้ายออกไปตั้งที่อื่น เมื่อ พ.ศ. 2511 ได้มีราษฎรผู้ประสบอัคคีภัยจากเพลิงไหม้ตลาดเพชรบูรณ์ได้เข้าไปปลูกสร้างอาคารไม้ชั่วคราวอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทประมาณ 50-60 หลังคาเรือน จำเลยได้ขอออกโฉนดที่ดินที่พิพาท ทางราชการได้ออกให้แก่วัดใหม่ (ร้าง) เมื่อวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2520 ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 903 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ 3 งาน 32 เศษ 1 ส่วน 10ตารางวา (เอกสารหมาย ป.ล1) จำเลยได้เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ผู้ที่เข้ามาปลูกอาคารในที่พิพาทตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 20-47/2521 ของศาลจังหวัดเพชรบูรณ์
ปัญหามีว่า ที่พิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์อันเป็นศาสนสมบัติของวัดภูเขาดินโจทก์เพราะได้รวมวัดใหม่เป็นวัดเดียวกับวัดโจทก์หรือว่าเป็นของวัดใหม่ซึ่งเป็นวัดร้างตกเป็นศาสนสมบัติกลาง อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการของกรมการศาสนาจำเลย" ฯลฯ
"โจทก์ฎีกาว่า การที่เจ้าคณะจังหวัดหรือเจ้าคณะเมืองเพชรบูรณ์สั่งยุบรวมวัดใหม่เข้ากับวัดโจทก์เป็นไปตามจารีตประเพณีอันเป็นกิจของสงฆ์และชอบด้วยกฎหมาย พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์รัตนโกสินทร์ศก 121 ไม่มีบทบัญญัติห้ามไว้ การยุบรวมวัดไม่ใช่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่วัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่ดินพิพาทเป็นของวัดโจทก์ จำเลยไม่มีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วในข้อที่มีการยุบรวมวัดใหม่เข้ากับวัดโจทก์ โจทก์มีนายเลี่ยม คมด้วย ซึ่งเป็นเจ้าคณะเมืองหรือเจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ระหว่างปี พ.ศ. 2472 ถึงพ.ศ. 2481 มีสมณะศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระเพชรบูรณ์คณาวสัยเบิกความว่า ประมาณปี พ.ศ. 2481 วัดใหม่มีพระภิกษุจำพรรษาเพียง 2 รูปเจ้าคณะแขวงหรือเจ้าคณะอำเภอเมืองเพชรบูรณ์รายงานขอยุบรวมกับวัดภูเขาดินโจทก์โดยได้ปรึกษากับคณะสงฆ์และทายกทายิกาแล้วพยานเห็นชอบด้วย จึงได้สั่งรวมวัดใหม่เข้ากับวัดภูเขาดินโจทก์ให้พระภิกษุถนอมเจ้าอาวาสวัดใหม่ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์ ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าคณะจังหวัดพยานคงให้ถ้อยคำเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อเจ้าคณะจังหวัดองค์ปัจจุบันตามเอกสารหมาย จ.5 และมีนายพรมมี เกตุวันดีเป็นพยานว่า พยานบวชเป็นพระภิกษุระหว่างปี พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2482 เมื่อปี พ.ศ. 2480 ได้ย้ายจากวัดภูเขาดินไปจำพรรษาอยู่วัดใหม่ได้หนึ่งปีจึงย้ายไปอยู่วัดช้างเผือก ฟ้องโจทก์อ้างว่าในปีที่เจ้าคณะเมืองหรือเจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์สั่งยุบวัดใหม่รวมกับวัดโจทก์ วัดใหม่ยังมีพระภิกษุจำพรรษาอยู่ จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโต้แย้งข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างและนำสืบว่าเจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ให้ยุบรวมวัดใหม่กับวัดภูเขาดินโจทก์เป็นวัดเดียวกัน เมื่อพ.ศ. 2481 ในขณะที่วัดใหม่ยังมีพระภิกษุอยู่หาใช่เป็นวัดร้างสงฆ์ไม่อาศัยตามที่พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ รัตนโกสินทร์ ศก 121ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น มาตรา 8 บัญญัติไว้ให้เจ้าพนักงานฝ่ายพระราชอาณาจักรเป็นผู้ปกครองรักษาวัดนั้นทั้งที่ธรณีสงฆ์ซึ่งขึ้นวัดนั้นด้วยไม่การยุบรวมวัดนี้ถึงแม้ว่าพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์รัตนโกสินทร์ศก 121 จะไม่ได้บัญญัติไว้ แต่พิจารณาจากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484 ซึ่งใช้บังคับในเวลาต่อมาก็ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 39 ว่าการสร้าง การตั้ง การรวม การโอน การย้ายและการยุบเลิกวัดให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ซึ่งมีกฎกระทรวงศึกษาธิการออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2486 เกี่ยวกับการรวมวัดว่า เมื่อคณะกรมการอำเภอและคณะกรรมการสงฆ์อำเภอเห็นว่า สมควรรวมวัดตั้งแต่สองวัดเป็นวัดเดียวกันเพราะตั้งอยู่ใกล้ชิดกันก็ดี มีวัดมากเกินความจำเป็นเหลือกำลังที่จะบำรุงให้เจริญได้ก็ดีหรือด้วยเหตุอื่นใดสมควรจะรวมกันก็ดี ให้รายงานต่อคณะกรรมการจังหวัดและคณะกรรมการสงฆ์ จังหวัดเพื่อพิจารณา เมื่อคณะสังฆมนตรีอนุมัติแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจะประกาศรวมวัดเป็นวัดเดียวกัน พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่ใช้บังคับในปัจจุบันนี้ก็บัญญัติเรื่องการสร้าง การตั้ง การรวม การย้าย การยุบเลิกวัดไว้ในมาตรา 32 ว่า ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงเช่นเดียวกันได้มีกฎกระทรวงศึกษาธิการออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2507) ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2507 กำหนดวิธีการรวมวัดไว้ว่าเมื่อเจ้าคณะอำเภอและนายอำเภอเห็นสมควรที่จะรวมวัดตั้งแต่สองวัดซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดกันเป็นวัดเดียว ให้รายงานต่อเจ้าคณะจังหวัดเมื่อเจ้าคณะจังหวัดเห็นสมควรให้นำปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วเสนอเรื่องและความเห็นไปยังเจ้าคณะภาค เมื่อเจ้าคณะภาคเห็นสมควรให้ส่งเรื่องและความเห็นไปยังกรมการศาสนา เมื่อกรมการศาสนาเห็นสมควรแล้วให้รายงานขอรับความเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการ แล้วเสนอมหาเถรสมาคม เมื่อมหาเถรสมาคมเห็นชอบด้วยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจะประกาศรวมวัดในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้จะเห็นได้ว่ากฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ยอมรับให้มีการรวมวัดที่ใกล้ชิดติดกันเป็นวัดเดียวกัน เพื่อประโยชน์แก่การบำรุงวัดให้เจริญยิ่งขึ้น หรือเพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ได้ โดยขอรับความเห็นชอบในที่สุดจากฝ่ายปกครองคณะสงฆ์ก่อน เห็นว่าเมื่อพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ รัตนโกสินทร์ศก 121 ไม่มีบทบัญญัติด้วยการรวมวัดตั้งแต่สองวัดเป็นวัดเดียวกัน และจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่าเจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์หรือเจ้าคณะเมืองในขณะนั้นไม่มีอำนาจสั่งยุบรวมวัด ข้อเท็จจริงกลับได้ความจากคำเบิกความของนายจรวย หนูคง นิติกร 6 กรมการศาสนาพยานจำเลยว่า ก่อนใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484 ก็เคยเห็นรายงานการยุบรวมวัด แสดงว่าได้เคยมีการยุบรวมวัดกันมาก่อนแล้วพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ รัตนโกสินทร์ศก 121 มาตรา 32ก็บัญญัติว่าเจ้าคณะเมืองมีอำนาจบังคับบัญชาว่ากล่าวสังฆมณฑลตลอดเมืองนั้น ดังนั้นการที่พระเพชรบูรณ์คณาวสัยเจ้าคณะจังหวัดหรือเจ้าคณะเมืองเพชรบูรณ์สั่งรวมวัดใหม่เข้าเป็นวัดเดียวกับวัดโจทก์จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายวัดใหม่หาได้ตกเป็นวัดร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2481 