สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22746/2555

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22746/2555

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 337 วรรคแรก, 80 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรคสี่, 225

จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่วินรถจักรยานยนต์พูดว่า หากใครไม่จ่ายไม่ให้จอด ระวังจะจำเบอร์ไม่ได้ จำซอยไม่ได้ ขับเงียบ ๆ ใกล้จะหมดเวลาของพวกมึงแล้ว มีลักษณะเป็นการข่มขู่ผู้เสียหายทั้งสามว่าอาจถูกทำร้าย หลังจากมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วแต่ไม่มีการควบคุมตัวจำเลยในระหว่างดำเนินคดี ผู้เสียหายทั้งสามเกรงจะได้รับอันตรายและถูกห้ามขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยเกิดเหตุจึงต้องจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ตามที่จำเลยเรียกร้อง แต่ข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายทั้งสามจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ภายหลังมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วนั้น ปรากฏแต่ในทางพิจารณาโดยโจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในฟ้อง ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ จึงต้องห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยโดยอาศัยข้อเท็จจริงนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยได้แต่ในความผิดฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 เท่านั้น

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 337

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคหนึ่ง, 80 ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า ผู้เสียหายทั้งสามมีอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างที่วินรถซอยสุขุมวิท 98/1 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำเลยเป็นหัวหน้าผู้ดูแลวินรถและเรียกเก็บเงินจากผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างเป็นรายวันคนละ 70 บาท และผู้เสียหายทั้งสามกับพวกจ่ายให้จำเลยตลอดมา จนกระทั่งปี 2546 ที่รัฐบาลมีประกาศให้ผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างไปขึ้นทะเบียนและรับหมายเลขประจำตัวจากสำนักงานเขตท้องที่เพื่อไม่ให้มีการเรียกเก็บค่าวินรถจักรยานยนต์รับจ้างอีก หลังจากนั้นจำเลยได้ลดจำนวนเงินที่เรียกเก็บจากผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยที่เกิดเหตุเหลือเพียงวันละ 15 บาท ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม 2546 ผู้เสียหายทั้งสามไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าจำเลยขู่เข็ญบังคับให้ผู้เสียหายทั้งสามจ่ายค่าจอดรถในวินรถดังกล่าวให้แก่จำเลย แต่ผู้เสียหายทั้งสามไม่ยอมจ่ายให้

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะประกาศนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลและไม่ให้มีการเก็บเงินค่าวินรถจักรยานยนต์ ผู้เสียหายทั้งสามจะเคยจ่ายเงินค่าวินขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยที่เกิดเหตุก็ตาม แต่หลังจากมีประกาศของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิเรียกรับเงินใดๆ จากผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยเกิดเหตุได้อีก แต่จำเลยรับว่ายังเก็บเงินโดยอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับน้ำดื่มใส่น้ำแข็งที่จัดให้แก่ผู้ขับรถจักรยานยนต์ในซอยเกิดเหตุอีก และผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เบิกความยืนยันว่าในวันเกิดเหตุจำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่วินรถจักรยานยนต์ได้พูดว่าหากใครไม่จ่ายไม่ให้จอดระวังจะจำเบอร์ไม่ได้ จำซอยไม่ได้ ขับเงียบ ๆ ใกล้จะหมดเวลาของพวกมึงแล้ว ซึ่งมีลักษณะเป็นการข่มขู่ผู้เสียหายทั้งสามว่าอาจถูกทำร้าย ทั้งไม่อนุญาตให้จอดรถจักรยานยนต์ในซอยเกิดเหตุอันเป็นการจำกัดเสรีภาพในการดำรงชีพตามปกติของผู้เสียหายทั้งสาม ทั้งหลังจากสำนักงานเขตพระโขนงได้ขึ้นทะเบียนผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยเกิดเหตุไว้ 61 คน โดยให้หมายเลข 1 ถึง 61 แล้ว จำเลยจัดให้มีผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยเกิดเหตุเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากที่ได้มีการขึ้นทะเบียนไว้ถึง 10 คน บางคนก็มีหมายเลขซ้ำกับผู้ที่ขึ้นทะเบียนไว้ บางคนก็ได้หมายเลขใหม่ตั้งแต่หมายเลข 62 ถึง 65 โดยมีผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างหมายเลข 62 ซึ่งเป็นลูกน้องของจำเลยมาเก็บเงินแทนจำเลยในบางครั้งด้วย พฤติการณ์ของจำเลยจึงเป็นการกระทำเยี่ยงผู้มีอิทธิพลไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายย่อมทำให้ผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยที่เกิดเหตุรวมทั้งผู้เสียหายทั้งสามเกิดความกลัวเกรงว่าอาจถูกทำร้ายหรือห้ามขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยเกิดเหตุได้ ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้ว แต่ไม่มีการควบคุมตัวจำเลย ในระหว่างดำเนินคดีผู้เสียหายทั้งสามเกรงจะได้รับอันตรายและถูกห้ามขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยเกิดเหตุจึงต้องจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ตามที่จำเลยเรียกร้องต่อมาอีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 แล้ว แต่ข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายทั้งสามจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ภายหลังจากมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วนั้น ปรากฏแต่ในทางพิจารณาโดยโจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในฟ้อง ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ จึงต้องห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยโดยอาศัยข้อเท็จจริงนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยได้แต่ในความผิดฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 80 เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และเมื่อโจทก์มิได้ฎีกาให้กำหนดโทษจำคุกจำเลยให้หนักขึ้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขโทษจำคุกให้หนักกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ได้

พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.3969/2551

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย - นายสมพงษ์ มั่นคง

ชื่อองค์คณะ ชัยวุฒิ โลหชิตรานนท์ เกษม เกษมปัญญา จินดา ปัณฑะโชติ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญากรุงเทพใต้ - นางปราณี เชาวลิต ศาลอุทธรณ์ - นายประเสริฐ เจริญถาวรโภคา

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th