สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1809/2545

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1809/2545

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185, 215, 225 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน ม. 4, 30, 82

พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และมาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า จัดหางานหมายความว่า ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้างโดยจะเรียกหรือรับค่าบริการตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้น การที่จะเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวได้จะต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจจัดหางาน โจทก์จึงต้องแสดงให้เห็นว่าจำเลยประกอบธุรกิจจัดหางาน หรือดำเนินการเพื่อส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศแต่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่าความจริงแล้วจำเลยไม่สามารถจัดหางานในต่างประเทศให้แก่ผู้เสียหายได้ เพราะจำเลยไม่เคยไปติดต่อหาสถานที่ทำงานในต่างประเทศมาก่อนเลย แสดงว่าจำเลยมิได้ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือประกอบธุรกิจจัดหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 30วรรคหนึ่งและมาตรา 82 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2542 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2542 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยกับพวกร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานให้คนหางานที่ประสงค์เพื่อไปทำงานในต่างประเทศให้แก่นายจ้างในต่างประเทศ โดยจำเลยกับพวกเรียกและรับเงินค่าบริการตอบแทนการจัดหางานจากคนหางาน ทั้งนี้โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และเมื่อระหว่างวันที่ 14 มีนาคม 2542 ถึงวันที่ 15มีนาคม 2542 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงนายบุญเลิศ สุวรรณศิลป์ ผู้เสียหายที่ 1 และนายจิรายุทธ ศรีชาติ ผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยกับพวกเป็นผู้ดำเนินการจัดหางานให้คนหางานไปทำงานยังต่างประเทศสามารถหางานในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีให้ผู้เสียหายทั้งสองและส่งผู้เสียหายทั้งสองไปทำงานยังประเทศดังกล่าวได้ ถ้าผู้เสียหายทั้งสองประสงค์จะไปทำงานที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีให้สมัครงานกับจำเลยและพวก ซึ่งความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถจัดหางานในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองได้โดยแน่แท้ เพราะจำเลยกับพวกไม่เคยไปติดต่อหาสถานที่ทำงานเพื่อคนหางานในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีมาก่อนเลย จำเลยกับพวกได้ปกปิดความจริงซึ่งควรต้องแจ้งแก่ผู้เสียหายทั้งสอง และโดยการหลอกลวงของจำเลยกับพวกทำให้ผู้เสียหายทั้งสองหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงได้สมัครงานและเสียเงินค่าบริการต่าง ๆ ค่าเดินทางตามที่จำเลยกับพวกเรียกร้องให้แก่จำเลยกับพวกไปคนละ 80,000 บาท ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82, 91 ตรี เป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 4 ปี ฐานหลอกลวงคนหางานจำคุก 4 ปี รวมจำคุก 8 ปีจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยในความผิดฐานหลอกลวงคนหางานมีกำหนด 3 ปี และปรับ 100,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 50,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานยังต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 82 ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่โจทก์ฎีกาว่า ตามข้อเท็จจริงจำเลยกับพวกไม่ได้ไปขอรับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง การที่จำเลยกับพวกแสดงต่อผู้เสียหายทั้งสองและบุคคลอื่นว่าจำเลยกับพวกร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานให้คนหางานที่ประสงค์เพื่อไปทำงานในต่างประเทศให้แก่นายจ้างในต่างประเทศ ย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 และจำเลยก็ให้การรับสารภาพจึงชอบที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 จำเลยให้การรับสารภาพโดยโจทก์จำเลยไม่สืบพยาน จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามที่โจทก์กล่าวในฟ้อง พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และมาตรา 4 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า จัดหางาน หมายความว่า ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้างโดยจะเรียกหรือรับค่าบริการตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้น การจะเป็นผู้กระทำความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้จะต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจจัดหางาน โจทก์จึงต้องแสดงให้เห็นว่าจำเลยกับพวกกระทำการอันเป็นการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจัดหางาน เช่น ติดต่อกับผู้ว่าจ้างในต่างประเทศหรือตัวแทน หรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศ แต่โจทก์กล่าวไว้ในคำฟ้องว่าความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถจัดหางานในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองได้โดยแน่แท้ เพราะจำเลยกับพวกไม่เคยไปติดต่อหาสถานที่ทำงานเพื่อคนหางานในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีมาก่อนเลย ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์แสดงว่าจำเลยกับพวกมิได้ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือประกอบธุรกิจจัดหาลูกจ้างให้แก่นายจ้างการกระทำของจำเลยกับพวกตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานหลอกลวงคนหางานตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์โดยโจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านว่า จำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองจนเป็นที่พอใจแล้วผู้เสียหายทั้งสองไม่ติดใจเอาความ และจำเลยเป็นหญิงไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน สมควรลงโทษสถานเบาและให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองดี ที่ศาลอุทธรณ์วางโทษจำเลยก่อนลดโทษโดยให้จำคุก 3 ปี ปรับ 100,000 บาท และรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยมีกำหนด 2 ปี จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาโจทก์ข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย - นาง สงการณ์หรือสงกรานต์ ผิวอ่อน

ชื่อองค์คณะ จรัส พวงมณี ประสพสุข บุญเดช สมชาย พงษธา

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th