สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1676/2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1676/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/3, 193/5, 193/8 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 198

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 บัญญัติว่า"ถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา" หมายถึงว่า หากไม่มีการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไป วันสุดท้ายของระยะเวลาอุทธรณ์ตรงกับวันหยุดราชการจำเลยสามารถยื่นอุทธรณ์ในวันอันเป็นวันแรกของการเปิดทำการปรกติได้เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 10 วันนับแต่วันที่ครบกำหนด วันที่ครบกำหนดดังกล่าวจึงมิใช่วันสุดท้ายของระยะเวลาอุทธรณ์อีกต่อไป จึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8มาปรับใช้มิได้

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยฟังเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม2541 จำเลยจะต้องอุทธรณ์ภายในวันที่ 30 มกราคม 2542 แต่ทนายจำเลยยื่นคำร้องในวันที่ 28 มกราคม 2542 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 10 วันนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไป 10 วัน นับแต่วันครบกำหนด จึงครบกำหนด 10 วัน ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์2542 ซึ่งเป็นวันทำการปรกติ จำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์ในวันดังกล่าว โดยยื่นอุทธรณ์วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 พ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้วถึง 2 วัน ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ จำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,334, 335, 74(5) ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ จำนวน 900 บาท แก่นางหมิกและให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมยังสถานฝึกและอบรมจนกว่าจะอายุครบสิบแปดปี

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(3)(4)(8) วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ขณะกระทำผิดจำเลยอายุไม่เกิน 14 ปี จึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 910 บาท แก่นางหมิก คชภักดีผู้เสียหาย พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและรายงานการสืบเสาะแล้วเห็นควรส่งจำเลยไปยังสถานฝึกและอบรมสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาเพื่อฝึกและอบรมจนกว่าจำเลยมีอายุครบสิบแปดปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74(5)

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาที่ขยายออกไปหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คู่ความมีอำนาจอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ภายใน1 เดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้คู่ความฟัง ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/5 บัญญัติว่า "ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นสัปดาห์ เดือน หรือปี ให้คำนวณตามปีปฏิทิน ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือนหรือปีระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือนหรือปีสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น" และตามหลักฐานในสำนวนคดีนี้ปรากฏว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยฟังเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2541 จำเลยจะต้องอุทธรณ์ภายในวันที่ 30 มกราคม 2542 แต่ปรากฏว่าทนายจำเลยยื่นคำร้องในวันที่ 28 มกราคม2542 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 10 วัน นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์2542 ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไป 10 วัน นับแต่วันครบกำหนด เมื่อนับระยะเวลาเป็นวันตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/3 วรรคสอง บัญญัติมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยเมื่อวันครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คือวันที่ 30 มกราคม 2542 จึงเริ่มต้นนับวันแรกของระยะเวลาที่ขยายออกไปคือ วันที่ 31 มกราคม 2542 ซึ่งจะครบกำหนด 10 วัน ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 อันเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยสามารถยื่นอุทธรณ์ได้

ที่จำเลยฎีกาว่า กำหนดระยะเวลาอุทธรณ์สิ้นสุดลงในวันที่ 30 มกราคม2542 ตรงกับวันเสาร์ ระยะเวลาอุทธรณ์จึงขยายไปเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 จึงต้องเริ่มต้นนับวันแรกของระยะเวลาที่ขยายออกไป คือ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 บัญญัติว่า "ถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา" อันหมายถึงว่าหากไม่มีการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไป วันสุดท้ายของระยะเวลาอุทธรณ์ก็จะตรงกับวันที่ 30 มกราคม 2542 ซึ่งตรงกับวันเสาร์หยุดราชการ จำเลยสามารถยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 อันเป็นวันแรกของการเปิดทำการปรกติได้ เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 10 วันนับแต่วันที่ครบกำหนด วันที่ 30 มกราคม 2542 จึงมิใช่วันสุดท้ายของระยะเวลาอุทธรณ์อีกต่อไป จึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/8 มาปรับใช้ดังที่จำเลยอ้างมิได้ กรณีจะเป็นดังที่จำเลยอ้างต่อเมื่อวันสุดท้ายของระยะเวลาที่ขยายออกไป 10 วัน ตรงกับวันเสาร์ หรือวันหยุดทำการ ระยะเวลาอุทธรณ์ก็จะขยายออกไปด้วยผลของมาตรา 193/8 นี้ แต่คดีนี้วันสุดท้ายของระยะเวลาที่ขยายออกไปเป็นวันทำการปรกติ จำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์ในวันดังกล่าว โดยยื่นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้วถึง 2 วันที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์จำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 9พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยจึงชอบแล้ว

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดพัทลุง จำเลย - เด็กชาย จตุพร รักเกื้อ

ชื่อองค์คณะ สุเทพ เจตนาการณ์กุล ระพิณ บุญสิทธิ์ วิชัย วิสิทธวงศ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE