คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1869/2565
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 43, 253 วรรคหนึ่ง, 254 วรรคสอง
คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฐานร่วมกันบุกรุก และให้จำเลยร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ที่ลักไปเป็นเงิน 668,953.50 บาท ส่วนโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 18,835,776.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม จึงเป็นคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ซึ่งมีคำร้องให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินติดมากับฟ้องอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 หรือมีคำขอของผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดมิให้เรียกค่าธรรมเนียมในส่วนของการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในศาลชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ หรือชั้นฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 254 วรรคสอง มาใช้บังคับ เพราะโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในส่วนของการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญามาตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตามหากโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงเกินสมควรหรือดำเนินคดีโดยไม่สุจริต บทบัญญัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งให้โจทก์ร่วมชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่เฉพาะบางส่วนภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ โดยโจทก์ร่วมไม่อาจขอยกเว้นค่าธรรมเนียมตามคำสั่งศาลในกรณีเช่นนี้ได้ ถือเป็นบทบังคับเด็ดขาด เพราะหากโจทก์ร่วมเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ถือว่าเป็นการทิ้งฟ้องในคดีส่วนแพ่ง
การพิจารณาว่าโจทก์ร่วมเรียกค่าสินไหมทดแทนในชั้นฎีกาสูงเกินสมควรหรือไม่ ศาลชอบที่จะนำเหตุผลตามคำวินิจฉัยของคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มาประกอบดุลพินิจ โดยไม่จำต้องพิจารณาตามคำร้องฉบับลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ของโจทก์ร่วมที่ยื่นประกอบการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมที่มีข้อเรียกร้องทำนองเดียวกันซ้ำอีก คดีในส่วนแพ่งชั้นฎีกาโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมเป็นค่าเสียหายกรณีลักไม้ผนังร่วม 270,583 บาท ค่าทรัพย์สินเสียหาย 521,223 บาท ค่าเสียโอกาสในการให้เช่าและอยู่อาศัย 630,000 บาท ค่าเสียหายจากการเพิ่มภาระน้ำหนักกดลงบนโครงสร้างร่วม เสาร่วม คานร่วม ของตึกโจทก์ร่วม 4,000,000 บาท ค่าเสียโอกาสนำบ้านเป็นหลักประกันการกู้เงินธนาคารเพื่อนำมาประกอบธุรกิจ 1,300,000 บาท รวมเป็นเงิน 6,721,806 บาท ซึ่งล้วนเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกคำขอพร้อมแสดงเหตุแห่งการยกคำขอไว้เพียงพอให้เห็นได้ว่าค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ร่วมขอในชั้นฎีกายังคงสูงเกินสมควร
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 และยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในคดีส่วนแพ่งชั้นฎีกา วันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ร่วม หากโจทก์ร่วมประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปให้นำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระภายใน 15 วัน
วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องโต้แย้งคัดค้านการดำเนินกระบวนพิจารณาและคำสั่งศาลชั้นต้น ชั้นไต่สวนขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในคดีส่วนแพ่งชั้นฎีกา วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งนั้น ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลของโจทก์ร่วมแล้ว แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น จึงอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253 วรรคหนึ่ง และมาตรา 254 วรรคสอง เห็นควรให้เพิ่มเติมคำสั่งในส่วนของเหตุผลว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ร่วมชนะคดีในส่วนแพ่ง 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้ไขเป็น 510,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่โจทก์ร่วมยื่นฎีกาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมอีก โดยขอเป็นค่าเสียหายกรณีลักไม้ผนังร่วม 270,583 บาท ค่าทรัพย์สินเสียหาย 531,223 บาท ค่าเสียโอกาสในการให้เช่าบ้านและอยู่อาศัย 630,000 บาท ค่าเสียหายจากการเพิ่มภาระน้ำหนักกดลงบนโครงสร้างร่วมเสาร่วม คานร่วมของตึกโจทก์ร่วม 4,000,000 บาท ค่าเสียโอกาสในการนำบ้านเป็นหลักประกันในการกู้เงินธนาคารเพื่อนำมาประกอบธุรกิจ 1,300,000 บาท รวมเป็นเงิน 6,721,806 บาท นั้น โจทก์ร่วมกล่าวอ้างโดยอ้างตนเองเบิกความเพียงปากเดียว โดยไม่มีหลักฐานอื่นเป็นข้อสนับสนุน ซึ่งจำนวนที่เรียกร้องต่างจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาไว้หลายเท่าตัว จึงเป็นการเรียกค่าสินไหมทดแทนที่เกินสมควร กรณีไม่มีเหตุให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและคำสั่งศาลชั้นต้นหรือนัดไต่สวนใหม่ ให้ยกคำร้อง
