คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22788/2555
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/10, 193/24, 1748 วรรคหนึ่ง, 1754 วรรคท้าย
เมื่อโจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกันระหว่างทายาท จึงมิใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 ที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้พ้นกำหนดอายุความมรดก การที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ย่อมต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย และสิทธิในทรัพย์มรดกย่อมตกแก่จำเลยผู้สืบสิทธิ น. ซึ่งเป็นทายาทของ จ. เจ้ามรดกโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 แล้วไม่ และแม้จำเลยจะเบิกความรับว่าเหตุที่โอนทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยเพื่อความสะดวกในการแบ่งมรดกแก่ทายาทของ จ. ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 โจทก์จึงไม่อาจยกเอาประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 และมาตรา 1748 มาอ้างเพื่อเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วได้ จำเลยย่อมมีสิทธิยกอายุความมรดกใช้ยันโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนแบ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 206 ตำบลดงแดง อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด เนื้อที่ 172 ตารางวา แก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ นายเต่ง นายชน นายโหล่ และนางน้อยเป็นบุตรของนายเจิดกับนางจันทร์ที่นายเจิดรับรองว่าเป็นบุตร จำเลยเป็นบุตรของนายเต่ง นายเจิดตายเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2522 นายเต่งตายเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2540 ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 206 ตำบลดงแดง อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 16 ตารางวา เป็นทรัพย์มรดกของนายเจิด จำเลยกับทายาทอื่นทำกินในทรัพย์มรดกก่อนนายเจิดเจ้ามรดกตาย เมื่อเจ้ามรดกตายก็ยังครอบครองทรัพย์มรดกนับแต่เจ้ามรดกตายเกิน 10 ปี แล้ว โดยโจทก์ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2549 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเจิด หลังจากนั้นจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยกับทายาทอื่นครอบครองที่ดินพิพาทไว้อันเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ถือว่าครอบครองแทนโจทก์ซึ่งเป็นทายาทด้วย เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยและทายาทอื่นเข้าครอบครองทำกินในทรัพย์มรดกก่อนนายเจิดเจ้ามรดกตาย และภายหลังจากเจ้ามรดกตายก็ยังครอบครองทรัพย์มรดกนับแต่เจ้ามรดกตายเกิน 10 ปี แล้ว โดยโจทก์ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก เช่นนี้ การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์โดยนำพยานหลักฐานมาสืบให้ได้ความแน่ชัดว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกซึ่งมีจำเลยกับทายาทอื่นครอบครองแทนโจทก์ แต่ตามทางนำสืบของโจทก์นอกจากไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนข้อกล่าวอ้างแล้ว โจทก์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่ามีบ้านปลูกอยู่บนที่ดินพิพาท 3 หลัง เป็นของจำเลย นายชน และบุตรของนายชน คนละ 1 หลัง อันเป็นการเจือสมกับข้อต่อสู้ของจำเลย พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกับทายาทอื่นครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเจิดซึ่งละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 และการที่จำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก กับเบิกความรับว่าโอนทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทเท่ากับเป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกันระหว่างทายาท จึงมิใช่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1747 ที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้พ้นกำหนดอายุความมรดก สิทธิเรียกร้องของโจทก์ให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกซึ่งเป็นคดีมรดกเช่นนี้จึงอยู่ในบังคับอายุความมรดกตามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 การที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ย่อมต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคท้าย และสิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยผู้สืบสิทธินายเต่ง ซึ่งเป็นทายาทของนายเจิดเจ้ามรดกโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อจะดำเนินการให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แล้วไม่ และแม้จำเลยเบิกความรับว่าเหตุที่โอนทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยเพื่อความสะดวกในการแบ่งมรดกแก่ทายาทของนายเจิดก็ตาม กรณีก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสละประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 โจทก์จึงไม่อาจยกเอาประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 และมาตรา 1747 มาอ้างเพื่อเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วได้ จำเลยย่อมมีสิทธิยกอายุความมรดกใช้ยันโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/10 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.743/2554
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางเชิด มะรังษี จำเลย - นางเกษร สมเพ็ชร
ชื่อองค์คณะ เกษม วีรวงศ์ วิรุฬห์ แสงเทียน ปดารณี ลัดพลี
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด - นายเพิ่มศักดิ์ สุริยวนากุล ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นายไชยผล สุรวงษ์สิน