สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17194/2555

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17194/2555

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 195 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เฉพาะวิธีพิจารณาในส่วนที่ว่า ข้อเท็จจริงที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและในส่วนที่ว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับเท่านั้น ส่วนบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ที่ว่าปัญหาข้อเท็จจริงอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น คู่ความมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้นั้นมิได้นำมาใช้บังคับด้วย เนื่องจาก ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่าให้อุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยเท่านั้น

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง โดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นนั้นเป็นการไม่ชอบ เนื่องจากอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้น จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เฉพาะวิธีพิจารณาในส่วนที่ว่า ข้อเท็จจริงที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และในส่วนที่ว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับเท่านั้น ส่วนบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ตามที่จำเลยอุทธรณ์มิได้นำมาใช้บังคับด้วย เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่า ให้อุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยเท่านั้น ดังนั้น แม้จะฟังได้ตามฎีกาของจำเลยว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยอุทธรณ์เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้าม มิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับฎีกาข้อนี้ของจำเลยเนื่องจากเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้ออื่นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาด้วยว่าโทษที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษแก่จำเลยเหมาะสมเพียงใดและมีเหตุที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า โทษจำคุกที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้น เหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว แต่ที่ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า เมื่อคำนึงถึงสุขภาพและอายุของจำเลยซึ่งมากถึง 65 ปี ป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมแต่ยังเป็นกำลังสำคัญในการหาเลี้ยงนางอาภรณ์ ภริยาของจำเลยซึ่งป่วยด้วยโรคปอดและโรคไทรอยด์เป็นพิษ ทั้งจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ตามพฤติการณ์เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้และคุมความประพฤติ เพื่อให้มีเจ้าพนักงานคอยแนะนำ ช่วยเหลือ ตักเตือน หรือสอดส่องดูแลซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมมากกว่า แต่เพื่อให้หลาบจำและป้องปรามมิให้จำเลยกระทำความผิดอีกเห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ในระยะเวลาที่คุมความประพฤติ ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดอีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2680/2555

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย - นายสุทธิชัย เจริญเลิศสิริวณิช

ชื่อองค์คณะ พีรพล พิชยวัฒน์ พฤษภา พนมยันตร์ อธิป จิตต์สำเริง

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแขวงพระนครเหนือ - นายชุมพล บุษราตระกูล ศาลอุทธรณ์ - นายแก้ว เวศอุไร

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th