วันที่ 4 สิงหาคม 2563 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องโต้แย้งคัดค้านการดำเนินกระบวนพิจารณาและคำสั่งศาลชั้นต้นว่า โจทก์ร่วมยื่นฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในคดีส่วนแพ่งชั้นฎีกาโดยใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 254 วรรคสอง แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้พิจารณาไต่สวนเพื่อให้โจทก์ร่วมได้มีโอกาสแสดงข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้เห็นว่าคดีอาญาที่ฟ้องมีมูลหรือไม่ และการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนนั้นไม่เกินสมควรและเป็นไปด้วยความสุจริตหรือไม่ ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาและเพิกถอนคำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ากรณีไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่ง ให้ยกคำร้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 และวันที่ 31 กรกฎาคม 2563
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในคดีส่วนแพ่งชั้นฎีกา ฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ของโจทก์ร่วมชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฐานร่วมกันบุกรุก และให้จำเลยร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ที่ลักไปเป็นเงิน 668,953.50 บาท ส่วนโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 18,835,776.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมจึงเป็นคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ซึ่งมีคำร้องให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินติดมากับฟ้องอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 หรือมีคำขอของผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ต้องด้วยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดมิให้เรียกค่าธรรมเนียมในส่วนของการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในศาลชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ หรือชั้นฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 254 วรรคสอง มาใช้บังคับ เพราะโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในส่วนของการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญามาตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตามหากโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงเกินสมควรหรือดำเนินคดีโดยไม่สุจริต บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งให้โจทก์ร่วมชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่เฉพาะบางส่วนภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ โดยโจทก์ร่วมไม่อาจขอยกเว้นค่าธรรมเนียมตามคำสั่งศาลในกรณีเช่นนี้ได้ ถือเป็นบทบังคับเด็ดขาด เพราะหากโจทก์ร่วมเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ถือว่าเป็นการทิ้งฟ้องในคดีส่วนแพ่ง เมื่อความปรากฏในสำนวนว่า โจทก์ร่วมขอค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยในคดีส่วนแพ่งเป็นเงิน 25,178,723 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในส่วนของค่าเสียหายของบ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมสำหรับค่าขาดประโยชน์ในการนำบ้านออกให้เช่าในอัตราเดือนละ 70,000 บาท รวม 3 เดือน เป็นเงิน 210,000 บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทน 510,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จึงชอบที่ศาลจะนำเหตุผลตามคำวินิจฉัยของคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มาประกอบดุลพินิจเพื่อพิจารณาว่าโจทก์ร่วมเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนในชั้นฎีกาสูงเกินสมควรหรือไม่ โดยไม่จำต้องพิจารณาตามคำร้องฉบับลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ของโจทก์ร่วมที่ยื่นประกอบการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมที่มีข้อเรียกร้องทำนองเดียวกันซ้ำอีก คดีในส่วนแพ่งชั้นฎีกาโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมเป็นค่าเสียหายกรณีลักไม้ผนังร่วม 270,583 บาท ค่าทรัพย์สินเสียหาย 521,223 บาทค่าเสียโอกาสในการให้เช่าและอยู่อาศัย 630,000 บาท ค่าเสียหายจากการเพิ่มภาระน้ำหนักกดลงบนโครงสร้างร่วม เสาร่วม คานร่วม ของตึกโจทก์ร่วม 4,000,000 บาท ค่าเสียโอกาสนำบ้านเป็นหลักประกันการกู้เงินธนาคารเพื่อนำมาประกอบธุรกิจ 1,300,000 บาท รวมเป็นเงิน 6,721,806 บาท ซึ่งล้วนเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกคำขอพร้อมแสดงเหตุแห่งการยกคำขอไว้เพียงพอให้เห็นได้ว่าค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ร่วมขอในชั้นฎีกายังคงสูงเกินสมควร ส่วนฎีกาของโจทก์ร่วมประการอื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในคดีส่วนคดีแพ่งชั้นฎีกาของโจทก์ร่วมมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน หากโจทก์ร่วมประสงค์จะดำเนินคดีในส่วนแพ่งชั้นฎีกาต่อไปให้นำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษานี้ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2587/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดสงขลา โจทก์ร่วม - นาง ว. จำเลย - นาย ช.
ชื่อองค์คณะ นิพันธ์ ช่วยสกุล อนันต์ เสนคุ้ม เจษฎาวิทย์ ไทยสยาม
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสงขลา - นายกิตติพงศ์ ทองปุย ศาลอุทธรณ์ภาค 9 - นายชาคริต จุลมนต์