สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21742/2556

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21742/2556

พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ม. 4, 5

ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 30 ได้แต่งตั้งจำเลยเป็นกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการและโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีที่พ้นตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ และคณะกรรมการตรวจสอบดังกล่าวได้แต่งตั้งจำเลยเป็นประธานอนุกรรมการตรวจสอบการให้กู้เงินแก่สหภาพพม่าจำนวน 4,000 ล้านบาทของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จำเลยจึงเป็น "เจ้าหน้าที่" ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4

เมื่อพิจารณาข่าวสารทางสำนักข่าวไทยและทางหนังสือพิมพ์แล้ว เนื้อหาของข่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบที่กระทำไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เป็นการให้ข้อมูลข่าวสารการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบและคณะอนุกรรมการตรวจสอบแก่ประชาชนทั่วไป การให้ข่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติงานย่อมเป็นอำนาจทั่วไปของคณะกรรมการตรวจสอบและคณะอนุกรรมการตรวจสอบ จำเลยจึงมีอำนาจกระทำได้ เมื่อจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่และการให้ข่าวของจำเลยเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ การที่โจทก์อ้างว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิด แต่จะฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และแม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบที่มีจำเลยเป็นกรรมการคนหนึ่งนั้นจะไม่เป็นหน่วยงานของรัฐหรือสังกัดหน่วยงานของรัฐ แต่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคสอง ให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบ

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,500,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ในประเด็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ยึดอำนาจการปกครองแล้ว ได้ออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 30 ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 30 ดังกล่าวไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิก จึงมีผลใช้บังคับได้ และตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 30 นั้น ได้แต่งตั้งจำเลยเป็นกรรมการในคณะกรรมการตรวจสอบ มีอำนาจหน้าที่หลายประการรวมทั้งตรวจสอบการดำเนินการและโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีที่พ้นตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ และคณะกรรมการตรวจสอบดังกล่าวได้แต่งตั้งจำเลยเป็นประธานอนุกรรมการตรวจสอบการให้กู้เงินแก่สหภาพพม่าจำนวน 4,000 ล้านบาทของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเป็นผู้ปฏิบัติงานในการตรวจสอบการให้กู้เงินแก่สหภาพพม่าจำนวน 4,000 ล้านบาทของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จำเลยจึงเป็น "เจ้าหน้าที่" ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า "เจ้าหน้าที่" หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือฐานะอื่นใด" เมื่อพิจารณาข่าวสารทางสำนักข่าวไทยในวันที่ 1 สิงหาคม 2550 และทางหนังสือพิมพ์ไทยรัฐกับหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 2 สิงหาคม 2550 ปรากฏความชัดว่าการให้ข่าวดังกล่าวจำเลยกระทำไปในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบการให้กู้เงินแก่สหภาพพม่าจำนวน 4,000 ล้านบาทของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และเนื้อหาของข่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบที่กระทำไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เป็นการให้ข้อมูลข่าวสารการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบและคณะอนุกรรมการตรวจสอบแก่ประชาชนทั่วไป เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ แม้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 30 จะไม่ระบุให้คณะกรรมการตรวจสอบและคณะอนุกรรมการตรวจสอบมีอำนาจให้ข่าวดังที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่การให้ข่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติงานย่อมเป็นอำนาจทั่วไปของคณะกรรมการตรวจสอบและคณะอนุกรรมการตรวจสอบ จำเลยเป็นกรรมการตรวจสอบและเป็นประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบจึงมีอำนาจกระทำได้ เมื่อจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่และการให้ข่าวของจำเลยเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิด แต่จะฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และแม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบที่มีจำเลยเป็นกรรมการคนหนึ่งนั้น จะไม่เป็นหน่วยงานของรัฐหรือสังกัดหน่วยงานของรัฐ แต่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคสอง ให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบ ส่วนที่โจทก์อ้างว่า เมื่อมีประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่มีอำนาจออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 30 นั้น เห็นว่า ตามประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าว ไม่มีความตอนใดที่ทำให้เข้าใจไปได้ว่าอำนาจในการออกประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขถูกยกเลิกหรือสิ้นสุดลงดังที่อ้าง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยโดยตรง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.2914/2553

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร จำเลย - นายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์

ชื่อองค์คณะ กรองเกียรติ คมสัน อิสสระ นิ่มละมัย ทรงศิลป์ ธรรมรัตน์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นายทวีศักดิ์ จันทร์วีระเสถียร ศาลอุทธรณ์ - นายประสิทธิ์ เจริญถาวรโภคา

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th