สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104/2567

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104/2567

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185 วรรคหนึ่ง, 215, 218 วรรคหนึ่ง, 225, 227 วรรคสอง, 227/1

โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้าย โจทก์คงมีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกันกระทำผิดด้วยกัน แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบังคับโดยเด็ดขาดห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดนั้นและข้อเท็จจริงตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 บอกเล่าถึงความเป็นไปในการกระทำความผิด มิใช่กระทำไปโดยมุ่งต่อผลเพื่อให้จำเลยที่ 1 พ้นผิดแล้วให้จำเลยที่ 2 รับผิดเพียงลำพัง คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังได้ แต่อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอด หรือพยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้านนั้น ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง สำหรับคดีนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีและไม่มีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์มีพันตำรวจโท พ. พนักงานสอบสวน เบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพก็ตาม แต่คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวมิใช่พยานหลักฐานที่มีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ทั้งไม่มีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนให้คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย อันถือว่าเป็นพยานหลักฐานประกอบอื่นตามความหมายของพยานหลักฐานประกอบที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227/1 วรรคสอง กรณีจึงไม่ใช่พยานหลักฐานประกอบอื่นที่สนับสนุนให้คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานบุคคลอื่นมานำสืบเกี่ยวกับการร่วมกันกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อีก เช่นนี้ คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุผลอันหนักแน่น ไม่อาจนำมารับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์เป็นที่สงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายถึงแก่ความตายดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องในความผิดสองฐานนั้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 288, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ 72, 72 ทวิ ริบอาวุธปืน ซองกระสุนปืน หัวกระสุนปืน และรถยนต์ของกลาง เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย และนับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย 617/2565 ของศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ

ระหว่างพิจารณา นางพงษ์ศิริ มารดาของนายพงศ์เทพ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ 150,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะ 2,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาผู้ร้องขอถอนคำร้องศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชนและฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น (ที่ถูก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองคนละกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น เมื่อศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยทั้งสองแล้ว จึงเพิ่มโทษไม่ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นจำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นจำคุกคนละ 8 เดือน คำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยทั้งสอง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายกับเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุกคนละ 10 เดือน 20 วัน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุกคนละ 4 เดือน 40 วัน รวมจำคุกคนละ 33 ปี 18 เดือน 60 วัน ริบอาวุธปืน ซองกระสุนปืนและหัวกระสุนปืนของกลาง ยกคำขอให้ริบรถยนต์ของกลางและให้คืนแก่เจ้าของ ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย 617/2565 ของศาลชั้นต้น ปรากฏว่าในคดีดังกล่าวศาลพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 เดือน แต่จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังเกินกำหนดเวลาต้องโทษจำคุกไปแล้ว จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ คำขอส่วนนี้จึงให้ยก

