คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2522
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 22, 22 ทวิ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2503 ม. 10, 11
ผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีในศาลแขวงได้มีคำสั่งในคดีที่ต้องห้าม อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง ฯลฯ มาตรา22 ว่า "ครบ กำหนดวันที่ 1 เป็นวันเสาร์และวันที่ 2 เป็นวันอาทิตย์ซึ่งหยุดราชการ โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิยื่นวันนี้ได้ รับเป็นอุทธรณ์ สำเนาให้จำเลย" ดังนี้ ไม่ถือว่าผู้พิพากษาผู้นั้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เพราะในคำสั่งมิได้ชี้แจงแสดงเหตุผลว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงไม่เป็นอุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณา
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินของบริษัทผู้เสียหาย 428,713.90 บาท ไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 ให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวแก่ผู้เสียหาย
บริษัทประศาสน์พานิชยการ จำกัด ผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง ฯลฯ พ.ศ. 2499 มาตรา 22 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง ฯลฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503 มาตรา 10 พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ร่วม
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้พิพากษาซึ่งลงลายมือชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า "ครบกำหนดวันที่ 1 เป็นวันเสาร์และวันที่ 2 เป็นวันอาทิตย์ซึ่งหยุดราชการ โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิยื่นวันนี้ได้ รับเป็นอุทธรณ์ สำเนาให้จำเลย" ดังนี้ ไม่ถือว่าผู้พิพากษาผู้นั้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เพราะในคำสั่งมิได้ชี้แจงแสดงเหตุผลว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมชอบแล้ว
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการประจำศาลแขวงนครศรีธรรมราช โจทก์ - โจทก์ร่วม โจทก์ - บริษัทประศาสน์พานิชการ จำกัด จำเลย - นายเชิดพงษ์ แซ่เล้า หรือถิรจิตโต
ชื่อองค์คณะ อำนัคฆ์ คล้ายสังข์ วิถี ปานะบุตร ไพบูลย์ เพียรรู้จบ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan