สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2564

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 150, 654 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ม. 3 (ก) (เดิม)

ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ.2558 ข้อ 14 วรรคสองกำหนดว่า จำเลยฎีกาอาจยื่นคำแก้ฎีกาต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันฟังคำสั่ง คดีนี้ขณะโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา ศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาคำร้องและคำฟ้องฎีกาให้จำเลยแล้ว เมื่อจำเลยทราบนัดวันฟังคำสั่งศาลฎีกาโดยชอบแล้วหากจำเลยประสงค์จะยื่นคำแก้ฎีกาต่อศาลชั้นต้นต้องยื่นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันฟังคำสั่งศาลฎีกาตามข้อ 14 วรรคสอง ไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาคำฟ้องฎีกาให้จำเลยแก้ซ้ำอีก การที่โจทก์ไม่ได้นำส่งสำเนาภายในระยะเวลาดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีในการนำส่งสำเนาคำฟ้องฎีกาให้จำเลยตามคำสั่งศาลชั้นต้น โจทก์ไม่ได้ทิ้งฟ้องฎีกา เมื่อครบกำหนดระยะเวลาแก้ฎีกาแล้วจำเลยไม่ยื่นคำแก้ฎีกาจึงถือว่าจำเลยไม่ติดใจยื่นคำแก้ฎีกา

จำเลยกู้ยืมเงิน 1,800,000 บาท จากโจทก์แล้วนำเงินจำนวนดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินต่อ โดยขณะให้ยืมนั้นโจทก์และจำเลยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยจะนำเงินไปให้บุคคลอื่นกู้ต่อโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นการกระทำความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) (เดิม) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 นิติกรรมการกู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ต้นเงินที่จำเลยกู้ยืมเงินไปนั้นสามารถแยกออกจากวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงินที่จำเลยต้องการเงินไปปล่อยกู้ต่อโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดที่เป็นโมฆะได้ ต้นเงินที่กู้ยืมไปจึงหาเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีไม่ กรณีมีผลเพียงโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ยืมที่เป็นต้นเหตุให้โจทก์จ่ายต้นเงินตามสัญญากู้เงินจึงต้องรับผิดคืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยผิดนัด

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,041,890 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,800,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2558 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 พฤษภาคม 2560) ต้องไม่เกิน 241,890 บาท กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ตกเป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังยุติว่า โจทก์และจำเลยมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติกัน โจทก์และจำเลยมีอาชีพรับจ้าง นอกจากนี้โจทก์มีอาชีพให้ผู้อื่นกู้ยืม จำเลยได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ตามหนังสือสัญญากู้เงิน ซึ่งระบุข้อความว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 1,800,000 บาท วันที่ 29 เมษายน 2559 จำเลยและนายณรงค์ สามีจำเลยลงลายมือชื่อในสมุดบันทึกการตรวจราชการหมู่บ้าน ซึ่งมีข้อความว่า จำเลยยืมเงินจากโจทก์และได้ทำสัญญาไว้ 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 จำนวนเงิน 1,800,000 บาท ฉบับที่ 2 จำนวนเงิน 1,200,000 บาท ครั้นวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 โจทก์ฟ้องจำเลยและนายณรงค์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ.595/2560 ว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์เป็นเงิน 1,200,000 บาท ต่อมาตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยทั้งสองตกลงชำระเงินแก่โจทก์เป็นเงิน 1,200,000 บาท โดยจำเลยทั้งสองจะนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ.402/2559 หมายเลขแดงที่ ผบ.1748/2559 ของศาลชั้นต้น ซึ่งอยู่ในระหว่างการบังคับคดีมาชำระแก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้จำเลยที่ 1 ไปรับเงินจากการขายทอดตลาด โดยก่อนหน้านั้น จำเลยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางแช่มช้อย เป็นจำเลย คดีมีการไกล่เกลี่ยกันได้ข้อสรุปว่า นาง ร. (โจทก์คดีนี้) เจ้าของเงินที่โจทก์ (นาง ช.) และจำเลย (นางแช่มช้อย) เป็นลูกสายแล้วนำเงินไปปล่อยให้กู้มาศาลด้วย นาง ร. เจ้าของเงินยินยอมลดยอดหนี้ให้โจทก์ (นาง ช.) และจำเลย (นางแช่มช้อย) รับผิดยอดเงินที่เอาไปประมาณ 3,000,000 บาทเศษ โดยให้โจทก์ (นาง ช.) รับผิด 1,200,000 บาท จำเลย (นางแช่มช้อย) รับผิด 1,800,000 บาท

ปัญหาที่สมควรวินิจฉัยก่อนว่า การที่ศาลชั้นต้นส่งหมายนัดฟังคำสั่งศาลฎีกาให้โจทก์ จำเลย โดยชอบแล้ว ถึงวันนัดโจทก์มาศาล ส่วนจำเลยไม่มา ศาลจึงอ่านคำสั่งให้โจทก์ฟังและถือว่าได้อ่านคำสั่งให้จำเลยฟังแล้ว และศาลมีคำสั่งให้ส่งสำเนาให้จำเลยแก้ฎีกาภายใน 15 วัน ให้โจทก์นำส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยภายใน 7 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด หากส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าทิ้งฎีกา แต่โจทก์ยื่นคำร้องขอนำส่งสำเนาดังกล่าวเมื่อเลยระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ศาลชั้นต้นจึงส่งคำร้องดังกล่าวมาให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่ง กรณีจะถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 หรือไม่ เห็นว่า ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ.2558 ข้อ 14 วรรคสอง กำหนดว่า จำเลยฎีกาอาจยื่นคำแก้ฎีกาต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟังคำสั่ง คดีนี้ขณะโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา ศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาคำร้องและคำฟ้องฎีกาให้จำเลยแล้ว เมื่อจำเลยทราบนัดวันฟังคำสั่งศาลฎีกาโดยชอบแล้ว หากจำเลยประสงค์จะยื่นคำแก้ฎีกาต่อศาลชั้นต้นต้องยื่นภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันฟังคำสั่งศาลฎีกาตามข้อ 14 วรรคสอง ไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาคำฟ้องฎีกาให้จำเลยแก้ซ้ำอีก คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงเป็นการสั่งที่ผิดหลง การที่โจทก์ไม่ได้นำส่งสำเนาภายในระยะเวลาดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีในการนำส่งสำเนาคำฟ้องฎีกาให้จำเลยตามคำสั่งศาลชั้นต้น โจทก์มิได้ทิ้งฟ้องฎีกา เมื่อครบกำหนดระยะเวลาแก้ฎีกาแล้ว จำเลยไม่ยื่นคำแก้ฎีกาจึงถือว่าจำเลยไม่ติดใจยื่นคำแก้ฎีกา

