คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1671/2545
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 284
กรณีที่จะเป็นการยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 304 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำโดยนำหนังสือสำคัญสำหรับทรัพย์สินนั้นมาและฝากไว้ ณสถานที่ใด หรือแก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร และแจ้งการยึดนั้นให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินผู้มีหน้าที่ทราบ ให้เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกการยึดไว้ในทะเบียนเมื่อโจทก์เพียงแถลงขอยึดทรัพย์ของจำเลยเพิ่มเพราะยังได้รับชำระหนี้ไม่ครบถ้วน แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะสั่งอนุญาตแต่ก็มีเงื่อนไขว่าต้องไม่เกินยอดหนี้ ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานที่ดินได้ดำเนินการเกี่ยวกับการยึดที่ดินของจำเลยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้ข้างต้น จึงไม่อาจวินิจฉัยได้ว่าเป็นการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้หรือไม่และต้องห้ามตามมาตรา 284 วรรคหนึ่ง หรือไม่ กรณีตามคำร้องของจำเลยยังไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้น จำเลยจึงไม่อาจใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งห้ามโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยได้
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงินค่าตอบแทนการโอนสิทธิครอบครองทำประโยชน์หรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทห้าแปลงให้แก่โจทก์จำนวน 8,000,000 บาท ภายในวันที่ 28 เมษายน 2537 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยใช้ค่าใช้จ่ายแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท ภายในวันที่ 28 เมษายน 2537 ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีและนำยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยหลายรายการนำออกขายทอดตลาดไปแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่พอชำระหนี้
จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 24 มีนาคม 2541 ว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม2538 โจทก์มอบอำนาจให้นายอนันต์ คุ้มแก้วกาญจน์ ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอยึดทรัพย์เพิ่มเติมคือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 18, 41, 56, 290/41, 317/56, 291/288,318/56 และ 288/170 ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวมีมูลค่าเกินกว่าหนี้ที่จำเลยมีต่อโจทก์มากขอให้ศาลสั่งห้ามโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินดังกล่าวและให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยแทน
โจทก์ไม่ยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องชำระเงินแก่โจทก์รวม 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์ได้รับชำระหนี้ไปแล้วเป็นเงิน 2,700,000 บาท และโจทก์นำยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้อีก 55 รายการ ราคาประเมิน 6,289,600 บาท อยู่ระหว่างประกาศขายทอดตลาด มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่โจทก์แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอยึดทรัพย์ของจำเลยเพิ่มตามคำแถลงเอกสารหมาย ล.ร.16 และเจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งอนุญาตให้ไปยึดทรัพย์เพิ่มเติมได้ตามแถลงแต่ไม่เกินยอดหนี้นั้น เป็นการยึดทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่ากรณีที่จะเป็นการยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 304 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำโดยนำหนังสือสำคัญสำหรับทรัพย์สินนั้นมาและฝากไว้ ณ สถานที่ใด หรือแก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควรและแจ้งการยึดนั้นให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินผู้มีหน้าที่ทราบ ให้เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกการยึดไว้ในทะเบียน แต่ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนได้ความว่าโจทก์เพียงแถลงขอยึดทรัพย์ของจำเลยเพิ่มเพราะยังได้รับชำระหนี้จากจำเลยไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษา แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะสั่งอนุญาตแต่ก็มีเงื่อนไขว่าต้องไม่เกินยอดหนี้ ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานที่ดินได้ดำเนินการเกี่ยวกับการยึดที่ดินของจำเลยตามคำร้องตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้นแต่อย่างใดจึงไม่อาจวินิจฉัยได้ว่าเป็นการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้หรือไม่ และต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 วรรคหนึ่ง ดังจำเลยอ้างหรือไม่กรณีตามคำร้องยังไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้น จำเลยจึงไม่อาจใช้สิทธิทางศาลได้ คำสั่งและคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา เนติบัณฑิตยสภา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาว เพลิน อิศรางกูร ณ อยุธยา จำเลย - นาง สุไร ศุกระจันทร์
ชื่อองค์คณะ ศุภชัย ภู่งาม วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์ วิบูลย์ มีอาสา
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan