คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21764/2556
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 70 วรรคสอง, 448 วรรคหนึ่ง
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ย่อมต้องแสดงออกโดยผู้แทนของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง อายุความ 1 ปี จึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ผู้แทนของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน มิใช่นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5158/2546 ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่า ร. ต้องชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศแก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นคนละประเด็นกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ทั้งคำพิพากษาคดีก่อนก็ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ คำพิพากษาคดีก่อนเพียงแต่วินิจฉัยว่า ร. ไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์ตามฟ้องจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าในวันที่ศาลในคดีก่อนมีคำพิพากษา โจทก์ได้ทราบแล้วว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิด เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์โดยรักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ฝ่ายบริหาร) ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจากรายงานของกองนิติการเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2548 จึงไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 45,080.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 32,331.98 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์โดยรักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ฝ่ายบริหาร) ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจากรายงานของกองนิติการเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2548 ไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เห็นว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ย่อมต้องแสดง ออกโดยผู้แทนของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วรรคสอง อายคุวาม 1 ปี จึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ผู้แทนของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนมิใช่นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5158/2546 ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่านางรำพันต้องชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศแก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นคนละประเด็นกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ทั้งคำพิพากษาคดีก่อนก็ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ คำพิพากษาคดีก่อนเพียงแต่วินิจฉัยว่านางรำพันไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาการใช้บริการโทรศัพท์ตามฟ้องจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าในวันที่ศาลในคดีก่อนมีคำพิพากษา โจทก์ได้ทราบแล้วว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิด เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์โดยรักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ฝ่ายบริหาร) ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจากรายงานของกองนิติการเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2548 จึงไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยเห็นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และเห็นสมควรวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาก่อน และเห็นสมควรวินิจฉัยในเบื้องต้นก่อนว่า จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องตรวจสอบคำขอใช้บริการและเอกสารประกอบคำขอ ซึ่งเป็นมูลเหตุที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ความตรงกันว่า จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ตรวจสอบเอกสารของผู้ขอใช้บริการโทรศัพท์ โดยจำเลยที่ 2 ต้องปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ และมาตรฐานเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ยึดถือปฏิบัติตามสัญญาร่วมการงาน คำสั่งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและข้อตกลงแนบท้ายสัญญาร่วมการงาน การขอใช้บริการโทรศัพท์ ผู้ขอใช้บริการต้องมีต้นฉบับบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านพร้อมสำเนามาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ด้วย หากผู้ขอใช้บริการโทรศัพท์ไม่นำต้นฉบับบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดง เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 จะไม่รับคำขอใช้บริการ เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 2 ตรวจสอบคำขอใช้บริการโทรศัพท์ ต้นฉบับบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านพร้อมสำเนาที่แนบมาว่าถูกต้องตรงกันตามที่ผู้ยื่นคำขอนำมายื่นแล้วก็จะส่งคำขอและเอกสารดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ตรวจสอบ เมื่อจำเลยที่ 1 ตรวจสอบแล้ว เห็นว่าถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติของจำเลยที่ 1 เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะลงลายมือชื่อในคำขอใช้บริการโทรศัพท์ สำหรับวิธีการใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศของโจทก์นั้น ตามสัญญาใช้บริการข้อ 7 หากผู้ขอใช้บริการไม่ทำเครื่องหมายในช่อง 9 ที่ระบุว่า งดเปิดใช้ทางไกลระหว่างประเทศ ก็สามารถใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศของโจทก์ได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกและผลประโยชน์ทางธุรกิจระหว่างกันเช่นนี้มาตลอด หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง กล่าวคือ หากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไม่ตรวจสอบหลักฐานในการยื่นคำขอให้รอบคอบเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศได้ ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากสูญเสียรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ ย่อมเป็นการละเมิดและผิดสัญญาต่อโจทก์ ในทางกลับกันหากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ตรวจสอบเอกสารถูกต้องแล้วโจทก์ไม่เปิดให้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศให้ผู้ยื่นคำขอ เป็นเหตุให้ผู้ยื่นคำขอฟ้องเรียกค่าเสียหายเอากับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่สัญญากับผู้ยื่นคำขอโดยตรง การกระทำของโจทก์ย่อมเป็นการละเมิดและผิดสัญญาต่อจำเลยทั้งสองได้เช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่เคยปฏิบัติต่อกันมา สำหรับคดีนี้โจทก์มีนายพิชิต พนักงานโจทก์ มาเบิกความประกอบใบคำขอใช้บริการและเอกสารประกอบคำขอยืนยันว่า ในการตรวจสอบเอกสารประกอบคำขอดังกล่าว จำเลยทั้งสองหรือตัวแทนไม่ตรวจสอบบุคคลที่ขอทำสัญญาว่าตรงกับบัตรประจำตัวประชาชนหรือไม่ ถือว่าโจทก์นำสืบตามภาระการพิสูจน์ของตนแล้ว ส่วนจำเลยทั้งสองมีแต่บุคคลที่มิใช่ผู้รับใบคำขอใช้บริการมาเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า ผู้รับคำขอใช้บริการได้ใช้ความระมัดระวังในการรับคำขอใช้บริการทางโทรศัพท์ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 อย่างเคร่งครัดแล้ว โดยมิได้นำผู้รับคำขอใช้บริการมาเบิกความด้วยตนเองจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ย่อมมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไม่ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบคำขอใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานของจำเลยที่ 2 และเอกสารประกอบคำขอของผู้ที่แอบอ้างชื่อนางรำพัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า โจทก์เสียหายเพียงใด โจทก์มีนายพิพิธมาเบิกความว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศของโจทก์จากนางรำพันได้เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 32,331.98 บาท ตามใบแจ้งหนี้ ที่จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าใบแจ้งหนี้เป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นฝ่ายเดียว เห็นว่า โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศของโจทก์จากนางรำพันเป็นจำนวนที่โจทก์นำสืบจริง จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206, 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งโจทก์ฟ้องขอดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2542 จึงกำหนดให้ตามขอ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 32,331.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 21 มกราคม 2548) ต้องไม่เกิน 12,748.99 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 3,000 บาท
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.2542/2554
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัทกสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำเลย - บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) หรือบริษัททศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับพวก
ชื่อองค์คณะ วีระชาติ เอี่ยมประไพ อนันต์ วงษ์ประภารัตน์ วิจิตร วิสุชาติ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแขวงพระนครเหนือ - นางเนตินาฎ คงทอง ธรรม์ญาณเนตร์ ศาลอุทธรณ์ - นายอนันต์ เสนคุ้ม