คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1718/2545
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 273 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ม. 108
ความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273มีองค์ประกอบความผิดเช่นเดียวกับความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 108เพียงแต่มีโทษเบากว่าเท่านั้น ซึ่งเมื่อความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯมาตรา 108 ได้บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงต้องใช้พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 108 แทน ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 3 วรรคสอง ดังนั้น การปรับบทความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273 มาด้วยจึงไม่ถูกต้อง
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2542เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งสองกับพลทหารสุริยา คราญาติจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ศปก. 8/2542 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง (ศาลจังหวัดขอนแก่น) และพวกที่หลบหนีได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ (ก) จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยผลิตและบรรจุน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน2 จังหวะ ยี่ห้อเอลฟ์จำนวน 126 กระป๋อง ยี่ห้อคาสตรอลขนาด 1 ลิตร จำนวน 19 กระป๋อง ยี่ห้อคาสตรอลขนาด 0.5 ลิตร จำนวน 10 กระป๋อง ยี่ห้อไดเกียวจำนวน 120กระป๋อง มีคุณลักษณะทางฟิสิกส์และเคมีเกี่ยวกับจุดไหลเท เถ้าซัลเฟตและโลหะหนัก(แคลเซียม) มีค่าที่ -6 (ลบ 6), -12 (ลบ 12), 0.054, 0.204, 0.070 และ 0.0125,0.0077 และ 0.0164 ตามลำดับ ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 1040-2534ที่กำหนดตามพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน 2 จังหวะ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานจุดไหลเทไม่เกิน -5 (ลบ 5)เถ้าซัลเฟตไม่เกินร้อยละ 0.5 และโลหะหนัก (แคลเซียม) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.01 อันเป็นการปลอมปนเครื่องอุปโภคเพื่อจำหน่ายและเพื่อให้บุคคลอื่นใช้ และจำเลยทั้งสองกับพลทหารสุริยากับพวกมีไว้เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป ซึ่งน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน 2 จังหวะ ที่ไม่ได้มาตรฐานดังกล่าว และ (ข) จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าน้ำมันเครื่องคาสตรอล (Castrol) ของบริษัทคาสตรอล (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้เสียหายซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อนายทะเบียนในราชอาณาจักร ด้วยการทำปลอมกระดาษที่ใช้ในการผนึกฝากระป๋องให้ปรากฏเครื่องหมายการค้าคาสตรอล (Castrol) ของผู้เสียหาย แล้วจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวซึ่งมีชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ และข้อความในการประกอบการค้าของผู้เสียหายไปปิดแสดงและทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัสดุ ที่ใช้หุ้มห่อไว้ที่กล่อง กระป๋อง ขวด ฝาขวด ฝากระป๋อง ซึ่งเป็นภาชนะสำหรับบรรจุน้ำมันเครื่องปลอมปนไม่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าน้ำมันเครื่องที่จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันผลิตและบรรจุอยู่ในภาชนะดังกล่าวเป็นน้ำมันเครื่องที่ผลิตโดยผู้เสียหายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมยึดน้ำมันเครื่องที่ใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำฟ้องเป็นของกลาง เหตุเกิดที่ตำบลโคกสี อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 16, 17, 20, 31, 36, 48, 52 และ 55 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272, 273, 91 และ 83 ริบของกลาง
เดิมจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ต่อมาขอถอนคำให้การปฏิเสธแล้วให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณาบริษัทคาสตรอล (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511มาตรา 16, 17, 20, 36, 48, 55 (ที่ถูกมาตรา 48 ประกอบด้วยมาตรา 20 วรรคหนึ่งและ 17 วรรคหนึ่ง กับมาตรา 55 ประกอบด้วยมาตรา 36) กระทงหนึ่ง พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272(ที่ถูกมาตรา 272(1)) และ 273 อีกกระทงหนึ่ง ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ทั้งสองกระทง (ที่ถูกคือความผิด 2 กระทงนี้แต่ละกระทงประกอบด้วยความผิดหลายบท) เป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90กระทงแรกให้ลงโทษฐานทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุกคนละ1 ปี และปรับคนละ 50,000 บาท กระทงหลังให้ลงโทษฐานปลอมเครื่องหมายการค้าจำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 100,000 บาท รวมทุกกระทงความผิดแล้วให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปี และปรับคนละ 150,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอันเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ75,000 บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับตัวต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30ของกลางศาลมีคำสั่งริบไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.228/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแล้ว
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า"คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า สมควรลดโทษปรับให้จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นการแสวงผลประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น ถือว่าเป็นภยันตรายต่อสังคมส่วนรวม ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษมานั้นเหมาะสมแก่สภาพแห่งการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองไม่มีความรู้ความสามารถพอที่จะไปผลิต ปลอมน้ำมันเครื่องเอง จำเลยทั้งสองเป็นเพียงลูกมือและลูกจ้างกระทำการตามคำสั่งของนายจ้างเท่านั้น เป็นอุทธรณ์ที่ปฏิเสธว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดฐานทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามคำฟ้อง เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามคำฟ้องของโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ซึ่งเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 38ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้
อนึ่ง สำหรับความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรนั้น พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108 ได้บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้โดยเฉพาะแล้ว ส่วนความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273 มีองค์ประกอบความผิดเช่นเดียวกับความผิดฐานเดียวกันตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108 เพียงแต่มีโทษเบากว่าเท่านั้น จึงถือได้ว่าบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273 ในส่วนที่เกี่ยวกับการปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเป็นบทบัญญัติที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จึงต้องใช้พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108 แทน ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 3 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางปรับบทความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273มาด้วย จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง"
แก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรไม่ปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273 ด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น โจทก์ร่วม - บริษัทคาสตรอล (ไทยแลนด์) จำกัด จำเลย - นายสมัย อ่อนโส กับพวก
ชื่อองค์คณะ พิชิต คำแฝง เสริมศักดิ์ ผลัดธุระ ชาญชัย ลิขิตจิตถะ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan