สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2232/2567

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2232/2567

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 828, 1599, 1600 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (1), 43, 44/1, 47 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 42, 60

เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายระหว่างขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีในคดีส่วนอาญาออกจากสารบบความ สำหรับคดีส่วนแพ่ง การดำเนินกระบวนพิจารณาต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง สิทธิในคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่พนักงานอัยการขอให้จำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 และสิทธิของโจทก์ร่วมที่ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ยังคงมีอยู่ ไม่ระงับไป

ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์เพื่อช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับทรัพย์สินคืนหรือได้รับการชดใช้ราคาทรัพย์สินที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยได้โดยสะดวกรวดเร็ว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง จึงให้อำนาจพนักงานอัยการใช้สิทธิเรียกร้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายและโจทก์ร่วมสามารถใช้สิทธิของตนเองต่อเนื่องไปในคดีอาญา เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีทั้งคดีส่วนแพ่งและคดีส่วนอาญาเสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน

ดังนั้น การที่จำเลยแต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 จึงเป็นการแต่งตั้งตัวแทน เมื่อจำเลยซึ่งเป็นตัวการถึงแก่ความตาย ทนายจำเลยคงมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของจำเลยจะเข้ามาปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลย อำนาจของทนายจำเลยหาได้หมดสิ้นไปทันทีเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายไม่ เมื่อทนายจำเลยมิได้ดำเนินการในคดีส่วนแพ่งภายในกำหนด 1 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีต่อไปได้ สิทธิในการบังคับคดีที่เป็นสิทธิในทรัพย์สินมิใช่สิทธิเฉพาะตัว ความรับผิดตามคำพิพากษาย่อมตกทอดแก่ทายาทของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600

เนื้อหาฉบับเต็ม

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยใช้เงิน 3,000,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา พระครู ว. นายแสวง นายทวี นายสินธ์ นายทองพูล นายทองล้วน นางอังสนา นางสาวปัทมนันท์ นางดวงกมล นายพิชัย นายสมหมาย นายสมจิตร นายเสมอ นายบัญชา และนางสาวประกายดาว ในฐานะคณะกรรมการบริหารงานของธนาคารหมู่บ้านวัด บ. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ

จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิด ไม่ได้เอาเงินโจทก์ร่วมไป จึงไม่ต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ร่วม ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนเงินแก่ธนาคารหมู่บ้านวัด บ. จำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ระหว่างจำเลยขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ โดยศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ทนายจำเลยยื่นคำร้องว่าจำเลยถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นนัดสอบถามคู่ความในวันที่ 2 ตุลาคม 2562 และมีคำสั่งว่า เมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

วันที่ 23 มีนาคม 2563 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลยังมิได้มีคำบังคับคดีส่วนแพ่งแก่จำเลย เมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย จึงให้โจทก์ร่วมสืบหาทายาทของจำเลย แล้วจัดการส่งคำบังคับต่อไป ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2564 โจทก์ร่วมยื่นคำแถลงขอให้ส่งคำบังคับแก่นายสุรศักดิ์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของจำเลย วันที่ 1 กันยายน 2564 ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้นายสุรศักดิ์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของจำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งภายใน 15 วัน

นายสุรศักดิ์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของจำเลย ผู้ร้อง ยื่นคำร้องว่า เมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) คำขอในส่วนแพ่งที่ให้จำเลยชดใช้เงินย่อมตกไปด้วย ประกอบกับศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโดยมิได้ระบุว่าจำหน่ายคดีเฉพาะคดีส่วนอาญา ย่อมต้องถือว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีทั้งคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่ง คำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความมีผลทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นระงับไปในตัว จึงไม่มีคำพิพากษาที่จะบังคับให้จำเลยต้องรับผิด โจทก์ร่วมต้องไปฟ้องร้องทายาทจำเลยเป็นคดีใหม่ คำบังคับดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 272 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ขอให้เพิกถอนคำบังคับ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้ร้องฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า ระหว่างอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ทนายจำเลยยื่นคำร้องว่าจำเลยถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นนัดสอบถามในวันที่ 2 ตุลาคม 2562 และมีคำสั่งว่าเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ วันที่ 23 มีนาคม 2563 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลยังมิได้มีคำบังคับคดีส่วนแพ่งแก่จำเลย เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายให้โจทก์ร่วมสืบหาทายาทของจำเลย แล้วส่งคำบังคับให้ทายาทของจำเลยต่อไป ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2564 โจทก์ร่วมยื่นคำแถลงขอออกคำบังคับและให้ส่งคำบังคับแก่ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของจำเลย วันที่ 1 กันยายน 2564 ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งภายใน 15 วัน