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิได้รับชำระเงินตามหนังสือสัญญากู้เงินคืนจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า โจทก์มอบเงินให้จำเลยไปปล่อยให้ผู้อื่นกู้ยืมเงินต่อโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด คู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าคำพิพากษาดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร จึงรับฟังได้ว่า การที่จำเลยนำเงินไปให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินต่อมีการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้สืบเนื่องจากจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยขณะกู้ยืมเงินนั้นโจทก์และจำเลยรู้ว่าจำเลยจะนำเงินไปให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินต่อโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือสืบเนื่องจากจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ในการนำเงินของโจทก์ไปให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินต่อโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ปัญหานี้ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558 จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ 1,800,000 บาท จำเลยได้รับเงินกู้ยืมจากโจทก์แล้ว ตกลงชำระดอกเบี้ยทุกเดือนในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาชำระต้นเงินคืน หลังจากกู้เงินไปแล้วจำเลยมิได้ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์จึงให้จำเลยทำบันทึกข้อตกลงการชำระหนี้ที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ตำบลดงคู่ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โดยจำเลยรับว่ากู้ยืมเงิน 1,200,000 บาท และ 1,800,000 บาท จากโจทก์ ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลย นายณรงค์ สามีจำเลย และนางสาวสำราญ เบิกความทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นอาสะใภ้ของจำเลย โจทก์มีอาชีพปล่อยเงินกู้ให้ประชาชนทั่วไป เมื่อประมาณปลายปี 2557 โจทก์ชักชวนจำเลยให้ร่วมกันปล่อยเงินกู้โดยจำเลยมีหน้าที่บอกกล่าวชาวบ้านในหมู่ที่ 3 ตำบลดงคู่ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และหมู่บ้านใกล้เคียงว่า หากมีบุคคลต้องการกู้ยืมเงิน ให้ติดต่อจำเลยแล้วจำเลยจะติดต่อโจทก์เพื่อให้โจทก์นำเงินกู้ยืมมาให้ บางครั้งจำเลยจะรับเงินกู้ยืมจากโจทก์มาให้ผู้กู้ และจำเลยมีหน้าที่เก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้เพื่อส่งมอบแก่โจทก์ โดยโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 4 ต่อสัปดาห์ และให้ค่าตอบแทนจำเลยเป็นส่วนแบ่งจากดอกเบี้ยที่ได้จากผู้กู้อัตราร้อยละ 1 ต่อสัปดาห์ ช่วงแรกที่จำเลยเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ โจทก์ให้จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้เงิน ซึ่งยังไม่มีการกรอกข้อความในเอกสาร มีเพียงลายมือชื่อของนายสมเดช ในช่องผู้เขียนและพยานเท่านั้น โจทก์กรอกจำนวนเงินกู้ยืม 1,800,000 บาท ในหนังสือสัญญากู้เงิน ไม่ตรงกับความจริงโดยจำเลยไม่ยินยอม จำเลยทำหน้าที่หาผู้กู้และเก็บดอกเบี้ยให้โจทก์จนถึงประมาณกลางปี 2558 ผู้กู้เริ่มผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ย ทำให้จำเลยไม่สามารถเก็บดอกเบี้ยส่งมอบให้โจทก์ โจทก์บอกจำเลยว่าเงินที่นำมาปล่อยกู้เป็นของบุคคลอื่นด้วย เมื่อไม่สามารถเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ได้ เจ้าของเงินคนอื่นจึงขอดูสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์ขอให้จำเลยลงชื่อเป็นผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน 1,200,000 บาท และให้นายณรงค์ สามีของจำเลยลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันให้แก่โจทก์เพื่อนำไปแสดงต่อเจ้าของเงินคนอื่น จำนวนเงินตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นต้นเงินที่ปล่อยกู้ 900,000 บาท และดอกเบี้ยที่เก็บไม่ได้ประมาณ 2 เดือน เป็นเงิน 300,000 บาท โจทก์บอกว่าจะไม่นำเอกสารดังกล่าวไปดำเนินคดีอย่างแน่นอนและจะให้จำเลยทำหน้าที่เก็บดอกเบี้ยต่อไป จำเลยและนายณรงค์ต้องการค่าตอบแทนจากการเก็บดอกเบี้ยต่อไปจึงลงชื่อในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยและนายณรงค์ให้รับผิดตามหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ.595/2560 ของศาลชั้นต้น เห็นว่า โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินจากโจทก์เป็นเงิน 1,800,000 บาท และรับไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว และมีนายมงคล พยานโจทก์เบิกความสนับสนุนว่า พยานเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ตำบลดงคู่ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2559 โจทก์กับจำเลยและนายณรงค์สามีจำเลย ได้ทำบันทึกยอมรับว่าทำสัญญากู้เงินจากโจทก์สองฉบับ เป็นเงิน 1,200,000 บาท และ 1,800,000 บาท ขณะทำบันทึกนั้นจำเลยและสามีจำเลยลงลายมือชื่อด้วยความสมัครใจไม่ได้มีการบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด พยานได้ลงลายมือชื่อในฐานะพยานในการทำบันทึก และเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์เล่าให้ฟังว่าจำเลยและสามีจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวนดังกล่าว แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้จึงได้มีการทำบันทึกนั้น ทั้งนี้ นายมงคลเป็นผู้ใหญ่บ้านและไม่ปรากฏว่ามีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใด จึงน่าเชื่อว่าพยานเบิกความไปตามข้อเท็จจริง ส่วนที่จำเลยอ้างว่าลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาที่ยังไม่ได้กรอกข้อความนั้น เมื่อพิจารณาหนังสือสัญญากู้ยืม ข้อความในช่องจำนวนเงินที่กู้กับช่องลงลายมือชื่อผู้กู้ปรากฏว่าสีหมึกของปากกาเหมือนกัน ส่อว่าเขียนโดยใช้ปากกาด้ามเดียวกัน จึงสอดคล้องกับที่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยเป็นผู้กรอกจำนวนเงินในหนังสือสัญญากู้ยืมเอง ประกอบกับจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 1,200,000 บาท แล้วนำไปปล่อยกู้อีกต่อหนึ่งแล้วไม่สามารถชำระเงินคืนโจทก์ โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ.595/2560 ของศาลชั้นต้น ต่อมามีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว และจำเลยเคยนำเงินให้นางแช่มช้อย กู้ยืมหลายครั้งเป็นเงิน 3,590,000 บาท ซึ่งมีเงินโจทก์รวมอยู่ด้วย อันเป็นการแสดงว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์แล้วนำเงินดังกล่าวออกให้บุคคลอื่นกู้ยืมต่อ จึงเจือสมกับพยานโจทก์ทำให้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยกู้ยืมเงิน 1,800,000 บาท จากโจทก์แล้วนำเงินจำนวนดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินต่อโดยขณะให้ยืมนั้นโจทก์และจำเลยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยจะนำเงินไปให้บุคคลอื่นกู้ต่อโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการกระทำผิดอาญาตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 นิติกรรมการกู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แต่ต้นเงินที่จำเลยกู้ยืมเงินไปนั้นสามารถแยกออกจากวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงินที่จำเลยต้องการนำเงินไปปล่อยกู้ต่อโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดที่เป็นโมฆะได้ ต้นเงินที่กู้ยืมไปจึงหาเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีไม่ กรณีมีผลเพียงโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ยืมที่เป็นต้นเหตุให้โจทก์จ่ายต้นเงินตามสัญญากู้เงิน จึงต้องรับผิดคืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยรับผิดต้นเงินและดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงกำหนดให้ตามขอ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 พฤษภาคม 2560) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีทั้งสามศาลให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)96/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง ร. จำเลย - นาง ช.

ชื่อองค์คณะ สิทธิชัย โชคสวัสดิ์ไพศาล แรงรณ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ สนธิศาสตร์ เจตน์วราพงศ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสวรรคโลก - นายชัยวัฒน์ ทรงศิริศิลป์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 - นายชาญศักดิ์ เชิดสงวน

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE