คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1753/2565
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142 (5), 246, 252 พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ม. 38
โจทก์เป็นเจ้าของร่วมคนหนึ่งในอาคารชุด ศ. แต่ไม่ได้เป็นกรรมการและไม่ได้เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจําเลยที่ 1 ทั้งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการงานของนิติบุคคลอาคารชุดจําเลยที่ 1 ฟ้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ซึ่งมีมติให้จําเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ จําเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ และจําเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และเพิกถอนการประชุมคณะกรรมการในวาระพิเศษเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ซึ่งมีมติอนุมัติว่าจ้างบริษัท ว. เข้าบริหารจัดการอาคารชุดรายใหม่ โดยกล่าวอ้างในฟ้องเพียงว่า ในการประชุมคณะกรรมการทั้งสองครั้ง ไม่มีการเชิญหรือแจ้งนัดประชุมให้แก่ อ. และ ณ. ซึ่งเป็นกรรมการทราบ ทำให้ อ. และ ณ. ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ซึ่ง อ. และ ณ. ผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรงไม่ได้เป็นผู้ฟ้อง เมื่อคําฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า มติที่ประชุมทั้งสองครั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ หรือนิติบุคคลอาคารชุดจําเลยที่ 1 หรือบรรดาเจ้าของร่วมอย่างไร หรือมติที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลทั้งสองครั้งกระทบต่อสิทธิของโจทก์อย่างไร จําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งที่คณะกรรมการมีมติแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ตามที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมให้อำนาจไว้ และบริษัท ว. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่คณะกรรมการมีมติอนุมัติว่าจ้างให้เข้าบริหารจัดการอาคารชุดรายใหม่เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ฟ้องโจทก์ก็มิได้ระบุว่าจําเลยที่ 2 และบริษัท ว. ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือทำงานผิดพลาดบกพร่องหรือทุจริตแต่อย่างใด ทั้งมติที่ประชุมที่โจทก์ขอเพิกถอนนั้นมีการลงมติตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2560 และวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ตามลำดับ แต่โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ล่วงเลยเวลานานหลายเดือน และยังขอให้จําเลยที่ 2 คืนเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากจําเลยที่ 1 ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2560 โดยอ้างเรื่องไม่ได้มีการเชิญหรือแจ้งนัดประชุมให้ อ. และ ณ. กรรมการทราบเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดบกพร่องหรือทุจริตแต่ประการใด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า จําเลยทั้งห้าได้กระทำสิ่งใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการในการประชุมครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2560 และในการประชุมคณะกรรมการวาระพิเศษเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 และให้จำเลยที่ 2 คืนเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากจำเลยที่ 1 ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2560 ให้แก่จำเลยที่ 1
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ศ. จำเลยที่ 1 ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2560 และมติที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ในการประชุมวาระพิเศษเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ให้จำเลยที่ 2 คืนเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากจำเลยที่ 1 ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2560 ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งห้าฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 2/253 อาคารชุด ศ. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2560 มีการประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วม (เรียกครั้งที่สอง) ประจำปี 2560 ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 รวม 9 คน คือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 นางอัมภาภรณ์ นายณัฐพงศ์ นายคมิก นางนัชริน และนายวีรยุทธ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี และมีมติให้คณะกรรมการมีอำนาจเป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งกรรมการคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดแทนตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 38 ต่อมาวันที่ 3 มิถุนายน 2560 มีการประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 1/2560 มีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุม 5 คน ได้แก่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และนางสาวนัชริน ที่ประชุมมีมติให้จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ จำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 และเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 มีการประชุมคณะกรรมการในวาระพิเศษ โดยมีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุม 4 คน ได้แก่ จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และนายคมิก ที่ประชุมมีมติอนุมัติว่าจ้างบริษัท ว. เข้าบริหารจัดการอาคารชุดรายใหม่ ในการประชุมคณะกรรมการทั้งสองครั้งไม่มีการเชิญหรือแจ้งนัดประชุมแก่นางอัมภาภรณ์และนายณัฐพงศ์ทราบ
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าประการแรกว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 พ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องเพียงว่าในการประชุมคณะกรรมการทั้งสองครั้งไม่มีการเชิญหรือแจ้งนัดประชุมให้แก่นางอัมภาภรณ์และนายณัฐพงศ์ซึ่งเป็นกรรมการทราบ ทำให้นางอัมภาภรณ์และนายณัฐพงศ์ไม่ได้เข้าร่วมประชุมเท่านั้น ซึ่งนางอัมภาภรณ์และนายณัฐพงศ์ผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรงไม่ได้เป็นผู้ฟ้อง ทั้งได้ความว่าทั้งสองยังมีข้อโต้แย้งกับกรรมการคนอื่น ๆ ในประเด็นว่าทั้งสองได้ลาออกจากการเป็นกรรมการไปแล้วก่อนมีการเรียกประชุมคณะกรรมการหรือไม่ เมื่อตรวจคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า มติที่ประชุมทั้งสองครั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ หรือนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 หรือบรรดาเจ้าของร่วมอย่างไร หรือมติที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลทั้งสองครั้งกระทบต่อสิทธิของโจทก์อย่างไร จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการคนหนึ่งซึ่งคณะกรรมการมีมติแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ตามที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมให้อำนาจไว้ ส่วนบริษัท ว. เป็นบุคคลภายนอกที่คณะกรรมการมีมติอนุมัติว่าจ้างให้เข้าบริหารจัดการอาคารชุดรายใหม่เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ซึ่งฟ้องโจทก์ก็มิได้ระบุว่าจำเลยที่ 2 และบริษัท ว. ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือทำงานผิดพลาดบกพร่องหรือทุจริตแต่อย่างใด ทั้งมติที่ประชุมที่โจทก์ขอเพิกถอนนั้นมีการลงมติตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2560 และวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ตามลำดับ แต่โจทก์กลับเพิ่งมาฟ้องเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ซึ่งล่วงเลยเวลานานหลายเดือน และยังขอให้จำเลยที่ 2 คืนเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากจำเลยที่ 1 ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2560 โดยอ้างเรื่องไม่มีการเชิญหรือแจ้งนัดประชุมให้แก่นางอัมภาภรณ์และนายณัฐพงศ์กรรมการทราบเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดบกพร่องหรือทุจริตแต่ประการใด จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า จำเลยทั้งห้าได้กระทำการสิ่งใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งห้าฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยตามข้อกล่าวอ้างในฎีกาประการอื่นของจำเลยทั้งห้าอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.615/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง ร. จำเลย - นิติบุคคลอาคารชุด ศ. กับพวก
ชื่อองค์คณะ สุทิน อุ้ยตระกูล ศิริชัย ศิริชื่นวิจิตร ชัยยุทธ กลับอำไพ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นางสาวสมรศรี ตีระวัฒนานนท์ ศาลอุทธรณ์ - นายอุทิศ สุภาพ