หรือ 2482 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ เพราะวัดใหม่ยุบรวมเข้าเป็นวัดเดียวกับวัดโจทก์ จึงไม่มีสภาพวัดที่จะตกเป็นวัดร้างได้ ที่ดินพิพาทหลังจากรื้อกุฎิวิหารและสิ่งปลูกสร้างออกไปแล้วย่อมเป็นที่ธรณีสงฆ์ รวมเป็นศาสนสมบัติเดียวกับของวัดโจทก์ และกรณีเช่นนี้หาใช่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่นั้นให้ผู้หนึ่งผู้ใดไม่ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ รัตนโกสินทร์ศก 121 มาตรา 7ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2477 มาตรา 3 เพราะที่พิพาทก็ยังคงตกเป็นสมบัติสำหรับพระศาสนาอยู่เช่นเดิมเพียงแต่ไป รวมเป็นศาสนสมบัติเดียวกับวัดที่ไปรวมเท่านั้น จำเลยรับว่าวัดโจทก์ได้ขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่พิพาทก่อนจำเลยได้ความจากนายมานิต ขาวจันทร์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ระหว่างปี พ.ศ. 2499-2511 ว่าสำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ประกาศแจกโฉนดที่ดินซึ่งได้เดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่อำเภอเมืองเพชรบูรณ์โดยอาศัยหลักฐาน ส.ค. 1 เมื่อ พ.ศ. 2498 พยานได้มีหนังสือเอกสารหมาย จ.9 ลงวันที่ 27 เมษายน 2509 แจ้งให้วัดโจทก์มาขอรับโฉนดเพราะประกาศแจกโฉนดออกครบ 10 ปีแล้ว แต่วัดโจทก์ไม่ได้มาขอรับ นอกจากนี้โจทก์มีนายคำรพนชนิยม เคยรับราชการเป็นศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์ระหว่าง พ.ศ. 2489 -2499 เป็นพยานว่าที่ดินซึ่งตั้งโรงเรียนช่างไม้ คือที่พิพาท เช่าจากวัดภูเขาดินนายพวง ศุภสาร เคยรับราชการเป็นศึกษาธิการอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ระหว่างพ.ศ. 2481-2484 และเป็นเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2498 เบิกความว่าการปลูกสร้างโรงเรียนช่างไม้ในที่พิพาทได้ขออนุญาตจากเจ้าคณะอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ที่พิพาทเป็นของวัดโจทก์โดยการรวมวัดใหม่ จากพยานหลักฐานของโจทก์แสดงให้เห็นว่าวัดโจทก์ถือสิทธิในที่พิพาทตลอดมา การที่วัดโจทก์ดำเนินการขอออกโฉนดที่พิพาทครั้งแรก ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยคัดค้านว่าเป็นที่ศาสนสมบัติกลางแต่ประการใด สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าที่ดินพิพาทตกเป็นธรณีสงฆ์ของวัดโจทก์ ด้วยการยุบรวมวัดใหม่กับวัดโจทก์เป็นวัดเดียว การดูแลรักษาและจัดการไม่อยู่ในำนาจหน้าที่ของกรมการศาสนาจำเลย การที่จำเลยไปขอออกโฉนดที่ดินที่พิพาทเป็นของวัดใหม่ (ร้าง) เป็นการไม่ชอบ โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนเสียได้ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นวัดร้างถือว่าเป็นศาสนสมบัติกลางจำเลยมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 903 เลขที่ดิน 4 ตำบลในเมืองอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมต่อศาลในนามของโจทก์แทนโจทก์ที่ได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถาทั้งสามศาล และให้จำเลยใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ทั้งสามศาลเป็นเงิน 5,000 บาท"
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา เนติบัณฑิตยสภา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - วัดภูเขาดิน จำเลย - กรมการศาสนา
ชื่อองค์คณะ อุดม บรรลือสินธุ์ ชลูตม์ สวัสดิทัต กิติ บูรพรรณ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan