สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2567

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2567

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 681/1

แม้หนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำไว้แก่โจทก์หลังจาก ป.พ.พ. มาตรา 681/1 ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับจะมีข้อความในวรรคสุดท้ายของข้อ 1 ระบุว่า กรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคล ผู้ค้ำประกันตกลงผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ในการชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้นก็เป็นเพียงข้อตกลงที่ใช้ในกรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคล แต่การทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเรื่องบุคคลธรรมดาทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ มิใช่นิติบุคคลทำสัญญาค้ำประกันตามวรรคสุดท้ายของข้อ 1 ทั้งตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวก็ไม่มีข้อความที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกลงยอมรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นแต่อย่างใด ดังนั้นการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวจึงหาตกเป็นโมฆะ โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดต่อโจทก์หากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินตามสัญญาขายตั๋วสัญญาใช้เงิน 10,478,407.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 8,431,966.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยทั้งสี่ให้การในทำนองเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 8,431,966.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท

จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 10,114,562.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี ของต้นเงิน 8,431,966.50 บาท นับตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ในชั้นอุทธรณ์ กับค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 จำเลยที่ 1 ออกและขายตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 237,600 ดอลลาร์สหรัฐ แก่โจทก์ เพื่อการนำเข้าและจำเลยที่ 1 ได้รับเงินครบถ้วนแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์แปลงสกุลเงินของหนี้เป็นเงินบาทได้จำนวน 8,431,966.50 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันในจำนวนเงิน 182,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจำนองเครื่องจักรแก่โจทก์ เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดชำระ จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ต่อมาจำเลยทั้งสี่ทำหนังสือสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อรับสภาพหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสี่ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์จำนวน 10,114,562.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี ของต้นเงิน 8,431,966.50 บาท นับตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า แม้หนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำไว้แก่โจทก์หลังจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1 ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับจะมีข้อความในวรรคสุดท้ายของข้อ 1 ระบุว่า กรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคล ผู้ค้ำประกันตกลงผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ในการชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้นก็เป็นเพียงข้อตกลงที่ใช้ในกรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคล แต่การทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเรื่องบุคคลธรรมดาทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ มิใช่นิติบุคคลทำสัญญาค้ำประกันตามวรรคสุดท้ายของข้อ 1 ทั้งตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวก็ไม่มีข้อความที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกลงยอมรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นแต่อย่างใด ดังนั้นการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวจึงหาตกเป็นโมฆะเพราะแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย อันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 151 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดต่อโจทก์หากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชำระแทน หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.6/2567

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - ธนาคาร ก. จำเลย - บริษัท ซ. กับพวก

ชื่อองค์คณะ วิชัย ตัญศิริ พงษ์ธร จันทร์อุดม วิทยา พรหมประสิทธิ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่งพระโขนง - นายวรวรรณ อัครวิทย์ ศาลอุทธรณ์ - นายนิรันด์ อนรรฆมณีกุล

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th