คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2143/2564
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 3, 49, 50 วรรคหนึ่ง, 51 วรรคสาม
หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐาน ไม่ว่าจะจับตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกิดขึ้น และแม้เจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินไม่ได้ร่วมกระทำความผิดและไม่ได้ถูกฟ้อง ก็ดำเนินมาตรการทางแพ่งแก่ตัวทรัพย์สินนั้นได้
กฎหมายมิได้บัญญัตินิยามคำว่า "เกี่ยวข้องสัมพันธ์" ไว้โดยเฉพาะ การวินิจฉัยว่าเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์หรือไม่จึงต้องอาศัยความหมายอย่างปกติทั่วไป กล่าวคือ มีความเกี่ยวพัน ติดต่อผูกพัน หรือเกี่ยวข้องไม่ว่าจะในทางทรัพย์สินในทางความเป็นอยู่ หรือในทางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับผู้กระทำความผิดมูลฐานอย่างมีนัยสำคัญจนเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่ามีส่วนร่วมในการฟอกเงิน
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สิน 78 รายการ รวมราคาประมาณ 1,081,204,804.49 บาท พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้นตามบัญชีทรัพย์สินเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 23 ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสิบเจ็ดยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์ตามบัญชีรายการทรัพย์สินเอกสารหมาย ร.23 ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสิบเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องสำหรับทรัพย์สินรายการที่ 7 เฉพาะเบี้ยประกันชีวิตรายปีปีแรกตามสิทธิ และรายการที่ 72 ตามบัญชีรายการทรัพย์สินเอกสารหมาย ร.23 ของผู้ร้อง โดยให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 กับให้คืนค่าขึ้นศาล 50,000 บาท แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 9 ถึงที่ 17 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ก่อนที่จะวินิจฉัยปัญหาตามที่คู่ความฎีกาขึ้นมาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 5 ที่ 12 ถึงที่ 14 ที่ 16 และที่ 17 เป็นฎีกาที่พึงรับไว้วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การดำเนินการทางศาลตามหมวดนี้ ให้ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม" คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสิบเจ็ดตกเป็นของแผ่นดินเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ใช้อยู่ในขณะยื่นคำร้องขอดังกล่าวมิได้บัญญัติให้คดีถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ แต่บัญญัติให้คู่ความสามารถฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้ เว้นแต่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้เป็นที่สุดหรือบัญญัติห้ามมิให้ฎีกา ในเรื่องนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้บัญญัติกำหนดลักษณะคดีที่ต้องห้ามฎีกาไว้ว่า "ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นแย้งหรือผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นก็ดี ศาลอุทธรณ์ก็ดี ได้รับรองไว้หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ ต้องได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์" และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไม่ได้บัญญัติในเรื่องการฎีกาไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องนำบทบัญญัติการห้ามฎีกาดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินอย่างคดีนี้ด้วย คดีนี้ราคาทรัพย์สินซึ่งเป็นทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาของผู้คัดค้านที่ 5 คิดเป็นเงิน 82,970.85 บาท ผู้คัดค้านที่ 12 คิดเป็นเงิน 20,234.50 บาท ผู้คัดค้านที่ 13 คิดเป็นเงิน 140,987.25 บาท ผู้คัดค้านที่ 14 คิดเป็นเงิน 154,131.46 บาท ผู้คัดค้านที่ 16 คิดเป็นเงิน 0.18 บาท และผู้คัดค้านที่ 17 คิดเป็นเงิน 141,369.51 บาท ซึ่งมีราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ไม่ปรากฏว่าได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนทุนทรัพย์ที่ต้องห้ามฎีกาเป็นประการอื่น ผู้คัดค้านที่ 5 ที่ 12 ถึงที่ 14 ที่ 16 และที่ 17 ฎีกาทำนองเดียวกันว่า ไม่ปรากฏจากหลักฐานของผู้ร้องว่ามีจำนวนผู้เล่นหรือเข้าพนันในแต่ละครั้งเกินกว่าหนึ่งร้อยคน หรือมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าเกินกว่าสิบล้านบาทขึ้นไป จึงฟังไม่ได้ว่ามีความผิดมูลฐานตามคำร้องของผู้ร้องเกิดขึ้น และทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 5 ที่ 12 ถึงที่ 14 ที่ 16 และที่ 17 ได้รับโอนมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ในการวินิจฉัยฎีกาที่ว่า ไม่ปรากฏจากหลักฐานของผู้ร้องว่ามีจำนวนผู้เล่นหรือเข้าพนันในแต่ละครั้งเกินกว่าหนึ่งร้อยคน หรือมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าเกินกว่าสิบล้านบาทขึ้นไป จึงฟังไม่ได้ว่ามีความผิดมูลฐานตามคำร้องของผู้ร้องเกิดขึ้นนั้น ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า มีจำนวนผู้เล่นหรือเข้าพนันในแต่ละครั้งจำนวนเท่าใด หรือมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าเกินกว่าสิบล้านบาทขึ้นไปหรือไม่เสียก่อนแล้วจึงนำไปปรับกับตัวบทกฎหมายว่าการจัดให้มีการเล่นการพนันดังกล่าวมีจำนวนผู้เล่น ผู้เข้าพนัน หรือวงเงินในการกระทำความผิดมากเพียงพอที่จะถือว่าเป็นความผิดมูลฐานหรือไม่ การฎีกาในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาในข้อที่ว่า ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 5 ที่ 12 ถึงที่ 14 ที่ 16 และที่ 17 ได้รับโอนมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนเป็นการฎีกาในข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีนี้ในศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นแย้งหรือผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ (ปัจจุบันคือประธานศาลอุทธรณ์) ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 5 ที่ 12 ถึงที่ 14 ที่ 16 และที่ 17 จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้าม ทั้งฎีกาดังกล่าวมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของผู้คัดค้านที่ 5 ที่ 12 ถึงที่ 14 ที่ 16 และที่ 17 มาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีอำนาจส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ และพนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 48 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด ให้เลขาธิการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคําร้องขอให้ศาลมีคําสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว" การยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของบุคคลตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 นั้น เป็นมาตรการส่วนแพ่งในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 เพื่อตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมที่มีการนำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือที่ได้มาจากการกระทำความผิดมากระทำในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นการฟอกเงิน และนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์หรือใช้ในการกระทำความผิดต่อไปอีก มิใช่เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนั้น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 จึงบัญญัติมาตรฐานการสั่งคดีของพนักงานอัยการที่จะพิจารณาว่าจะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่จึงเป็นเพียงการปรากฏเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามบทนิยาม "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 เท่านั้น โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าเจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ นอกจากนี้อำนาจในการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเป็นอำนาจของศาล ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 โดยศาลจะต้องไต่สวนพยานหลักฐานจนกว่าจะเชื่อว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และคำร้องคัดค้านของผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้รับโอนทรัพย์สินนั้นฟังไม่ขึ้น
สำหรับคดีนี้เริ่มต้นขึ้นจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้รับรายงานจากธนาคาร ท. ว่าธุรกรรมทางการเงินรายผู้คัดค้านที่ 1 มีเหตุน่าสงสัย ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกรวมทั้งผู้เกี่ยวข้องและที่เคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลดังกล่าว เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจึงมีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ 6 คน ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วนแล้วเห็นว่ามีความผิดมูลฐานเกิดขึ้นจริงและทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงทำบันทึกเสนอให้คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก 78 รายการ ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบด้วย เห็นได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ เป็นขั้นเป็นตอนตามที่กฎหมายกำหนด มีผู้เกี่ยวข้องและตรวจสอบเป็นจำนวนมาก มิได้เป็นการดำเนินการไปโดยปราศจากพยานหลักฐาน จึงเป็นกรณีที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกรวม 78 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจึงมีอำนาจส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน และพนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ ส่วนพยานหลักฐานของผู้ร้องจะมีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะทำให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันในอีกขั้นตอนหนึ่ง ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 15 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า มีความผิดมูลฐานเกิดขึ้นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน 78 รายการ ที่มีชื่อผู้คัดค้านทั้งสิบเจ็ดเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ครอบครองตกเป็นของแผ่นดินโดยอ้างว่าผู้คัดค้านทั้งสิบเจ็ดกับพวกมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (9) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (9) ซึ่งบัญญัติเพิ่มเติมขึ้นโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 มาตรา 3 อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินคดีนี้บัญญัติว่า "ความผิดเกี่ยวกับการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน เฉพาะความผิดเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีจำนวนผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นแต่ละครั้งเกินกว่าหนึ่งร้อยคน หรือมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าเกินกว่าสิบล้านบาทขึ้นไป" ดังนั้น ลำพังเพียงความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่เพียงอย่างเดียวยังไม่ถือว่าเป็นความผิดมูลฐาน กรณีจะเป็นความผิดมูลฐานได้ต้องได้ความว่ามีจำนวนผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นแต่ละครั้งเกินกว่าหนึ่งร้อยคน หรือมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าเกินกว่าสิบล้านบาทขึ้นไปอีกด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ได้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (การพนันออนไลน์) ทางเว็บไซต์ www.t…, www.u…, www.c… และ www.u… โดยไม่ได้รับอนุญาต และมีผู้จัดให้มีการเล่นการพนันดังกล่าวตามคำร้องขอของผู้ร้องจริง ส่วนการพนันดังกล่าวจะมีจำนวนผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นแต่ละครั้ง หรือมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมากพอที่จะเป็นความผิดมูลฐานหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจ ท. ซึ่งในช่วงระหว่างปี 2552 ถึงปี 2557 พยานรับราชการในตำแหน่งสารวัตรกลุ่มงานสนับสนุนเทคโนโลยี กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ประกอบรายงานผลการตรวจพิสูจน์ข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ของกองกำกับการกลุ่มงานตรวจสอบและตรวจพิสูจน์ทางเทคโนโลยี (ที่ถูก กลุ่มงานตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี กองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี) ซึ่งเป็นข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่แสดงประวัติการเข้าถึงเว็บไซต์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเว็บไซต์เล่นการพนันออนไลน์ และช่องทางจัดการให้เล่นการพนันออนไลน์และเว็บไซต์ตัวแทนการพนันออนไลน์ เว็บไซต์ตัวแทนชักชวนโฆษณาให้คนเล่นการพนัน และเอกสารที่เป็นตารางข้อมูลเกี่ยวกับผู้เล่นการพนันซึ่งจัดให้มีผู้เล่นการพนันเกือบ 1,000 ราย ซึ่งผู้เล่นไม่สามารถเปลี่ยน Username และ Password ได้เพราะเจ้าของโปรแกรมการเล่นเป็นผู้กำหนดและสามารถเล่นการพนันที่เว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่งเท่านั้น มีจำนวน 999 ผู้ใช้ (Username) ฟังได้ว่า มีจำนวนผู้เล่นหรือเข้าพนันในการเล่นแต่ละครั้งเกินกว่าหนึ่งร้อยคน จึงเป็นกรณีความผิดเกี่ยวกับการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน เฉพาะความผิดเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีจำนวนผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นแต่ละครั้งเกินกว่าหนึ่งร้อยคนต้องด้วยนิยาม "ความผิดมูลฐาน" ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (9) ที่ใช้อยู่ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ความผิดมูลฐานตามคำร้องขอของผู้ร้องเกิดขึ้นแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 15 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ทรัพย์สิน 78 รายการและดอกผลตามบัญชีรายการทรัพย์สินเอกสารหมาย ร.23 ยกเว้นทรัพย์สินรายการที่ 7 เฉพาะเบี้ยประกันชีวิตรายปีปีแรกตามสิทธิ และรายการที่ 72 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในคดีนี้บัญญัตินิยามคำว่า ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" หมายความว่า (1) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินหรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน หรือความผิดฐานฟอกเงิน และให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้หรือสนับสนุนการกระทำความผิดมูลฐานตาม (8) ของบทนิยามคำว่า "ความผิดมูลฐาน" … (2) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ (3) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ (2) ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินตาม (1) (2) หรือ (3) จะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้งและไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 บัญญัติว่า "ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 อาจยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่งตามมาตรา 51 โดยแสดงให้ศาลเห็นว่า (1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือ (2) ตนเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ" และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสาม บัญญัติว่า "เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ หากผู้อ้างว่าเป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต แล้วแต่กรณี" จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเห็นได้ว่า เพียงแต่หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจับตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกิดขึ้น และแม้เจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินไม่ได้ร่วมกระทำความผิดและไม่ได้ถูกฟ้อง ก็ดำเนินมาตรการทางแพ่งแก่ตัวทรัพย์สินนั้นได้ แต่เนื่องจากกฎหมายมิได้บัญญัตินิยามคำว่า "เกี่ยวข้องสัมพันธ์" ไว้โดยเฉพาะ การวินิจฉัยว่าเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์หรือไม่ จึงต้องอาศัยความหมายอย่างปกติทั่วไป กล่าวคือ มีความเกี่ยวพัน ติดต่อผูกพัน หรือเกี่ยวข้องไม่ว่าจะในทางทรัพย์สิน ในทางความเป็นอยู่ หรือในทางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับผู้กระทำความผิดมูลฐานอย่างมีนัยสำคัญจนเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่ามีส่วนร่วมในการฟอกเงิน เมื่อพยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 9 และที่ 10 มีน้ำหนักน้อย ไม่มั่นคงหนักแน่นเพียงพอที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสาม ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามข้อสันนิษฐานของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสาม ว่า ทรัพย์สินดังกล่าวของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 9 และที่ 10 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ส่วนผู้คัดค้านที่ 11 และที่ 15 ไม่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวว่า ทรัพย์สินดังกล่าวของผู้คัดค้านที่ 11 และที่ 15 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 15 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดแล้วพิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 15 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายกฎีกาของผู้คัดค้านที่ 5 ที่ 12 ถึงที่ 14 ที่ 16 และที่ 17 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่ผู้คัดค้านที่ 5 ที่ 12 ถึงที่ 14 ที่ 16 และที่ 17 และพิพากษายืนสำหรับฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 15 ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ปค.11/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้คัดค้าน - นาย อ. กับพวก
ชื่อองค์คณะ เรวัตร สกุลคล้อย ศิริชัย จันทร์สว่าง นพรัตน์ สี่ทิศประเสริฐ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นายชัยยันต์ สุญาณวนิชกุล ศาลชั้นต้น - นายสถาพร ประสารวรรณ