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การออกคำบังคับในคดีส่วนแพ่งของศาลชั้นต้นชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีส่วนอาญาเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีในคดีส่วนอาญาของจำเลยออกจากสารบบความชอบแล้ว สำหรับคดีส่วนแพ่งการดำเนินกระบวนพิจารณาศาลจำต้องใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่" สิทธิของโจทก์ร่วมที่จะได้ทรัพย์สินคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินซึ่งเป็นสิทธิในคดีส่วนแพ่งที่พนักงานอัยการอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และคำขอส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวเป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย โจทก์ร่วมจึงยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้เช่นกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 เห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวเพื่อช่วยให้โจทก์ร่วมได้รับทรัพย์สินคืนหรือได้รับการชดใช้ราคาทรัพย์สินที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง จึงให้อำนาจพนักงานอัยการใช้สิทธิเรียกร้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายและโจทก์ร่วมสามารถใช้สิทธิของตนเองต่อเนื่องไปในคดีอาญา เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีทั้งคดีส่วนแพ่งและคดีส่วนอาญาเสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน สิทธิในคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่พนักงานอัยการขอให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ร่วมและสิทธิของโจทก์ร่วมขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนยังคงมีอยู่จึงยังไม่ระงับไป แม้ผู้ร้องจะกล่าวอ้างมาในฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความโดยมิได้ระบุว่าจำหน่ายคดีเฉพาะส่วนคดีอาญาย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นการจำหน่ายคดีทั้งในคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งไปทั้งหมดออกจากศาล ทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นระงับไปในตัว ไม่มีคำพิพากษาให้จำเลยต้องรับผิดนั้น ก็เป็นเพียงความเข้าใจหรือการคาดคะเนของผู้ร้อง หาได้ทำให้คดีส่วนแพ่งตกไปด้วยดังที่วินิจฉัยข้างต้นไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ 29 สิงหาคม 2562 ทนายจำเลยยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายแล้วขอแถลงให้ศาลชั้นต้นทราบและมีคำสั่งตามกฎหมายต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า นัดสอบถามวันที่ 2 ตุลาคม 2562 สำเนาให้โจทก์และโจทก์ร่วม เมื่อถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2562 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ การที่จำเลยแต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 นั้น เป็นการแต่งตั้งตัวแทน เมื่อจำเลยซึ่งเป็นตัวการถึงแก่ความตาย ทนายจำเลยคงมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยต่อไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของจำเลยจะเข้ามาปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลย อำนาจของทนายจำเลยหาได้หมดสิ้นไปทันทีเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายไม่ ทนายจำเลยยังคงมีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินคดีส่วนแพ่งอยู่ เมื่อทนายจำเลยมิได้ดำเนินการในคดีส่วนแพ่งภายในกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีต่อไปได้ และเนื่องจากสิทธิในการบังคับคดีที่เป็นสิทธิในทรัพย์สินมิใช่สิทธิเฉพาะตัว ความรับผิดตามคำพิพากษาย่อมตกทอดแก่ทายาทของจำเลยซึ่งเป็นผู้ร้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และมาตรา 1600 เมื่อโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีในวันที่ 23 มีนาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ยังมิได้มีคำบังคับคดีส่วนแพ่งแก่จำเลย โจทก์ร่วมจึงยื่นคำแถลงขอออกคำบังคับและส่งคำบังคับให้แก่ผู้ร้องซึ่งอยู่ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของจำเลย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและออกคำบังคับให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 15 วัน ในวันที่ 1 กันยายน 2564 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว หาใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบต่อกฎหมายดังที่ผู้ร้องฎีกาแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.4059/2566

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่น โจทก์ร่วม - พระครู ว. กับพวก ผู้ร้อง - นาย บ. จำเลย จำเลย - นาย บ.

ชื่อองค์คณะ พิศิฏฐ์ สุดลาภา ณรงค์ ประจุมาศ สัญญา ภูริภักดี

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแขวงขอนแก่น - นางสาวณัฏฐ์นิชา สุวรรณพงษ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นายพิทยา หมื่นแก้ว

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th