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 0.30 นาฬิกา ขณะที่นายพงศ์เทพ ผู้ตาย ขับรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กย xxxx ลพบุรี ไปตามถนนพหลโยธินถึงหน้าร้าน ม. ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี มีคนร้ายขับรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ชภ xxxx กรุงเทพมหานคร ของกลาง แซงรถยนต์ของผู้ตายทางด้านขวา แล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งอยู่ด้านหน้าข้างคนขับใช้อาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายของกลางยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์ของกลางในขณะที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตาย โจทก์คงมีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ให้การได้ความว่า วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของกลางไปรับจำเลยที่ 2 แล้วให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของกลาง โดยจำเลยที่ 1 นั่งอยู่ด้านหน้าข้างคนขับ ไปยังหน้าวัด ท. เมื่อถึงบริเวณดังกล่าวเวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ลงจากรถยนต์ของกลางไปรับเมทแอมเฟตามีนแล้วกลับขึ้นรถยนต์ของกลาง จากนั้นจำเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อนายออยให้มารับเมทแอมเฟตามีนยังสถานที่นัดหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้นายออยแล้วจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของกลางไปบ้านเช่าของจำเลยที่ 2 เพื่อนำเมทแอมเฟตามีนไปเก็บไว้ ระหว่างทางนายโน้ตโทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 1 เพื่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีน จำเลยที่ 1 ให้นายโน้ตไปรอที่หน้าโรงเรียน ว. ต่อมาขณะจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของกลางมาถึงบริเวณวงเวียนพระนารายณ์ จำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่า รถยนต์ ยี่ห้อมาสด้า สีแดง ขับช้าแปลก ๆ หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของกลางไปโรงเรียน ว. แล้วจำเลยที่ 1 ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้นายกล้าขณะนั้นจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่า รถยนต์ยี่ห้อมาสด้า สีแดง คันเดิมขับผ่านมาช้า ๆ จำเลยที่ 1 จึงให้จำเลยที่ 2 ขับรถตามไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องแซง จนกระทั่งจำเลยที่ 1 เกิดความระแวงเรื่องที่จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนอยู่ในรถว่ากลุ่มนายโน้ตที่เคยติดเงินจำเลยที่ 1 จะขับรถมาทำร้ายจำเลยที่ 1 ประกอบกับจำเลยที่ 1 เป็นคนใจร้อนและมีอาวุธปืนอยู่ในกระเป๋าด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 ขับรถแซงรถยนต์ ยี่ห้อมาสด้า สีแดง ขึ้นไปจำเลยที่ 1 จึงลดกระจกรถลง ขณะผ่านไปด้านหน้ารถ จำเลยที่ 1 จึงใช้อาวุธปืนยิงไปบริเวณตัวถังรถยนต์ ยี่ห้อมาสด้า สีแดง 1 นัด แล้วจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ขับรถหลบหนี ซึ่งคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกันกระทำผิดด้วยกัน แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบังคับโดยเด็ดขาดห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดนั้นและข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวก็เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 บอกเล่าถึงความเป็นไปในการกระทำความผิด มิใช่กระทำไปโดยมุ่งต่อผลเพื่อให้จำเลยที่ 1 พ้นผิดแล้วให้จำเลยที่ 2 รับผิดเพียงลำพัง คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังได้ แต่อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอด หรือพยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้านนั้น ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง สำหรับคดีนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีและไม่มีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์มีพันตำรวจโทพงศ์พิชิต พนักงานสอบสวน เบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพก็ตาม แต่คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวมิใช่พยานหลักฐานที่มีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ทั้งไม่มีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนให้คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย อันถือว่าเป็นพยานหลักฐานประกอบอื่นตามความหมายของพยานหลักฐานประกอบที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227/1 วรรคสอง กรณีจึงไม่ใช่พยานหลักฐานประกอบอื่นที่สนับสนุนให้คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ ปัญหาที่ต้องพิเคราะห์ต่อไป คือ คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 มีเหตุผลหนักแน่นหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจตรีอภิเชษฐ์ เจ้าพนักงานตำรวจผู้สืบสวนคดีนี้ เบิกความเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ได้ความว่า การสืบสวนยืนยันได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงท้ายด้วยหมายเลข 1323, 7868 และ 3956 พยานตรวจสอบการใช้หมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวพบว่าช่วงเดือนเมษายนมีการโทรศัพท์ติดต่อกับผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงท้ายด้วยหมายเลข 7603 บ่อยครั้ง หลังจากนั้นพยานขอข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของหมายเลขที่ลงท้ายด้วย 7603 จากบริษัท อ. พบว่าผู้ลงทะเบียนใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงท้ายด้วยหมายเลขดังกล่าวคือ นางสาวนุสรา อดีตภริยาจำเลยที่ 2 และพบว่าหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงท้ายด้วยหมายเลข 7603 ใช้งานร่วมกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อออปโป้ A 7 และโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อวีโว่ รุ่น Y 15 ต่อมาพยานสะกดรอยตามนางสาวนุสราพบว่าชีวิตประจำวันของนางสาวนุสราไม่สอดคล้องกับการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงท้ายด้วยหมายเลข 7603 พยานจึงเชื่อว่านางสาวนุสราไม่ได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าวจากนั้นพยานทำแผงผังข้อมูลเครือข่ายพบว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงท้ายด้วยหมายเลข 7603 ใช้ติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงท้ายด้วยหมายเลข 2773 และ 0897 ของนางสาวนุสราด้วย และยังใช้ติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงท้ายด้วยหมายเลข 1323, 7868 และ 3956 ของจำเลยที่ 1 กับบุคคลที่ใช้ชื่อสกุลแก้วแดงดีด้วย พยานมีความเห็นว่าผู้ที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงท้ายด้วยหมายเลข 7603 ต้องมีความสนิทสนมกับนางสาวนุสรา จำเลยที่ 1 และคนที่อยู่ในตระกูลแก้วแดงดี โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงท้ายด้วยหมายเลขดังกล่าว หลังจากนั้นพยานตรวจสอบการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงท้ายด้วยหมายเลข 7603 ทั้งช่วงก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุพบว่ามีความสัมพันธ์กับหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 โดยมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บริเวณใกล้เคียงกันและสอดคล้องกับรถยนต์สีดำที่ขับผ่านก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ จึงเชื่อว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อยู่ในรถยนต์คันดังกล่าวด้วย ต่อมาพยานทราบว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 ได้พร้อมโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อวีโว่ Y 15 ซึ่งหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวตรงกับที่พยานดำเนินการตรวจสอบ พยานจึงสรุปว่าจำเลยที่ 1 เดินทางมากับจำเลยที่ 2 ช่วงก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ เห็นว่า คำเบิกความของพันตำรวจตรีอภิเชษฐ์ที่ว่าจำเลยที่ 2 อยู่กับจำเลยที่ 1 ในขณะเกิดเหตุนั้นเป็นความเห็นที่ได้มาจากการวิเคราะห์และตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ลงท้ายด้วยหมายเลข 7603 ที่นางสาวนุสรา อดีตภริยาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ลงทะเบียนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่กับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น โดยโจทก์ไม่มีพยานบุคคลมาเบิกความสนับสนุนคำเบิกของพันตำรวจตรีอภิเชษฐ์ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงท้ายด้วยหมายเลข 7603 ของนางสาวนุสรา ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานการสืบสวนระบุว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลข 06 5923 7603 ใช้งานกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อ OPPO รุ่น A 7 รหัสสากลประจำอุปกรณ์เคลื่อนที่ (IMEI) : 867299048692390 และโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อ Vivo รุ่น Y 15 2019 รหัสสากลประจำอุปกรณ์เคลื่อนที่ (IMEI) : 861128049555610 แต่ตามบันทึกการจับกุมระบุว่า เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมตรวจสอบพบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 2 ยี่ห้อ Vivo รุ่น 1901 หมายเลข IMEI 1 : 861128049555615 และหมายเลข IMEI 2 : 861128049555607 หมายเลขโทรศัพท์ 09 9495 4407 ซึ่งตรงตามรายการตรวจยึดของกลางและภาพถ่าย โดยเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมจำเลยที่ 2 ไม่ได้ยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อ Vivo รุ่น Y 152019 รหัสสากลประจำอุปกรณ์เคลื่อนที่ (IMEI) : 861128049555610 ที่พันตำรวจตรีอภิเชษฐ์ใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และตรวจสอบดังที่เบิกความไว้เป็นของกลาง ดังนี้ คำเบิกความของพันตำรวจตรีอภิเชษฐ์ซึ่งได้มาจากการวิเคราะห์และตรวจสอบจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ลงท้ายด้วยหมายเลข 7603 ที่นางสาวนุสราอดีตภริยาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงทะเบียนใช้โทรศัพท์เคลื่อนกับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานบุคคลอื่นมานำสืบเกี่ยวกับการร่วมกันกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อีกเช่นนี้ คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุผลอันหนักแน่น ไม่อาจนำมารับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์เป็นที่สงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายถึงแก่ความตายดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องในความผิดสองฐานนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.312/2567

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดลพบุรี ผู้ร้อง - นาง พ. จำเลย - นาย ม. กับพวก

ชื่อองค์คณะ เทพ อิงคสิทธิ์ วรวุฒิ ทวาทศิน ศรศักดิ์ กุลจิตติบวร

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดลพบุรี - นายคมกฤษณ์ ขำทัศน์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นางยุพาพรรณ์ กลั่นนุรักษ์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE